สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติจับมือ 15 หน่วยงานลงนามฯ NQI ยกระดับอุตสาหกรรมทางการแพทย์สู่มาตรฐานสากล

0
372
image_pdfimage_printPrint

ผู้บริหารสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) นำโดยนางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับ 15 หน่วยงาน จาก 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้หัวข้อ“ เครือข่ายพันธมิตรยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI) ด้านนวัตกรรมทางการแพทย์” โดยมีนายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นสักขีพยานบันทึกลงนามความเข้าใจ
การลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมาย เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางการปฏิบัติในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ภายในประเทศสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบาย Healthcare Reinvention ของ อว.ที่ส่งเสริมให้มีการนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมทางการแพทย์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนายาและวัคซีน เครื่องมือแพทย์ การให้บริการทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น ทั้งนี้การผลักดันอุตสาหกรรมทางการแพทย์สู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ได้นั้นต้องอาศัยความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพของประเทศเป็นกลไกสำคัญ เพื่อยกระดับและสร้างความมั่นใจในเรื่องมาตรฐานให้แก่ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค
นอกจากนี้ ผู้บริหารของมว. พร้อมด้วย ร.ท. อุทัย นรนิ่ม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ มว. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และนักมาตรวิทยา มว. ยังได้เข้าร่วมงานสัมมนา เรื่อง “ถอดรหัส Healthcare ไทยก้าวไกลสู่มาตรฐานสากล” จัดโดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
การสัมมนาในช่วงเช้า ได้มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “Healthcare Reinvention” โดยศาตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของ สคบ. การเสวนาถอดบทเรียนการพัฒนาชุด PPE ภายในประเทศเพื่อรองรับสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนในช่วงบ่ายแบ่งการสัมมนาเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มมาตรฐานผลิตชุด PPE ในประเทศไทย กลุ่มมาตรฐานและการทดสอบหน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัยแบบผ้า และกลุ่มการพัฒนาหมวกอัดอากาศความดันบวกหรือ PAPR และ Specification