สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เปิดเวทีสัมมนาหัวข้อ “Stakeholder Engagement กับการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ”เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมเปิดมุมมอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างองค์ความรู้ ในการจัดทำมาตรฐานอาชีพ ปี 2563 ชี้คุณวุฒิวิชาชีพตอบโจทย์การพัฒนาคน ถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยยกระดับความก้าวหน้าและอัตราผลผลิตของกำลังคนในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพแรงงานของประเทศ
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เปิดเผยว่า จากนโยบายการพัฒนากำลังคน 4.0 ของรัฐบาล ได้ให้ความสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคน ทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) วางแผนในการจัดทำมาตรฐานอาชีพในปีงบประมาณ 2563 และรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้เป็นเจ้าของอาชีพ การจัดทำมาตรฐานอาชีพถือเป็นภารกิจสำคัญ และเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์การจัดตั้งสถาบันฯ การกำหนดสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการนำมาตรฐานอาชีพไปใช้ สำหรับการฝึกอบรมและการประเมินสมรรถนะในวงกว้างเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการพัฒนากำลังคนในสาขาที่จำเป็น และสาขาที่ขาดแคลน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาตามนโยบายรัฐบาลและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับบทบาทใหม่ที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ตาม พ.ร.ฎ. จัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 พ.ค.62 คือ การจัดการฝึกอบรมตามมาตรฐานอาชีพ ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานที่เกิดความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ในการฝึกอบรมพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ สถาบันฯ จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนและจัดลำดับความสำคัญในการจัดทำมาตรฐานอาชีพ โดยขอรับความคิดเห็นในการจัดกลุ่มสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องจัดทำ รวมถึงสาขาอาชีพเดิมที่ได้มีการทบทวนและต่อยอดต่อไป
ด้าน ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) กล่าวว่า ในฐานะนักบริหารงานบุคคล มองว่า ผู้ประกอบการควรเข้ามามีส่วนสำคัญในการร่วมผลักดันระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เนื่องจากความท้าทายขององค์กร คือ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อค่าแรงเพิ่มแต่ราคาสินค้าไม่สามารถเพิ่มตามได้ องค์กรจะอยู่ได้อย่างไร อีกทั้งคนในองค์กรมีความสามารถอยู่ในระดับสูงกว่าหรือต่ำกว่าที่องค์กรคาดหวังมีจำนวนเท่าไร หากนึกถึงการบริหารจัดการงานบุคคลแล้ว ทุกองค์กรจำเป็นต้องมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่กระบวนการจ้างงาน จนถึงการบริหารผลงานของพนักงาน เพื่อเป็นโอกาสในการพัฒนาคนในทุกสาขาอาชีพ ที่ผ่านมาประเทศไทยหยุดอยู่กับที่ เนื่องจากระบบการศึกษายังไม่ตอบโจทย์ความต้องการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ในฐานะสมาคมบริหารงานบุคคลแห่งประเทศไทย มองว่าการนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เข้ามาวัดระดับจะทำให้ทราบว่าคนในองค์กรมีความรู้ความสามารถอยู่ระดับใด แต่ละระดับมีจำนวนเท่าไร ทั้งนี้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพถือเป็นกระบวนการรับรองทักษะความสามารถที่สอดคล้องกับสมรรถนะประสบการณ์และความรู้ ที่มีความเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือ ตอบโจทย์การจ้างงานขององค์กรเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันองค์กรสามารถใช้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพในการพัฒนาความก้าวหน้าคนในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
นางวัลลภา สถิรชวาล ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพมาใช้ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของคนอย่างแท้จริง ผู้สอบจะทราบว่าความรู้ความสามารถในการทำงานของตัวเองอยู่ในระดับใด ถือเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนาบุคลากรภายในองค์กร เนื่องจากการผลักดันให้มี Training Center ในการจัดการสอบประเมิน พร้อมทั้งนำผลการสอบแจ้งกลับมายังสถานประกอบการนั้นๆ เพื่อให้องค์กรนำข้อมูลปรับปรุงบุคลากรสู่กระบวนการมาตรฐานวิชาชีพโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ส่วน ดร. สมศักดิ์ ชลาชล ประธานกรรมการ บริษัท ชลาชล จำกัด กล่าวว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้สนับสนุนและให้ความสำคัญกับการประเมินมาตรฐานอาชีพช่างเสริมสวยอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมามีช่างทำผมได้เข้ารับการประเมินคุณวุฒิวิชาชีพเป็นจำนวนมาก ซึ่งการมีคุณวุฒิวิชาชีพถือเป็นการบ่งบอกถึงทักษะ/ความสามารถของช่างทำผมว่าอยู่ในระดับใด ถือเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของร้านในการรับพนักงานให้ตรงกับความต้องการ และสามารถพัฒนาช่างทำผมได้ตรงสมรรถนะมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมช่างทำผมไทยสู่มาตรฐานระดับสากลต่อไป
+++++++++++++++++
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ส่วนงานประชาสัมพันธ์ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
โทร. 02 035 4900 ต่อ 7002