สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ จับมือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดเวทีสัมมนาถ่ายทอดโอกาสทางการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปในอนาคต หวังขีดเส้นทางนักลงทุนไทย โลดแล่นสู่ความสำเร็จทางการค้าในอียู

0
465
image_pdfimage_printPrint

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ จับมือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดเวทีสัมมนาถ่ายทอดโอกาสทางการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปในอนาคต หวังขีดเส้นทางนักลงทุนไทย โลดแล่นสู่ความสำเร็จทางการค้าในอียู

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดเวทีสัมมนา “โอกาสการค้าและการลงทุนระหว่างไทย สหภาพเศรษฐกิจเบเนลักซ์ และฝรั่งเศส ในการเตรียมการสำหรับเขตการค้าเสรีไทย – สหภาพยุโรปในอนาคต” รองรับการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป พร้อมเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับโอกาสการค้าและการลงทุนในหลากหลายหัวข้อ หวังเป็นจุดเริ่มต้นสร้างโอกาสนักลงทุนไทยโลดแล่นสู่ความสำเร็จทางการค้าในอียู ในวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอนันตราสยาม กรุงเทพฯ

ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ รองประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “เป็นที่รู้ดีว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงปีที่ผ่านมามีความผันผวนอย่างมาก และก่อให้เกิดภาวะการเงินของโลกที่ตึงตัวขึ้น อันเนื่องมาจากเหตุผลหลายปัจจัย ทั้งประเด็นสหรัฐฯ กับจีน, สถานการณ์ Brexit ที่ยังไม่มีความแน่นอน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในหลายภาคส่วน อีกทั้งปัจจัยภายในประเทศไทยเอง ก็มีส่วนให้เกิดการชะลอตัวด้านการลงทุนของภาคเอกชนอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจนี้ ก็ยังมีข้อดีอยู่บ้าง เมื่อการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ที่หยุดชะงักไปเกือบ 6 ปี ได้กลับมามีความคืบหน้าอีกครั้ง ท่ามกลางปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อการรื้อฟื้นการเจรจาอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากการเจรจาความตกลง FTA ฉบับนี้เกิดขึ้น ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับสินค้าไทยในตลาดอียู และยังเป็นประเด็นที่ช่วยสร้างความมั่นใจของนักลงทุนและนักธุรกิจต่อประเทศไทยอีกครั้ง”

ดังนั้น เพื่อรองรับการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ จึงได้ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดเวทีสัมมนาในหัวข้อ “โอกาสการค้าและการลงทุนระหว่างไทย สหภาพเศรษฐกิจเบเนลักซ์ และฝรั่งเศส ในการเตรียมการสำหรับเขตการค้าเสรีไทย – สหภาพยุโรปในอนาคต” (Trade & Investment Opportunities between Thailand, Benelux Countries, and France in Preparation for the Future Thai-EU FTA)

เวทีสัมมนานี้ จะเป็นการร่วมพูดคุยถ่ายทอดความรู้ถึงโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่าง ไทย, สหภาพเศรษฐกิจเบเนลักซ์ (เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก) และฝรั่งเศส ในการเตรียมการสำหรับเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปในอนาคต โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับโอกาสการค้าและการลงทุน พร้อมพูดคุยในแง่มุมของนโยบายส่งเสริมการลงทุน โครงสร้างทางเศรษฐกิจ กฎหมาย สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและโดดเด่นของแต่ละประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโอกาสทางการค้า-การลงทุนที่จะเกิดขึ้นจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรี และความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปในอนาคตอันใกล้ ต่อยอดเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้า พร้อมเป็นตัวจุดประกายให้ธุรกิจไทยตื่นตัวรับรู้โอกาสและลู่ทางการค้าการลงทุนในอียูต่อไป

โดยภายในงานพบกับเวทีสัมมนาและการอภิปราย ถึงหัวข้อการค้าและการลงทุนที่น่าสนใจ โดยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย อาทิ การอภิปราย มุมมองของสหภาพยุโรป: โอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่าง ไทย สหภาพเศรษฐกิจเบเนลักซ์และฝรั่งเศส ในการเตรียมการสำหรับเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปในอนาคต, เสวนาเรื่อง ความท้าทายและเรื่องราวความสำเร็จของบริษัทในประเทศไทย, การอภิปรายโต๊ะกลม: อนาคตและความท้าทายในการทำธุรกิจในเบเนลักซ์และฝรั่งเศส

นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูตไทยประจำเบลเยียมและหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปฉบับนี้ หากเกิดขึ้นจริง ก็จะส่งผลแง่บวกต่อเศรษฐกิจไทยหลายข้อ อาทิ ช่วยลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของไทย และช่วยลดมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ ทั้งในกลุ่มอาหารแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ทำให้ไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในอียูได้ และยังมีประโยชน์ในแง่ของการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและ know-how ต่างๆ จากการเข้ามาลงทุนของบริษัทอียูในไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ ทำให้มีความเชี่ยวชาญในองค์ความรู้ และเพิ่มมูลค่าการเงินในบริษัทสาขา รวมทั้งจะเป็นแม่เหล็กที่ช่วยเหนี่ยวรั้งนักลงทุนรายเดิมที่เสี่ยงต่อการย้ายการลงทุนไปที่อื่น และดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนรายใหม่ให้หันมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออก เพื่อจับตลาดที่มีกำลังซื้อสูงอย่างอียูได้อีกด้วย”

ทั้งนี้ ปัจจุบันอียูเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับ 3 ของไทย โดยในปี 2561 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 4.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของการค้าไทยกับโลก ซึ่งในจำนวนนี้ ไทยส่งออกไปอียูเป็นจำนวน 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอียูเป็นจำนวน 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพิ่มขึ้น 5% และ 8% จากปี 2560 ตามลำดับ ด้านการลงทุน อียูเป็นนักลงทุนอันดับ 3 ของไทยรองจากญี่ปุ่นและอาเซียน โดยมีมูลค่าการลงทุนในไทย ณ สิ้นปี 2561 รวม 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์และธนาคารแห่งประเทศไทย)