เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถานีโทรทัศน์ CGTN ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับ “ครอบครัวพนักงานรถไฟ” ซึ่งเป็นเรื่องราวของคนสามรุ่นที่เลือกประกอบอาชีพเดียวกัน นั่นคือ พนักงานซ่อมบำรุงรถไฟ ผู้เป็นสักขีพยานการพัฒนาเทคโนโลยีทางรถไฟของจีน และบทความนี้บอกเล่าถึงความฝันของพวกเขาบนทางรถไฟสายชิงไห่-ทิเบต
อ่านบทความต้นฉบับได้ที่ https://news.cgtn.com/news/2020-10-05/Working-on-the-train-Family-inheritance-in-three-generations-UlhA4S7qQo/index.html
หลี่ ไห่เฟิง กล่าวว่า “ผมกำลังสานฝันของคุณพ่อและคุณปู่” ปัจจุบัน เขาทำงานเป็นนายตรวจรถไฟประจำสถานีรถไฟซีหนิง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทางรถไฟสายชิงไห่-ทิเบต
ชายหนุ่มวัย 31 ปีทำหน้าที่ตรวจสอบความเรียบร้อยและแก้ไขจุดบกพร่องของตู้โดยสารทุกตู้ เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยทุกครั้งที่รถไฟออกเดินทาง เขายึดอาชีพนี้มานาน 7 ปีแล้ว แต่นับว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับปู่และพ่อของเขา
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น
เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อปี 1958 หลี่ หวังฝู ปู่ของเขา ซึ่งเป็นชาวมณฑลชานตงทางภาคตะวันออกของจีน ได้ย้ายจากการรถไฟเมืองตานตงมาทำงานที่เมืองซีหนิง โดยเขาให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CGTN ว่า “ผมมาถึงที่นี่เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1958” เขายังจำวันที่ได้อย่างแม่นยำแม้ล่วงเข้าสู่วัย 80 แล้ว หลังจากนั่งรถไฟโคลงเคลงมาไกล เขาก็พบผืนดินแห้งแล้งที่ถูกแผดเผาด้วยแสงแดดร้อนแรง
ตอนที่สถานีรถไฟซีหนิงก่อสร้างขึ้นในเดือนตุลาคม 1959 หลี่ หวังฝู เป็นหนึ่งในนายตรวจรถไฟเพียงไม่กี่คนที่ทำงานในที่ราบสูงอันเวิ้งว้าง เขาไล่ล่าหาจุดบกพร่องและซ่อมแซมรถไฟด้วยเครื่องมือใหญ่เทอะทะในตอนกลางวัน ส่วนในตอนกลางคืนก็พักในหลุมใต้ดินที่เขาและเพื่อนร่วมงานช่วยกันขุดบริเวณเนินเขาที่ปกคลุมไปด้วยฝุ่น ถัดจากโรงจอดรถไฟไปทางทิศใต้
เขาเล่าว่า “สมัยนั้น เราไปทุกที่ที่ถูกสั่งให้ไป” เขาเลิกงานในสภาพที่เสื้อผ้าชุ่มโชกไปด้วยน้ำมันเครื่องสีดำทุกวัน แต่งานหนักก็ให้ผลตอบแทนในเวลาต่อมา เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้านายตรวจรถไฟคนแรก ๆ ของทางรถไฟสายชิงไห่-ทิเบต ในปี 1984 ซึ่งเป็นปีที่ทางรถไฟเชื่อมเมืองซีหนิง-โกลมุด เริ่มให้บริการ โดยทั้งสองเมืองเป็นเมืองใหญ่อันดับหนึ่งและสองของมณฑลชิงไห่ตามลำดับ
ดังคำกล่าวที่ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” หลี่ ซิ่วจิน ได้รับแรงบันดาลใจจาก หลี่ หวังฝู บิดาของเขา และมุมานะจนได้ทำงานซ่อมบำรุงรถไฟเช่นกัน โดยเขาเล่าว่า “ครั้งหนึ่งพ่อพาผมขึ้นรถไฟไปด้วย ผมรู้สึกว่างานนี้ยอดเยี่ยมมาก” ในปี 1983 เขาได้รับการบรรจุเข้าทำงานที่สถานีรถไฟโกลมุด “สมัยนั้นต้องใช้เวลาเดินทางสองวันจากซีหนิงไปโกลมุด กรวดทรายกระเด็นเต็มไปหมด”
หลี่ ซิ่วจิน และเพื่อนร่วมงานพักอยู่ในกระท่อมดินเหนียวหลังเล็กที่กันลมแทบไม่ได้ พวกเขาถือค้อนซ่อมรถไฟติดตัวไปทำงานทุกวัน ตลอด 37 ปีที่ผ่านมา เขาได้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยีทางรถไฟอย่างเฟื่องฟู ซึ่งช่วยให้การตรวจความเรียบร้อยของรถไฟสะดวกขึ้นมาก
ระบบทางรถไฟชิงไห่ได้นำเครื่องตรวจสอบอัตโนมัติมาใช้ในปี 2012 ท่ามกลางกระแสการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทั่วประเทศจีน หลี่ ซิ่วจิน ได้เรียนรู้เทคโนโลยีล้ำสมัยและได้รับตำแหน่งนักวิเคราะห์ส่วนกลางของ TFDS (Train of Freight Failures Detection System) “ทุกวันนี้ ผมสามารถตรวจเช็กสภาพรถไฟได้ 300 ขบวนต่อวันผ่านคอมพิวเตอร์”
หลี่ ไห่เฟิง ทายาทรุ่นที่สาม กล่าวว่า ในอดีต งานซ่อมแซมและบำรุงรักษาต้องอาศัยประสบการณ์มากกว่า แต่ในปัจจุบัน “ทักษะรอบด้าน” ที่มีพื้นฐานมาจากองค์ความรู้ทางเทคนิค ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน เพื่อรับประกันความปลอดภัยของผู้โดยสาร
วิวัฒนาการจากรถจักรไอน้ำสู่รถไฟฟ้า
ในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ซึ่งเป็นยุคของรถจักรไอน้ำ การเดินทางด้วยรถไฟต้องใช้เวลาเป็นวัน ๆ และโคลงเคลงตลอดเวลา อย่างไรก็ดี รถจักรไอน้ำช่วยขับเคลื่อนโลกไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่หนึ่ง และเปลี่ยนโฉมหน้าอารยธรรมของมนุษย์ในอีก 150 ปีต่อมา
ในประเทศจีนมีการผลิตและใช้งานรถจักรไอน้ำมาจนถึงช่วงปลายทศวรรษ 1980 แม้ว่ารถจักรไอน้ำส่วนใหญ่ได้หยุดใช้งานไปก่อนหน้านั้นนานแล้วก็ตาม ในทศวรรษที่ 1960 รถจักรไอน้ำได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเครือข่ายทางรถไฟของจีน ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม
หลี่ หวังฝู ผ่านช่วงเวลาที่เครื่องจักรโบราณค่อย ๆ เลิกใช้ไป เข้าสู่ช่วงที่นำรถไฟเครื่องยนต์สันดาปภายในมาใช้ จนมาถึงยุครถไฟฟ้า เขากล่าวว่า “ตอนนี้เราเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้ากันหมดแล้ว”
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีรถไฟของจีนค่อนข้างล้าสมัย ลูกชายและหลานชายของหลี่ หวังฝู ได้สัมผัสกับการพัฒนาที่ซับซ้อนกว่า โดยหลี่ ไห่เฟิง ผู้เป็นหลาน กล่าวว่า “สมัยก่อนรถไฟสายซีหนิง-โกลมุด แล่นด้วยความเร็วเพียง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ปัจจุบันทำความเร็วได้ถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง”
ปัจจุบัน ประเทศจีนมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังมีวิธีการตรวจสอบระบบทางรถไฟและอุปกรณ์บนรถไฟที่ทันสมัย
“เราเปลี่ยนจากการใช้แรงคนมาเป็นใช้ความคิดแทน ไม่ต่างจากหมอในโรงพยาบาล” หลี่ ซิ่วจิน กล่าว “เรานั่งอยู่ในห้อง ดูภาพที่ถ่ายด้วยกล้องความเร็วสูง แล้วรายงานปัญหาไปยังนายตรวจที่ประจำอยู่หน้างาน โดยมีนักวิเคราะห์ของ TFDS คอยช่วยเหลือ”
หลี่ ไห่เฟิง มองว่างานในปัจจุบันใช้แรงกายน้อยลง แต่ต้องอาศัยทักษะความเชี่ยวชาญมากขึ้น รถไฟที่เขาทำงานอยู่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทันสมัยมากมาย เช่น ฟิลเตอร์กรองรังสี UV เครื่องผลิตออกซิเจน และอุปกรณ์แปรสภาพสิ่งปฏิกูลโดยอัตโนมัติ ฯลฯ
หลี่ ไห่เฟิง กล่าวทิ้งท้ายว่า “งานรถไฟเป็นงานยาก เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคนอยู่เสมอ เหมือนกับหมอที่ต้องรู้จักทุกชิ้นส่วนของรถไฟ และจ่ายยาให้ตรงตามอาการ”
วิดีโอ – https://cdn5.prnasia.com/202010/CGTN/Video.mp4