1

สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ ประเดิมเปิดบ้าน ‘Excellent Model School’ ตัวแทนภาคกลาง ผลักดันอาชีวศึกษาไทย ก้าวไกลสร้างชาติ

คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (E2: Competitive Workforce) ประเดิมโรดโชว์เปิดบ้าน “สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ” หรือ “Excellent Model School” ตัวแทนภาคกลาง หวังสร้างประสบการณ์ให้นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจศึกษาต่อ ได้สัมผัสศักยภาพของสถานศึกษาและสถานประกอบการ ที่ได้ร่วมกันออกแบบหลักสูตรในสถาบันที่เข้มข้น ตรงความต้องการของภาคธุรกิจ เสริมความพร้อมของเครื่องมือการเรียนและครูผู้สอน ควบคู่กับการเปลี่ยนสถานประกอบการเป็นโรงเรียน ให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะและประสบการณ์ผ่านการปฏิบัติงานจริง เพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีความโดดเด่นและเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะทางอย่างมีคุณภาพ สร้างฝีมือชนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติต่อไป
นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานในงานเปิดบ้านสถานศึกษาโครงการ “สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ” หรือ “Excellent Model School” ตัวแทนภาคกลาง พร้อมด้วย นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ผู้บริหารจากองค์กรภาคเอกชนชั้นนำ พร้อมด้วยบริษัทในเครือรวม 8 แห่ง และผู้อำนวยการสถานศึกษาอาชีวศึกษา 5 แห่ง โดยมี นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ให้การต้อนรับ นอกจากนี้ ยังมีนักเรียน ผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษา เข้าร่วมชมงานอย่างคับคั่ง ณ วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี

สำหรับการโรดโชว์เปิดบ้านสถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ ตัวแทนภาคกลางในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสายวิชาชีพร่วมกันของภาครัฐและเอกชน ภายใต้การลงนามความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังกันของสถานศึกษาถึง 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี, วิทยาลัยการอาชีวศึกษาสระบุรี วิทยาลัยเทคนิคท่าหลวงซิเมนต์ไทยอนุสรณ์, วิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี และ วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ที่จับคู่กับองค์กรภาคเอกชนชั้นนำ พร้อมด้วยบริษัทในเครือรวม 8 แห่ง ได้แก่ บมจ.เอสซีจี โดย บจก.ปูนซิเมนต์ไทยแก่งคอย บจก.ปูนซิเมนต์ไทยท่าหลวง บจก.ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง หรือ ซีแพค และ บจก.สยามมอร์ตาร์, บมจ.ช.การช่าง พร้อมบริษัทในเครือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ, บจก.ฤทธา และ บมจ.เบทาโกร เพื่อนำเสนอ “สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ” หรือ “Excellent Model School” ซึ่งเป็นการพัฒนาสถานศึกษาด้านอาชีวศึกษา ให้มีความโดดเด่นและเชี่ยวชาญในสาขาเป็นเลิศเฉพาะทางอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน พร้อมสร้างประสบการณ์ให้นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจศึกษาต่อ ได้สัมผัสถึงศักยภาพของสถานศึกษาและสถานประกอบการ ที่ได้ร่วมกันออกแบบหลักสูตรพื้นฐานวิชาชีพในสถาบันให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน เน้นการเรียนรู้เทคโนโลยีในแต่ละสาขาอย่างเข้มข้น โดยมีเครื่องมือการเรียนการสอนที่ครบครัน ทันสมัย และครูผู้สอนที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ความสามารถ ควบคู่กับการเปลี่ยนสถานประกอบการหรือโรงงานให้เป็นโรงเรียน ให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะและประสบการณ์ผ่านการปฏิบัติงานจริง ได้เรียนรู้วิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมสำหรับการทำงานเมื่อเรียนจบได้ทันที สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศที่ต้องอาศัยกำลังคนอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเต็มเปี่ยม อันจะเป็นกำลังสำคัญที่นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ โครงการ “สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ” มีสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเข้าร่วมทั้งสิ้น 46 แห่งทั่วประเทศ โดยมี 28 สาขาวิชาที่เปิดสอน และมี 14 องค์กรเอกชนชั้นนำให้การสนับสนุน ได้แก่ บมจ.การบินกรุงเทพ, บมจ.ช.การช่าง, บจก.ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี, บมจ.ซีพี ออลล์, บจก.น้ำตาลมิตรผล, บมจ.เบทาโกร, เอสซีจี, บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, บจก.ฤทธา, บจก.สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น, บจก.สรรพสินค้าเซ็นทรัล, บมจ.ไออาร์พีซี, บมจ.ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล และ บจก.ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)

สำหรับคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ถือเป็นฟันเฟืองที่สอดประสาน บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคการผลิตผู้เรียนอาชีวศึกษากับทุกภาคส่วน ซึ่งมีกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคเอกชนจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ 16 บริษัท ร่วมเป็นคณะทำงาน โดยมีการทำงานแบบคู่ขนาน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.) การจัดเรียงความต้องการของภาคเอกชน 2.) การพัฒนาบุคลากรรองรับ 3.) การขับเคลื่อนระยะแรก ซึ่งประกอบไปด้วย 3 เรื่องเร่งด่วน คือ การปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษา โดยการดำเนินงานของ บจก.สรรพสินค้าเซ็นทรัล การพัฒนาข้อมูลกำลังคน โดยการดำเนินงานของ บมจ.ไออาร์พีซี และการสร้างความเป็นเลิศให้กับสถานศึกษาอาชีวศึกษาต้นแบบ โดยการดำเนินงานของ บจก.ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) 4.) แผนระยะกลางและระยะยาว ด้วยการสร้างมาตรฐานวิชาชีพ โดยการดำเนินงานของ บจก.น้ำตาลมิตรผล