สจล., มข.แถลงคืบหน้าโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา เปิดรับฟัง 8 ก.ค. 59

0
556
image_pdfimage_printPrint

IMG_0259-Medium

สจล., มข. ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา(Chao Phraya for All) แถลงความคืบหน้าของโครงการฯ และเปิด “ศูนย์ศึกษามรดกเจ้าพระยา” สร้างองค์ความรู้แม่น้ำกับประชาชน เตรียมเปิดเวทีสาธารณะ (ครั้งที่ 2) และชมผังแม่บทแนวคิด 57 กม. และ 14 กม.ในวันที่ 8 ก.ค. 59 (9.00 -12.30 น) ณ ศูนย์ศึกษามรดกเจ้าพระยา

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษาและสำรวจออกแบบโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) ซึ่งเป็นการฟื้นฟูแม่น้ำ พัฒนาพื้นที่ภูมิทัศน์และทางเดินเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ โดยกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครมีจุดมุ่งหมายเพื่อมอบพื้นที่สาธารณะให้กับประชาชนทุกคน ทุกระดับ ให้สามารถเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีดังเช่นในนานาประเทศ โดยมุ่งเน้นและขับเคลื่อนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและยั่งยืน ที่ปรึกษาแจงความคืบหน้าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ลงพื้นที่ 33 ชุมชน ร่วมออกแบบและพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา พร้อมเปิด ”ศูนย์ศึกษามรดกเจ้าพระยา” เชื่อมโยง 33 ชุมชน สร้างเสริมองค์ความรู้แม่น้ำกับประชาชน เผยแบบแนวคิดตามแผนแม่บท 57 กิโลเมตร จะเสร็จเดือนกรกฎาคม 2559 และแบบแนวคิดระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2559 พร้อมเตรียมเปิดเวทีสาธารณะ (ครั้งที่ 2) วันที่ 8 กรกฎาคม 2559

ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี (Asst.Prof.Dr.Antika Sawadsri) รองผู้จัดการและโฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ความคืบหน้าด้านการมีส่วนร่วมกับประชาชน โครงการฯได้ลงพื้นที่ 33 ชุมชน แห่งละ 2 รอบและกำลังจะเริ่มรอบที่ 3 ในการรับฟังความคิดเห็นและร่วมออกแบบพัฒนาภูมิทัศน์ทางเดินและชุมชนมาเพื่อให้การดำเนินงานโครงการเกิดขึ้นจากการร่วมคิด ร่วมออกแบบ ร่วมตัดสินใจ เพื่อให้ได้รูปแบบโครงการที่เป็นประโยชน์ และตรงต่อความต้องการของประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) เราพบว่าสองฝั่งแม่น้ำมีหลายพื้นที่และชุมชนเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดี เราจึงได้นำเอา “กระบวนการโบราณคดีชุมชน” (Public Archaeology) มาใช้โดยเปิดให้คนในชุมชนร่วมสืบค้นมรดกชุมชนหรืออัตลักษณ์ชุมชนร่วมกับนักวิชาการของโครงการแล้วนำมาพัฒนาชุมชนออกแบบโครงการ

ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้จัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมเป็นกระบวนการที่ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นกับการดำเนินงานโครงการ ซึ่งเป็นไปตามแผนประกอบด้วย 1.) การสัมภาษณ์เชิงลึก (Depth Interview) ที่ปรึกษาได้ไปทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับนักวิชาการ บุคคลสำคัญต่างๆ อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนโรงเรียน และพระสงฆ์ในพื้นที่โครงการฯ 2.) การประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 ที่ปรึกษาได้ทำการประชุมกลุ่มย่อยกับชุมชน เช่น ชุมชนท่าน้ำสามเสน (ชุมชนดาวข่าง) ชุมชนมิตตคาม 1 ชุมชนวัดเทวราช-กุญชร ชุมชนจรัญวิถี 74 ชุมชนริมคลองบางพลัด ชุมชนบ้านปูน ชุมชนจรัญ 72 ชุมชนสะพานยาว ชุมชนวัดเทพากร ชุมชนวัดเทพนารี ชุมชนวัดบวรมงคล ชุมชนท่าน้ำสามเสน ชุมชนบ้านปูน 3.) การเข้าพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ปรึกษาได้ทำการเข้าพบหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภากรุงเทพมหานคร ศิริราชพยาบาล โครงการฯพร้อมเตรียมเปิดเวทีสาธารณะ (ครั้งที่ 2) ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 เวลา 9.00 -12.30 น ณ ศูนย์ศึกษามรดกเจ้าพระยา ใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี และเปิดให้ชมผังแม่บทพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 57 กม.และระยะนำร่อง 14 กม.

ในส่วน “ศูนย์ศึกษามรดกเจ้าพระยา” ได้เปิดดำเนินการ เพื่อใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติการศึกษาวิจัย และทีมงานโบราณคดี เราได้จัดทำโมเดลแม่น้ำเจ้าพระยาขนาดความยาว 10 เมตร รวมทั้งติดตั้งบอร์ดแผนที่และภาพถ่ายเก่า-ใหม่ พร้อมทั้งจัดหาและจัดซื้ออุปกรณ์ จัดแสดงโบราณคดีชุมชน โต๊ะสำหรับทำโมเดลขยายในแต่ละชุมชน พร้อมทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ จอภาพและเครื่องฉาย เพื่อให้สาธารณชนและคนทั่วไปเข้ามาศึกษาหาความรู้ตั้งแต่วันจันทร์ –ศุกร์ และเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครรักษ์เจ้าพระยาในการปฏิบัติงานร่วมกับ สจล., มข. และ กทม. ภายในศูนย์ศึกษามรดกเจ้าพระยา มีการจัดแสดงต่างๆ เช่น 1.) จัดแสดงพิพิธภัณฑ์วัตถุโบราณคดีอันหลากหลาย ชาติพันธุ์ วิถีชีวิตและผลผลิตทางวัฒนธรรมจากชุมชนที่เราลงพื้นที่ทำกระบวนการโบราณคดีชุมชน 2.) เป็นแล็บปฏิบัติการร่วมกันระหว่างตัวแทนชุมชนกับคณะทำงานและอาสาสมัครรักษ์เจ้าพระยาในการจัดทำโมเดลแบบร่างเบื้องต้น ในการอนุรักษ์ และพัฒนาชุมชนมรดกเจ้าพระยา 3.) จัดแสดงแผนที่ บันทึกต่างๆ รูปถ่าย คลิปวีดีโอจากการลงพื้นที่ 4.) จัดมุมคลังความรู้ หนังสือ และสื่อที่หลากหลาย แผนในอนาคตของศูนย์ศึกษามรดกเจ้าพระยาจะเปิดพื้นที่เป็นมุมที่ผู้สนใจจะสามารถเข้าร่วมปฏิบัติการและลงมือทำได้ด้วยตนเอง เช่น ร่วมทำโมเดล ร่วมเขียนและลงสีผัง และรูปด้านอาคารในชุมชน พร้อมทั้งดำเนินการจัดทำบันทึกมรดกเจ้าพระยา (Chao Phraya Heritage Mapping) 14 กิโลเมตรในลักษณะแปลนและรูปด้าน ตลอดระยะทาง 14 กิโลเมตร รวมทั้งอาจจัดกิจกรรม เช่น สาธิตโบราณคดีใต้เจ้าพระยา โดยชุมชนมิตต-คาม 1, การสาธิตวิถีวัฒนธรรมชุมชน เช่น สอนทำขนมบัวลอยวันญวนสามเสน ทำหมากบ้านปูน เป็นต้น

ดร.กมล เกียรติเรืองกมลา (Dr.Kamol Keatruangkamala) รองผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ความคืบหน้าของงานสถาปัตยกรรม โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตามแผนแม่บทจากสะพานพระราม 7 ถึงบางกระเจ้า ระยะทาง 57 กิโลเมตร และ ระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า กิโลเมตร ผลการศึกษาในส่วนงานการศึกษาและออกแบบผังแม่บท งานสถาปัตยกรรม และงานภูมิสถาปัตยกรรม ที่แล้วเสร็จขณะนี้ คือ กรอบแนวความคิดในการพัฒนาพื้นที่ ในส่วนอื่นๆ ทางที่ปรึกษาสจล.และมข. ได้รวบรวมผลจากการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อนำมาออกแบบแนวคิดและแบบสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับข้อเสนอในแต่ละชุมชนต่อไป โดยมีงานที่กำลังดำเนินการอยู่ ดังนี้ 1.) งานจัดทำแผนแม่บทและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (ระยะทางประมาณ 57 กิโลเมตร) เก็บข้อมูล วิเคราะห์ ผังแนวความคิด 2.) งานออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด (ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร) เก็บข้อมูล วิเคราะห์ แนวความคิด แบบร่างขั้นต้น โดยสรุปแล้วแบบร่างงานสถาปัตยกรรมตามแผนแม่บท ระยะทาง 57 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงบางกระเจ้า จะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2559 และแนวคิดแบบระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า จะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2559

ผศ.กฤษณ์ เจ็ดวรรณะ (Asst.Prof.Krit Jedwanna) ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ในด้านความคืบหน้าของงานสำรวจ, ชลศาสตร์และวิศวกรรมนั้น ที่ปรึกษาโดย สจล และ มข.ได้ทำการรวบรวมข้อมูลระดับน้ำเพิ่มเติม โดยได้รวบรวมระดับน้ำที่ทำนายสูงสุด-ต่ำสุดในแต่ละเดือนจากกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึง พ.ศ. 2559 ที่สถานีกองบัญชาการกองทัพเรือ (กรุงเทพมหานคร) และสถานีท่าเรือกรุงเทพ (กรุงเทพมหานคร) ที่ปรึกษาได้วิเคราะห์ข้อมูลระดับน้ำสูงสุด-ต่ำสุดในแต่ละปีของสถานีวัดระดับน้ำทั้ง 2 สถานี ปรากฏว่าระดับน้ำมีความแตกต่างกัน ระหว่างระดับน้ำสูงสุด-ต่ำสุด มีค่าไม่เกิน 3 เมตร

การศึกษาด้านวิศวกรรมและระบบสาธารณูปโภค ที่ปรึกษาได้ปฏิบัติงานตามแผนงานในส่วนงานลงพื้นที่สำรวจสภาพทางกายภาพตามแนวเส้นทางโครงการฝั่งธนบุรี และฝั่งพระนครในส่วนที่เหลือ รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ของรูปแบบโครงสร้างต่างๆ ที่เหมาะสมกับรูปแบบทางสถาปัตยกรรม พร้อมทั้งเปรียบเทียบข้อดีข้อจำกัดในแต่ละรูปแบบของโครงสร้าง สำหรับงานระบบสาธารณูปโภค จากการสำรวจจุดที่มีน้ำท่วมขังด้านหลังเขื่อน และจุดที่ปล่อยน้ำทิ้งของแต่ละชุมชน ที่ปรึกษาทำการออกแบบแนวความคิดระบบรวบรวมระบายน้ำเสีย เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในหลายชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และคำนึงถึงการระบายน้ำในอนาคตที่มีโครงสร้างทางเดินจักรยานเลียบแม่น้ำร่วมมาด้วย

—————————————-