สคช. เดินหน้าโครงการ “สานฝัน ปั้นอาชีพ” ปั้นอาชีพชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรม
มุ่งสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนของชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ท้องถิ่น
นายพิสิฐ รังสฤษฏ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เปิดเผยว่า หลังจากที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง 17 ภาคีความร่วมมือหน่วยงานรัฐ สถาบันการเงิน ภาคประชาสังคมเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อบริการภาคอุตสาหกรรมผ่านโครงการ “สานฝัน ปั้นอาชีพ” เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สคช.ได้นำร่องสนับสนุนโครงการฯ ถือเป็นการสร้างโอกาสในอาชีพให้กับชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรม โดยอธิบายถึงการเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการประเมินสมรรถนะ รวมถึงสร้างการรับรู้ ความเข้าใจของประโยชน์และความสำคัญของมาตรฐานอาชีพ และคุณวุฒิวิชาชีพ นำร่องให้กับกลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัย กลุ่มพนักงานผู้ดูแลสวน ผู้พัฒนาและผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ชลบุรี โดยสถาบันฯจะออกใบรับรองมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อการันตีการประกอบวิชาชีพและป้อนกำลังคนให้กับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งบุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงงานอยู่แล้ว สามารถเข้ามารับการประเมินสมรรถนะกับสถาบันฯได้เช่นกัน
“อาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย ถือเป็นงานสำคัญที่ต้องมีความช่างสังเกต จัดทำรายงาน สามารถเผชิญเหตุด่วนเหตุร้ายได้อย่างมีทักษะ เช่น ใช้อุปกรณ์ดับเพลิง แก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความช่วยเหลือและให้บริการ ส่วนผู้ดูแลสวนจะต้องดูแลแนวปลูกต้นไม้ เพื่อสวนสวยงาม ไม่รกร้าง ไม่มีสัตว์ร้ายและสิ่งไม่พึงประสงค์ รวมถึงการดูแลต้นไม้ให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น การที่บุคลากรทั้ง 2 อาชีพ มีสมรรถนะในการทำงานที่ดี ก็จะเป็นการยกระดับการทำงานให้มีมาตรฐานเพิ่มขึ้น และการดำเนินงานนี้จะขยายผลไปยังนิคมฯ ที่เป็นเป้าหมาย” นายพิสิฐกล่าว
ด้านนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า เป้าหมายโครงการ “สานฝัน ปั้นอาชีพ” คือการสำรวจความต้องการในการฝึกอบรมทักษะอาชีพให้กับชุมชนรอบรอบนิคมอุตสาหกรรม พบว่าชุมชนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ชลบุรี มีกลุ่มวัยแรงงาน 60 % กลุ่มวัยแรงงานใกล้เกษียณ 40% และกลุ่มชุมชนผู้สูงอายุ 20% ซึ่งในอนาคตเป็นกลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราได้ความร่วมมือจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพในการนำมาตรฐานอาชีพจำนวน 10 อาชีพ มาช่วยยกระดับบุคลากร ได้แก่ กลุ่มธุรกิจไฟฟ้า กลุ่มน้ำประปา กลุ่มยานยนต์ กลุ่มสุขภาพกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์/อุปกรณ์มือถือ กลุ่มช่างซ่อมเรือ กลุ่มช่างซ่อมเครื่องยนต์ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัย และกลุ่มพนักงานขับรถ เป็นต้น โดยเริ่มนำร่องพัฒนากลุ่มอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย และกลุ่มพนักงานผู้ดูแลสวน เนื่องจากเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความต้องการของสถานผู้ประกอบการ อมตะซิตี้ ชลบุรี ซึ่ง กนอ.ได้ประสานหน่วยงานจัดฝึกอบรม เพื่อกำหนดหลักสูตรในการฝึกอบรมอาชีพของชุมชน พัฒนาชุมชนให้มีความรู้ มีศักยภาพ มีอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงประสานงานกับผู้ประกอบการในนิคมให้พิจารณาชุมชนที่ผ่านการฝึกทักษะอาชีพ ผ่านขั้นตอนการฝึกอบรมให้พิจารณาเข้าทำงานในสถานประกอบการเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย
นางสาวจริยา สุขะปาน ผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการ สำรวจความต้องการชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมพบว่าในแต่ละพื้นที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับธรรมชาติโดยรอบของชุมชน อาทิเช่น นิคมฯ จ.พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาครสนใจกลุ่มอาชีพอิสระ งานประดิษฐ์ งานฝีมือ ผ้ามัดย้อม และนิคมฯ บางชัน นิคมฯ ลาดกระบัง กรุงเทพฯ มีความต้องการพัฒนากลุ่มอาชีพอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนผลตอบรับจากผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนพื้นที่ในนิคมฯอมตะซิตี้ ชลบุรีให้ความสำคัญพัฒนากลุ่มอาชีพ รักษาความปลอดภัยและผู้ดูแลสวน ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาอาชีพให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่นิคมฯ เป้าหมายต่อไป”
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวได้สอดคล้องตามนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติในการยกระดับคุณภาพแรงงานทั้งภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รองรับเศรษฐกิจประเทศ และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมบุคลากรในธุรกิจบริการภาคอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมที่กำลังจะขาดแคลนแรงงาน จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชนรอบนิคมฯ และสร้างการมีส่วนร่วมแบบพึ่งพาอาศัยระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชนอย่างยั่งยืน
+++++++++++++++++
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ส่วนงานประชาสัมพันธ์ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
โทร. 02 035 4900 ต่อ 7002