สคช. สานพลัง สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สานฝัน ยกระดับผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี

0
611
image_pdfimage_printPrint

สคช. สานพลัง สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สานฝัน ยกระดับผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี นำร่องมอบใบประกาศฯให้ผู้ผ่านการประเมินฯ กว่าร้อยราย พร้อมเติมทุนจากออมสิน และ SME D Bank

สคช. ร่วมกับ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ยกระดับผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี ผ่านกิจกรรม การประเมินสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพ มอบใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพแก่ผู้ผ่านการประเมินฯ ต่อยอดสู่แหล่งทุน สนับสนุนการขอสินเชื่อโดย ออมสิน, SME D Bank สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า มีความมั่นคงในอาชีพ มีรายได้ยั่งยืน โดยมีการประเมินสมรรถนะมาตรฐานอาชีพ ผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี หรือ Street Food จำนวนมากกว่าร้อยราย เพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมเศรษฐกิจไทยมั่นคง สังคมดีมีคุณภาพ

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ร่วมกับ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ พีไอเอ็ม จัดพิธีมอบใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพการท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร สาขาการให้บริการอาหาร อาชีพผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี

นายพิสิฐ รังสฤษฏ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. กล่าวว่าอาชีพผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี (Street food) ถือเป็นอาชีพที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับผู้คนทั่วไปในการบริโภคอาหารเพราะเป็นเมนูที่หาทานได้ง่ายสะดวก รวดเร็ว และราคาประหยัดส่งผลให้ร้านอาหารริมบาทวิถีได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไป อีกทั้งประเทศไทยยังได้รับการยอมรับจากต่างชาติว่าเป็นประเทศที่มีอาหารริมบาทวิถีที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งในประเทศไทยร้านอาหารทุกแห่งต้องผ่านมาตรฐานบังคับตามกฎหมายระเบียบต่างๆ โดยต้องมีการตรวจใบอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย เช่น พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เป็นพระราชบัญญัติที่แสดงถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการสาธารณสุข พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เป็นพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการสุขาภิบาลอาหาร ดังนั้น เพื่อให้รูปแบบของอาหารริมบาทวิถีมีมาตรฐาน โดยอาชีพผู้ประกอบอาหาร ริมบาทวิถี ชั้น 1 จะต้องมีสมรรถนะ ได้แก่ ปฏิบัติงานปรุงอาหารได้อย่างปลอดภัย ปฏิบัติงานปรุงอาหารถูกสุขอนามัย ปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง จัดการของเสีย และทำความสะอาด อาชีพผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี ชั้น 2 จะต้องมีสมรรถนะ ได้แก่ บริหารจัดการและควบคุมการปฏิบัติงานปรุงอาหาร และบริหารจัดการงานบริการอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ เป็นการยกระดับอาหารริมบาทวิถีในประเทศไทยให้มีมาตรฐานและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคทั่วไป รวมถึงสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้กลับมาใช้บริการอีก อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและรายได้ของประเทศเพิ่มมากยิ่งขึ้น

นายพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) กล่าวว่า พีไอเอ็มเป็นมหาวิทยาลัยแห่งองค์กรธุรกิจ บทบาทที่สำคัญคือการให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพ มุ่งสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายทุกภาคส่วนไม่ว่าเป็นสถาบันการศึกษาของไทยและต่างประเทศ ภาครัฐ และภาคธุรกิจ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีคุณภาพตรงกับความต้องการในตลาดงานรวมไปถึงการขยายธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต การจัดพิธีมอบใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพฯ ในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ที่แสดงให้เห็นถึงการบูรณาการระหว่างภาควิชาการและวิชาชีพที่ทั้งสององค์กรมีเป้าประสงค์สอดคล้องกัน วัตถุประสงค์เพื่อเป็นเกียรติกับผู้ที่ผ่านการประเมินสมรรถนะอาชีพ และเป็นการแสดงให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการมีมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ ในทางเดียวกันทางคณะการจัดการธุรกิจอาหาร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดให้มีการเรียนการสอนที่เน้นเรื่องความปลอดภัยและความมีมาตรฐานด้านอาหาร ทั้งในการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีและหลักสูตรระยะสั้น พร้อมกับเป็นองค์กรรับรอง ที่มีหน้าที่รับรองฯ ในอาชีพผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี
พิธีการมอบใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพการท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหาร สาขาการให้บริการอาหาร อาชีพผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี คุณวุฒิชั้น 1 และ 2 ได้จัดขึ้น ณ ณ ห้อง Auditorium ชั้น 16 อาคาร CP All Academy สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถ.แจ้งวัฒนะ โดยได้รับเกียรติจาก นายพิสิฐ รังสฤษฏ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เป็นผู้มอบใบประกาศฯ พร้อมกล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้เข้ารับใบประกาศฯ
ภายในงานยังมีการเติมเต็มสาระอันเป็นประโยชน์ให้กับคนในกลุ่มอาชีพ อาทิ การบรรยายเกี่ยวกับความสำคัญของธุรกิจ Food Truck ในปัจจุบัน โดย นายชนินทร์ วัฒนพฤกษา ประธาน Food Truck Club Thailand การบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “บุกธุรกิจอาหารด้วยกิจการฟู้ดทรัค” เป็นต้น นอกจากผู้บริหารจาก สคช. และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้เดินเยี่ยมชมรถฟู้ดทรัค ซึ่งเป็นต้นแบบที่ผ่านการประเมินมาตรฐานอาชีพฯ อีกด้วย
การได้รับใบประกาศฯของกลุ่มผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถีครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ให้เป็น ที่ยอมรับ น่าเชื่อถือทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสามารถขอสินเชื่อทางสถาบันการเงินที่มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับทาง สคช. ทั้งทางธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D BANK) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถีทั้งหมดต่างพอใจที่ได้รับการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ เพราะช่วยการันตีคุณภาพเป็น “ร้านมืออาชีพ” สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค นำไปสู่การสร้างโอกาสดีๆ ในการประกอบอาชีพต่อไป

****************