1

สกายสแกนเนอร์เผยผลสำรวจพฤติกรรมของการท่องเที่ยวในเอเชีย พบว่านักท่องเที่ยวชาวไทยถึง 84% นิยมใช้โซเชียลมีเดียเพื่อค้นหาข้อมูลท่องเที่ยว

TH_Content_Consumption_Poll-infographic_TH-High-Res-1

กรุงเทพฯ (25 สิงหาคม 2559) – สกายสแกนเนอร์ (Skyscanner.co.th) ผู้นำด้านเสิร์ชเอ็นจิ้น หรือ บริการค้นหาตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พักและรถเช่าออนไลน์ เผยผลสำรวจข้อมูลเจาะลึกพฤติกรรมและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวกว่า 8,000 คน จาก 10 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ข้อมูลจากผลสำรวจพบว่า นักท่องเที่ยวชาวไทย (35.2%) นิวซีแลนด์ (50.4%) ฟิลิปปินส์ (50%) และ ออสเตรเลีย (41.85%) นิยมบริโภคข้อมูลการท่องเที่ยวก่อนนอน นอกจากนี้ การค้นหาทิปส์การท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยหลักในการค้นหาข้อมูลท่องเที่ยวของชาวไทย ในขณะที่ชาวมาเลเซีย (44%) เลือกค้นหาข้อมูลการท่องเที่ยวตามเพื่อน และชาวอินโดนีเซีย (45%) บริโภคข้อมูลเพื่อค้นหาตั๋วเครื่องบินและที่พักราคาถูก สำหรับกิจกรรมหลักๆที่นักท่องเที่ยวชาวไทยโปรดปรานมากที่สุดคือ การผจญภัยและท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ โดย 28% ของชาวไทยตอบรับว่าชื่นชอบการทำกิจกรรมบนภูเขา ในป่า บนฟ้า หรือทางน้ำ ในทางกลับกัน นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย (48%) และออสเตรเลีย (44%) เลือกทำกิจกรรมที่ได้เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบคนท้องถิ่น

สำหรับแหล่งการหาข้อมูลท่องเที่ยวที่ชาวไทยเชื่อถือมากที่สุด (29.6%) ก็คืองานอีเว้นท์ท่องเที่ยว เช่น งานไทยเที่ยวไทย ตามด้วยคำแนะนำจากครอบครัวและเพื่อน (24.1%) ทั้งนี้แพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้ง เฟสบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และสแน็บแช้ท ยังได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวไทยมากถึง 84.7% จากผลสำรวจในด้านแหล่งข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียมีผลต่อการบริโภคข้อมูลของนักท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิกอย่างมาก โดยเฉลี่ยแล้วผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 646 คนใช้โซเชียลมีเดียในการค้นหาข้อมูลท่องเที่ยว

นางสาวเกรซ ภพปภา อารีรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด สกายสแกนเนอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “การสำรวจข้อมูลเชิงลึกด้านพฤติกรรมและความพึงพอใจนี้ทำให้เราเข้าใจนักท่องเที่ยวยุคใหม่ในภูมิภาคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคข้อมูลจนกระทั่งถึงสิ่งที่ต้องทำเกี่ยวกับการท่องเที่ยว”

“ที่สกายสแกนเนอร์ เราให้ความสำคัญกับพฤติกรรมและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับผลสำรวจในแต่ละประเทศ และช่วยนักท่องเที่ยวในการวางแผนการท่องเที่ยวในอนาคต นอกจากนี้ ข่าวและข้อมูลท่องเที่ยว จากเว็บไซต์สกายสแกนเนอร์ยังสามารถช่วยนักท่องเที่ยวค้นหาสถานที่ๆน่าสนใจ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเดินทาง รวมถึงกิจกรรมที่น่าสนใจอีกด้วย”

นอกจากการให้บริการค้นหาตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พักและรถเช่าออนไลน์แล้ว สกายสแกนเนอร์ยังจัดทำข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและแรงบันดาลใจที่ช่วยในการตัดสินใจเดินทางไปท่องเที่ยวอีกด้วย โดยได้จัดทำบทความท่องเที่ยวทุกอาทิตย์ รวมทั้งเผยทิปส์และเทคนิคต่างๆใน ข่าวและข้อมูลท่องเที่ยว ซึ่งสกายสแกนเนอร์ได้ร่วมมือกับนักเขียนกว่า 90 คนทั่วโลกในการสร้างสรรค์บทความท่องเที่ยวและประยุกต์เนื้อหาให้เข้ากับความสนใจของผู้บริโภคข้อมูลในประเทศนั้นๆ
ประเด็นสำคัญจากผลสำรวจ:
รายละเอียดเพิ่มเติม
• แรงบันดาลในการท่องเที่ยว: โดยเฉลี่ย 39% ของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกบริโภคข้อมูลการท่องเที่ยวเพื่อค้นหาแรงบันดาลใจในด้านสถานที่ท่องเที่ยว ในขณะที่ 33% ของนักท่องเที่ยวบริโภคข้อมูลเพื่อค้นหาทิปส์ในการท่องเที่ยว
• กิจกรรมสุดโปรดของนักท่องเที่ยว: นักท่องเที่ยวชาติต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกมักชื่นชอบกิจกรรมที่ได้เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวเสมือนคนท้องถิ่น ดังนั้นบทความทั่วไปเกี่ยวกับสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องทำอาจไม่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ สำหรับนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยมักจะชอบอ่านบทความเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบผจญภัยและการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ
• รูปภาพสื่อความหมายมากกว่าคำพูด: ผู้ทำแบบสำรวจตอบว่ารูปภาพจากแกลลอรี่เป็นแรงบันดาลใจให้ออกเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุด (25%) เมื่อเทียบกับข้อมูลการท่องเที่ยวในรูปแบบอื่นๆ รองลงมาคือการจัดอันดับท็อปเท็นของสถานที่ท่องเที่ยว (21%) บทความท่องเที่ยว (19%) คู่มือท่องเที่ยว (18%) และรีวิวจากคนที่เคยไปเที่ยว (17%) ส่วนผลการสำรวจจากกลุ่มผู้บริโภคข้อมูลที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไปพบว่า พวกเขาได้รับแรงบันดาลใจในการท่องเที่ยวจากข้อมูลท่องเที่ยวและรีวิวจากคนที่เคยไปเที่ยวมากกว่ารูปภาพ ขณะที่ 26% ของชาวไทยมักหาแรงบันดาลใจในการท่องเที่ยวจากคู่มือการท่องเที่ยว
• ใช้บทความอย่างฉลาด ผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 11% ตอบว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเดินทาง และเพื่อนๆมักจะขอคำแนะนำในการท่องเที่ยวด้วยเป็นประจำ ในขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวน 21% กล่าวว่าตนเองเป็นนักวางแผนการท่องเที่ยว และ 22% เป็นนักล่าโปรโมชั่น

พฤติกรรมทางสังคม
• ผู้บริโภคข้อมูลถึง 84% ยอบรับว่า แพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ทวิตเตอร์ และสแน็บแช้ท เป็นสื่อที่ได้รับได้ความนิยมในการค้นหาข้อมูลท่องเที่ยวมากที่สุด รองลงมาคือบล็อก (7%) และเว็บไซต์แนวไลฟ์สไตล์ (3%) ทั้งนี้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซียที่ 91% ไทย 85% และสิงคโปร์ 89%
• ในขณะที่นักท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิกเลือกที่จะบริโภคข้อมูลท่องเที่ยวผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียเมื่อเทียบกับช่องทางอื่น โดยมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเพียง 15% เท่านั้นที่จะแชร์บทความหรือวีดีโอที่ชอบผ่านทางโซเชียลมีเดีย
• สำหรับการแชร์บทความหรือข้อมูลการท่องเที่ยวพบว่า ผู้ชายถึง 60% มักแชร์ข้อมูลการท่องเที่ยวที่ชอบ และผู้หญิงอยู่ที่ 40%

พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ
• นักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวน 51% มักค้นหาข้อมูลการท่องเที่ยวผ่านทางโทรศัพท์มือถือมากกว่าการใช้เดสก์ท็อป/แล็ปท็อป ซึ่งอยู่ที่ 42% ในขณะที่นักท่องเที่ยวเพียง 7% นิยมใช้แท็บเล็ตในการค้นหาข้อมูลท่องเที่ยวสำหรับวันหยุด
• การค้นหาข้อมูลท่องเที่ยวทางโทรศัพท์มือถือมักเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชาย (62%) อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงส่วนใหญ่นิยมใช้เดสก์ท็อป/แล็ปท็อปในการบริโภคข้อมูลท่องเที่ยว (46%)

การใช้เวลาในการบริโภคข้อมูลท่องเที่ยว
• 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิกมักบริโภคข้อมูลการท่องเที่ยวก่อนนอน
• ต่างจากนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์และอินเดีย โดยผู้ตอบแบบสำรวจชาวสิงคโปร์เกือบครึ่ง (49%) กล่าวว่าพวกเขามักบริโภคข้อมูลในขณะเดินทาง และชาวอินเดีย (37%) ตอบว่าพวกเขาจะค้นหาข้อมูลท่องเที่ยวในที่ทำงานหรือโรงเรียน

# # # # #

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแบบสำรวจการบริโภคข้อมูลท่องเที่ยวจากสกายสแกนเนอร์
สกายสแกนเนอร์ได้เปิดผลสำรวจข้อมูลเจาะลึกพฤติกรรมและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวกว่า 8,000 คนทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อค้นหาความต้องการของผู้บริโภค และแรงบันหาดาลใจที่มีผลต่อการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวได้เริ่มจัดทำตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเมษายน พ.ศ. 2559 ในประเทศออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย ฮ่องกง เกาหลี และไต้หวัน
ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวได้จัดทำในช่วงเวลาเดียวกับงาน APAC Content Hacker Gathering ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26-27กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 โดยภายในงานได้เชิญ 50 ผู้นำความคิดเห็นของสังคมในด้านการเดินทางท่องเที่ยวจากหลากหลายประเทศ เช่น เกาหลี อินเดีย ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฮ่องกง เวียดนาม และสิงคโปร์ มาร่วมแชร์ความรู้และประสบการณ์