สกอ.เดินหน้าครูคืนถิ่น-หวังสร้างเลือดใหม่ ยอมรับสเปคสูงแต่คุ้มค่า แม้รอเวลา 10 ปี

0
414
image_pdfimage_printPrint

ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีการศึกษา 2561 ว่า โครงการนี้อาจจะต้องใช้เวลาและความยากลำบาก ในการเลือกเฟ้นนักเรียนนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการจริง ๆ อย่างน้อยประมาณ 10 ปี แต่คุ้มค่ากับการรอคอย เพราะเมื่อถึงวันนั้นเมื่อข้าราชการครูเก่าที่เกษียณไป แต่เราจะได้ครูสายพันธุ์ใหม่ที่มีความพร้อม และเก่งเข้ามาแทนที่ ซึ่งมั่นใจว่าเมื่อวันนั้นมาถึงทุกอย่างจะเห็นเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ผลการสอบคัดเลือกปรากฏว่าปี 2561 สามารถคัดเลือกนิสิตนักศึกษาที่สอบผ่านเกณฑ์ได้ จำนวน 2,784 คน จากอัตราที่มีบรรจุ 4,156 คน ใน 35 สาขา ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่พอใจ

ดร.สุภัทร กล่าวว่า ผลจากตัวเลขดังกล่าวแม้จะคัดเลือกเด็กได้ไม่ตรงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องคงหลักเกณฑ์และคุณสมบัติผู้ที่จะตั้งใจเข้ามาอยู่ในสายวิชาชีพครู เพื่อเป็นครูที่มีคุณภาพ อย่างสมบูรณ์แบบ หรือครูสายพันธุ์ใหม่ในอนาคต การกำหนดเกณฑ์ผลการเรียนระหว่างที่เรียนแต่ละชั้นปีจึงสูงต้องมีผลการเรียน 3.0 ขึ้นไปแล้ว ยังต้องผ่านการสอบวัดผลด้านภาษาอังกฤษ TOFLE ระดับ 500 คะแนน อีกทั้งนิสิตนักศึกษาที่สอบร่วมโครงการยังจะต้องเรียนหนักอีก 5 ปี ใน 164 หลักสูตร จากสถาบันผลิตครู จำนวน 44 แห่ง เมื่อสำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์ที่กำหนด จะส่งชื่อให้หน่วยงานผู้ใช้บรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย จำนวน 4,195 คน

ดร.สุภัทร กล่าวต่อว่า สำหรับการคัดเลือกจะใช้ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา TCAS (ทีแคส) รอบที่ 2 การรับแบบโควตาที่มีการสอบข้อเขียนหรือข้อปฏิบัติ ใช้ผลจากการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (วีเน็ต) กรณีผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ผลการทดสอบความถนัดทั่วไป (แกต) และความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพวิชาการ (แพต) แต่ที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เปิดรับ เช่น แพต 5 วิชา ความถนัดทางวิชาชีพครู หรือแพต 2 ความถนัดทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น โดยแต่ละสาขาวิชาจะกำหนดค่าน้ำหนักผลการสอบไม่เท่ากัน

“โครงการนี้ เมื่อนิสิตนักศึกษาทั้ง 4,156 คน สำเร็จการศึกษารายชื่อจะถูกส่งให้หน่วยงานผู้ใช้บรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยแบ่งตามอัตราที่ใช้ในการบรรจุ ดังนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 3,935 คน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 161 คน กรุงเทพมหานคร 50 คน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย (กศน.) 10 คน แต่เมื่อยอดเปิดรับไม่ได้ตามเป้า ก็ต้องคืนอัตราที่เหลือกลับคืนต้นสังกัดต่อไป” เลขาธิการ สกอ.กล่าว