ศ.ศ.ป. จัดแสดงผลงาน “หัตถกรรมชั้น “ครู” ที่ใกล้สูญหาย” หวังให้มีการ รื้อฟื้น และสืบสาน ก่อนสูญหายไปจากแผ่นดิน

0
536
image_pdfimage_printPrint

ศ.ศ.ป. จัดแสดงผลงาน “หัตถกรรมชั้น “ครู” ที่ใกล้สูญหาย” หวังให้มีการ รื้อฟื้น และสืบสาน ก่อนสูญหายไปจากแผ่นดิน

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) เห็นคุณค่าต่องานศิลปหัตถกรรมหลายประเภทที่ใกล้สูญหาย เหลือช่างฝีมืออยู่น้อยราย หวั่นสูญหายไปตามกาลเวลา นำผลงานกว่า 300 ชิ้นที่ใกล้สูญหาย มาจัดแสดงร่วมกับผลงานที่มีอายุกว่า 200 ปี ในนิทรรศการ “หัตถกรรมชั้น “ครู” ที่ใกล้สูญหาย” ตลอด 1 เดือนเต็ม หวังให้เป็นพลังผลักดันและสร้างแรงบันดาลใจให้ช่างฝีมือรุ่นหลังร่วมรื้อฟื้น สืบสาน รักษาให้ดำรงคงอยู่ และพัฒนาปรับประยุกต์ ไปสู่ประโยชน์แห่งการใช้สอยในชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้สูญหายจากผืนแผ่นดินไทยไปตามกาลเวลา

นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า งานศิลปหัตถกรรมไทย คือผลงานที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในมรดกของชาติ ด้วยเอกลักษณ์ที่สามารถบอกเล่าถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญชิ้นงานเหล่านี้ ล้วนถูกสร้างด้วยทักษะ ความชำนาญของช่างฝีมือที่มีมาตั้งแต่รุ่นบรรพชน ที่ใช้ทั้งความรู้และภูมิปัญญาขั้นสูงในการสร้างสรรค์ งานศิลปหัตถกรรมหลากหลายแขนงจึงล้วนเป็นศิลปะชั้นสูง ทรงคุณค่า สะท้อนทั้งศาสตร์และศิลป์เชิงช่าง สืบต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อรักษาให้มรดกแห่งภูมิปัญญาคงไว้ในแผ่นดิน

“คุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมไทย เป็นงานในอาชีพช่างฝีมือที่มีการสืบทอดกันมานับแต่บรรพบุรุษ สืบสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น ถูกสะท้อนออกมาจากอาชีพช่างฝีมือ ที่มีการสืบทอดความรู้ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น แต่เมื่อเวลาผ่านไป งานศิลปหัตถกรรมบางแขนง กลับเริ่มมีการสร้างสรรค์น้อยลง ซึ่งก็อาจด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ขั้นตอนที่ยากและซับซ้อนเกินกว่าความอดทนของช่างรุ่นใหม่ๆ หรือผลงานบางประเภทถูกแทนที่ด้วยการผลิตแบบงานอุตสาหกรรม จึงทำให้ผลงานศิลปหัตถกรรมบางประเภท เริ่มใกล้ที่จะสูญหายไปตามกาลเวลา ที่ยังมีอยู่ก็นับวันที่บรรดาช่างฝีมือก็เริ่มแก่ชรา มีกำลังถดถอยกันมากขึ้น จนทำให้ผลงานเหล่านี้นับวันจะถูกสร้างน้อยลง และจะเลือนหายไปในที่สุด”

และด้วยแนวโน้มต่อการใกล้เลือนหายของงานศิลปหัตถกรรมไทยนี้เอง ศ.ศ.ป. จึงเกิดแนวคิดที่จะจัดแสดงผลงานศิลปหัตถกรรมที่ใกล้สูญหาย หรือเหลือผู้ทำน้อยราย มีแนวโน้มต่อการใกล้สูญหาย ภายใต้ชื่องานนิทรรศการ “หัตถกรรมชั้น “ครู” ที่ใกล้สูญหาย” โดยจะเป็นการนำเอาผลงานเก่าแก่ที่สะท้อนคุณค่าการใช้สอย ที่มีมาแต่โบราณ หรือมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา ถึง กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเครื่องใช้ของชนชั้นสูง ชั้นเจ้านาย กว่า 300 ชิ้น นำมาจัดแสดงเทียบเคียงกันกับผลงาน “ครู” ที่ใกล้สูญหาย

เป็นการสะท้อนให้เห็นถึง คุณค่าผลงานศิลปหัตถกรรมที่มีมาแต่ดั้งเดิม เดินทางผ่านกาลเวลามาถึงปัจจุบัน ผลงานหลายชิ้นมีอายุมากกว่า 250 ปี ที่ไม่สามารถหาชมได้อีกแล้ว อาทิ ตู้พระธรรมประดับกระจกเกรียบ สมบัติของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สมัยรัชกาลที่ 1 อายุราว 230 ปี ผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราช จากช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา อายุกว่า 300 ปี กระเบื้องสังคโลกตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย อายุกว่า 700 ปี กริชโบราณอายุกว่า 200 ปี เหล่านี้เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผลงานฝีมือ “ครู” ที่สืบทอดจากรุ่นบรรพบุรุษ รักษาไว้ถึงปัจจุบัน เช่น เครื่องคร่ำโบราณ ขันลงหิน บาตรโบราณ 8 ตะเข็บ อังกะลุง เป็นต้น

นิทรรศการ “หัตถกรรมชั้น “ครู” ที่ใกล้สูญหาย” จะจัดระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม ถึง 20 กันยายน 2563 ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจะมีพิธีเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการ ในวันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม 2563 โดยได้รับเกียรติเปิดงาน โดย ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ซึ่งในการเปิดนิทรรศการครั้งนี้ นอกเหนือจากผู้ที่เข้าร่วมงานจะได้ชมผลงานอันล้ำค่าที่นำมาจัดแสดงกว่า 300 ชิ้นเหล่านี้แล้ว ยังจะมีกิจกรรมการเสวนาในหัวข้อ “งานช่างไทยที่ใกล้สูญหาย … จะฟื้นฟู หรือรอสิ้นสูญ” ถ่ายทอดเรื่องราวคุณค่างานหัตถกรรมที่มีการสืบทอดจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น จากช่างฝีมือรุ่นครู ในประเภทงานช่างหนังใหญ่ งานอังกะลุง และงานหุ่นกระบอกไทย ร่วมพูดคุยถึงแนวโน้มที่จะสูญหายหากสิ้นคนทำในรุ่นปัจจุบัน ปัจจัยอุปสรรคเรื่องการสืบทอดของช่างรุ่นหลัง และแนวคิดการสืบสานให้ดำรงคงอยู่

นอกจากนี้จะมีการสาธิต และการแสดงงานที่คนรุ่นหลังแทบไม่รู้จักอย่าง การเชิดหนังใหญ่ การเชิดหุ่นกระบอก การเล่นอังกะลุง การตอกงานคร่ำ ให้ได้ชมด้วย

“นิทรรศการในครั้งนี้ ศ.ศ.ป. หวังที่จะเป็นสื่อกลางให้บุคคลที่มีทักษะเชิงช่าง ได้มีโอกาสที่ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน โดยการพบกันของช่างฝีมือต่างยุค ต่างสมัย จะเป็นแนวทางให้ เกิดเป็นพลังผลักดันและสร้างแรงบันดาลใจให้ช่างฝีมือรุ่นหลังๆ นำไปสู่การสืบสาน ฟื้นฟู และพัฒนาปรับประยุกต์ ไปสู่ประโยชน์การใช้สอยในชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา” นายพรพล กล่าวทิ้งท้าย

นิทรรศการ “หัตถกรรมชั้น “ครู” ที่ใกล้สูญหาย” จะเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม 2563 เวลา 8.00-12.00 น. ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมงาน สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 035-367-0547 -7 หรือสายด่วน 1289