ศิลปิน-แกนนำการเมืองต่างขั้วร่วมเวที อึด ฮึด ฟัง เพื่อถอดบทเรียน หวังสร้างปรองดอง ลดขัดแย้งภาคพลเมือง สร้างสรรค์สันติประชาธิปไตยไทย

0
287
image_pdfimage_printPrint

31 ตุลาคม 2555 – กรุงเทพฯ – สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการจัดเวทีสันติประชาธิปไตยระดับชาติครั้งที่ 2  (เวทีอึด ฮึด ฟัง) ณ โรงแรมสุโกศล ระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคม 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับผู้ที่เห็นต่าง และแบ่งปันถึงสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองในปัจจุบันในมิติต่างๆ  อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในสังคมการเมืองไทยและร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยใช้วิธีการสานเสวนาเพื่อแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งและสร้างความปรองดองในสังคมการเมืองไทย โดยการเปิดพื้นที่เพื่อพูดคุยระหว่างบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ เช่น องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ภาคประชาสังคม รวมถึงสื่อมวลชน ที่มีมุมมองแตกต่างกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง รวมไปถึงระบุปัญหาและแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมและเป็นไปได้จริง โดยในงานได้แถลงถึงความเป็นมาของโครงการฯ รายงานผลและวิพากษ์ถึงการจัดเวทีสันติประชาธิปไตยในระดับภูมิภาคจาก 7 จังหวัดหลัก คือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ พิษณุโลก  ขอนแก่น  อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช  และนราธิวาส   มีผู้นำทางสังคมประมาณ 24 เครือข่ายจังหวัดจากทั่วประเทศมาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วยเพื่อถอดบทเรียนและร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ต่อไปในอนาคตโดยจะเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะต่อไป

 

เวทีสันติฯ ได้เลือก 4 ประเด็นสำคัญที่จะนำไปขับเคลื่อนร่วมกันโดยใช้วิธีการสานเสวนา  คือ 1.รัฐธรรมนูญ  2.การกระจายอำนาจ 3.การศึกษาของพลเมือง 4.ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และประเด็นสำคัญอื่นๆ ในระดับภูมิภาค ซึ่งรวมทั้งการวิพากษ์ถึงกระบวนการอึด ฮึด ฟัง โดยมีข้อเสนอให้ปรับกลยุทธ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้นและเชื่อมโยงถึงพื้นที่ และเสนอแนะสู่หน่วยงานของรัฐอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมโครงการฯ คือ ให้สื่อเปิดพื้นที่สาธารณะให้มีกระบวนการเรียนรู้ และเพิ่มช่องทางเลือกให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม เช่น พัฒนาวิทยุชุมชน และสื่ออินเตอร์เน็ต โดยในงานมีการอภิปรายถึงแนวทางการปรองดองสู่สันติประชาธิปไตย จาก นายโคทม อารียา อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม

 

นายวุฒิสาร กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการสร้างสังคมสันติประชาธิปไตยที่อยู่กันอย่างเคารพกัน เพราะสังคมเสื้อสีและการแบ่งแยกที่เป็นอยู่นี้ไม่ใช่สภาวะที่ทุกคนอยากให้เป็น แต่เป็นสภาวะที่ถูกลากจูงเข้าไป ซึ่งเป็นความอ่อนด้อยในสังคมไทย โดยสังคมที่มีความเห็นขัดแย้งในประชาธิปไตยและแน่นแฟ้นในการเป็นปฏิปักษ์กับอีกฝั่งเช่นนี้ คนที่อยู่กลางๆ ควรออกมามีเสียงบ้าง โดยไม่ปล่อยให้สังคมเป็นของคนที่เสียงดัง และไม่ปล่อยให้คนกลุ่มใหญ่ของประเทศมีเสียงอยู่เพียงฝ่ายเดียวเพราะขณะนี้สังคมไทยต่างด่าทอกันไปโดยไม่รู้ข้อมูล ถือเป็นการใช้ความรู้น้อยกว่าความรู้สึก

 

จากบทเรียนจากต่างประเทศสามารถพาสังคมที่ขัดแย้งกลับมาสู่สันติได้ โดยกระบวนการสำคัญ คือ การสานเสวนา เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นร่วมกัน แต่ต้องมีการพูดคุยกันในระยะยาวจากเรื่องที่เห็นร่วมกันมากที่สุดก่อน ทั้งนี้ การค้นหาความจริงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ได้คำอธิบายอย่างเป็นกลาง การเยียวยาคนบางกลุ่ม การปฏิรูปโครงสร้างระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานของสังคม ส่วนที่สำคัญที่สุด คือเจตจำนงที่ชัดเจนของผู้นำการเมืองในการปรองดอง สังคมโดยรวมต้องยอมรับผิด ให้อภัย และพูดถึงอนาคตร่วมกัน ทั้งนี้ นายวุฒิสารได้กล่าวเสริมอีกว่า การพยายามสร้างบรรยากาศให้เกิดความปรองดองเป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องมีการพูดคุยกัน 3 ระดับ คือ 1.ผู้นำทางการเมือง ต้องยอมรับซึ่งกันและกัน หาข้อยุติในบางเรื่อง 2.สื่อ มีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่ดี และเร่งปฏิกิริยาความขัดแย้ง สื่อต้องไม่ตั้งขึ้นเพื่อใช้ความอ่อนด้อยของสังคมที่เชื่อโดยไม่ค้นหาความจริงมาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา อันจะทำให้สังคมแย่ไปกว่านี้ 3.ภาคประชาชน ควรเริ่มต้นพูดคุยกันที่เรื่องอนาคตของประเทศ มากกว่าเรื่องอดีตและความขัดแย้งที่เคยมีมา หรือพูดคุยเพื่อหาคนผิด ซึ่งจะยิ่งทำให้สังคมตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งต่อไป

 

ด้านนายกิตติพงษ์ กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันเกิดความไม่เชื่อถือศรัทธาจากผู้คนในสังคม เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องนำมาทบทวนด้วยความเป็นกลาง แล้วจะต้องสร้างกระบวนการยุติธรรมให้ดี การหาสาเหตุข้อเท็จจริง กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมจะนำไปสู่การหาทางออกที่เหมาะสมได้ โดยนายกิตติพงษ์ย้ำว่า ปัญหาของสังคมไทยอยู่ที่ความไม่เชื่อถือศรัทธาในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งเรื่องสื่อเลือกข้างและคนเลือกสื่อ คนที่ใช้ประโยชน์จากสื่อเป็นต้นเหตุของปัญหามากที่สุด ในยุคที่คนเลือกเสพสื่อได้ จะทำให้เกิดการแบ่งแยกขั้วอำนาจ ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่มากที่ต้องข้ามผ่านไปให้ได้

 

ภาพรวมของงานนี้ได้รับผลตอบรับดีเกินความคาดหวังจากการปรากฏตัวของแกนนำที่มีความเห็นที่แตกต่าง ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง และเสื้อหลากสี ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงจากหลากหลายสาขาอาชีพ อาทิ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ นายวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา นายแพทย์ ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ จากกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง สมณะจันทเสฏโฐ (ท่านจันทร์) แห่งสำนักสันติอโศก นายจอม เพชรประดับ นักข่าวและผู้ดำเนินรายการชื่อดัง นายประวิตร โรจนพฤกษ์ผู้สื่อข่าวอาวุโสของหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ฯลฯ รวมไปถึงนักวิชาการ นักการเมือง ภาคประชาสังคม องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรที่ทำงานด้านความปรองดอง องค์กรภาคประชาชน ศิลปิน เยาวชน และสื่อสารมวลชน  ต่างมีส่วนร่วมเข้าถกแถลง ร่วมกันวิเคราะห์ความขัดแย้ง และเสนอประเด็นที่จะขับเคลื่อน หรือปฏิรูปสังคมร่วมกันโดยใช้วิธีสานเสวนาตามจุดมุ่งหมายของโครงการเวทีอึด ฮึด ฟัง ที่ต้องการให้สังคมไทยเกิดการพูดอย่างมีสติ และฟังอย่างอดทน ถือเป็นแสงสว่างเล็กๆ ที่ถูกจุดขึ้นเพื่อนำพาไปสู่จุดหมายแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

 

อนึ่ง “โครงการเวทีสันติประชาธิปไตย” (อึด ฮึด ฟัง) นำโดย รศ.ดร.โคทม อารียา จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมงาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ผ่านโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย (SAPAN)

 

โครงการเวทีสันติประชาธิปไตย (ส.ปชต.) เป็นกิจกรรมต่อเนื่องระยะยาวตลอดปี ทั้งในกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช และนราธิวาส ซึ่งได้เชิญประชาชนในจังหวัดใกล้เคียงในแต่ละพื้นที่เข้าร่วมสานเสวนาในแต่ละเวทีเพื่อสานสัมพันธ์และหาทางออกร่วมกันอย่างเหมาะสมของแต่ละพื้นที่รวมไปถึงภาพรวมของประเทศด้วย

“เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนจุดยืน แต่ควรมีจุดเย็นเพิ่มเติม”….สมณะจันทเสฏโฐท่านจันทร์

 

“โครงการนี้เป็นการวางเมล็ดพันธุ์ในผืนดิน หวังว่ามันจะงอกงามต่อไป อยากเชิญชวนทุกคนให้ใช้สันติวิธีแก้ไขความขัดแย้ง” นายโคทม อารียา