ศิลปะเป็นภาษาสากลที่เชื่อมโยงคนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งน้องๆซึ่งแม้เป็นเด็กพิเศษก็สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้อย่างน่าทึ่ง “เด็กพิเศษ” หรือ “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ” หมายถึงเด็กกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล ช่วยเหลือเป็นพิเศษเพิ่มเติมจากปกติ ทั้งในด้านการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ และการเข้าสังคม
บริษัท นานมี จำกัด จึงได้ร่วมกับ โรงเรียนเปรมฤดีศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้น้องๆที่เป็นเด็กพิเศษเรียนร่วมชั้นเรียนกับเพื่อนๆซึ่งเป็นเด็กปกติ จัดกิจกรรม “ศิลปะช่วยน้อง” ซึ่งเป็นการนำเอาศิลปะมาช่วยเสริมสร้างพัฒนาการและจินตนาการให้กับน้องๆเด็กพิเศษ
บริษัท นานมี จำกัด ยังได้มอบภาพระบายสีจากเพื่อนๆเยาวชนในโครงการ “ฮอร์ส อะวอร์ด” ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งแต่ละปีจะมีภาพผลงานมากมายหลายพันชิ้น ทางบริษัทนานมีจึงอยากแบ่งปันความสุขส่งผ่านไปยังเพื่อนๆทั้งที่เป็นเด็กพิเศษและเด็กปกติได้ร่วมชื่นชมและเกิดความคิดสร้างสรรค์จินตนาการตามวัย
ปรีญาณี สุพุทธิพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมี จำกัด กล่าวว่า นานมีได้นำรูปภาพผลงานของเยาวชนไทยที่ส่งมาร่วมประกวดในโครงการ ฮอร์ส อะวอร์ด มาให้กับโรงเรียนเปรมฤดีศึกษาซึ่งเป็นโรงเรียนที่ใจดีมากเปิดโอกาสให้น้องๆที่เป็นเด็กพิเศษได้มีโอกาสเรียนร่วมชั้นเรียนกับเด็กปกติ กิจกรรม”ศิลปะช่วยน้อง” มีน้องๆทั้งที่เป็นเด็กพิเศษและเด็กปกติร่วมกิจกรรม ซึ่งถึงแม้จะมีความแตกต่าง แต่ก็ร่วมกันทำกิจกรรมด้วยกัน ช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกันได้อย่างน่าชื่นใจ นอกจากเด็กพิเศษจะได้รับประโยชน์แล้ว ยังเป็นการฝึกให้เด็กปกติได้เรียนรู้ที่จะมีน้ำใจ แบ่งปัน และยังถือเป็นการเพิ่มทักษะและความชำนาญจากการที่ได้สอนเพื่อนที่เป็นเด็กพิเศษ เหมือนได้ทบทวนได้อีกรอบหนึ่งด้วย
คุณครูปริยา สุตัณฑวิบูลย์ หรือคุณครูแคนดี้ เล่าว่า สังคมและครอบครัวต้องเข้าใจเด็กพิเศษ ว่าน้องๆเหล่านี้อาจแสดงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์หลายอย่างซึ่งเป็นเรื่องปกติด้วยสภาพของอาการเจ็บป่วย เช่น กรีดร้อง ก้าวร้าว หรือบางคนเงียบ นิ่งเฉย เก็บตัว ไม่กล้าแสดงออกเพราะคิดว่าตนเองไม่เหมือนคนอื่น พ่อแม่และครอบครัวจำเป็นต้องเข้าใจและช่วยปรับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้ด้วยศิลปะ ซึ่งเป็นกิจกรรมง่ายๆ แต่ช่วยเยียวยาและกระตุ้นน้องๆกลุ่มนี้ได้มาก ทำให้พวกเขาปลดปล่อยพลังในตนเองและความก้าวร้าวต่างๆออกมา รู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดที่สะสม และเปิดตัวคือรู้จักเข้าสังคม มีการพูดคุยกับเพื่อน คุณครู ครอบครัว และคนรอบข้าง
วิธีการง่ายๆในการสอนศิลปะให้กับเด็กพิเศษ คือ การสอนสิ่งรอบๆตัว พูดคุยถึงเครื่องมือเครื่องใช้และสิ่งของในชีวิตประจำวันโดยสร้างเป็นคำถามแบบปลายเปิด เพื่อให้เด็กมีการตอบสนอง เริ่มจากรูปทรงเรขาคณิตง่ายๆ และการลากเส้นต่างๆ เพื่อจะช่วยฝึกพัฒนาการเรื่องกล้ามเนื้อ บางรายใช้แรงกดของการลงน้ำหนักของสีในการระบาย เพราะมีความบกพร่องในการควบคุมกล้ามเนื้อมือ ชอบกดสีแรงๆ พยายามสอนเพื่อให้เกิดการปรับพฤติกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ด.ญ.นรมน ฉัตรวัฒนาสกุล หรือน้องเอี้ยนเอี้ยน อายุ 8 ขวบ พี่สาวซึ่งเป็นเด็กพิเศษ และ ด.ญ.ปารมี ฉัตรวัฒนาสกุล น้องหงส์ อายุ 6 ขวบ น้องสาวซึ่งเป็นเด็กปกติ ทั้งคู่อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งมาร่วมกิจกรรมวันนี้บอกว่า “สนุกมากค่ะ ชอบมากที่คุณครูและพี่ๆมาสอนวาดรูป คุณครูสอนให้ของรอบๆตัว วาดเป็นวงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ได้ระบายสีสวยๆให้เลือกหลายชนิด วันนี้คุยตลอดเลย วาดไปด้วยคุยไปด้วยสนุกมากค่ะ คุณครูจะคอยถามคอยบอก เทคนิคพิเศษคือคุณครูให้ระบายสีชอร์กแบบพัดลมเบอร์ 1 คือไม่ต้องกดแรง เพราะจะทำให้สีเลอะและกระดาษทะลุได้ ระบายเบาๆก็สวยแล้ว หนูภูมิใจมาก จะเอาผลงานกลับไปอวดคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน”
ด.ช.อนล หลักดี หรือน้องนล อายุ 7 ขวบ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 บอกว่า “วันนี้มีความสุขมาก ได้เจอคนเยอะแยะ ตอนแรกกลัวครับเพราะไม่รู้จักมาก่อน แต่พี่ๆใจดีมากคอยสอนและบอกว่าให้ผมทำยังไง ถึงผมจะวาดได้ไม่สวยเท่าเพื่อนคนอื่น แต่ก็ภูมิใจมาก ผมวาดสิ่งต่างๆรอบตัวที่ผมชอบ เช่น บ้านของผมผมอยากทาสีชมพูให้บ้านจะได้สวยๆ ต้นไม้ต้นใหญ่ๆ เก้าอี้ม้านั่งสีเขียวไว้นั่งชมวิว และขลุ่ยเอาไว้เป่าเวลาเหงา ผมรักทุกอย่างนี้เลยครับ”
ด.ช.ปรินทร์ ศรีสัมแก้ว หรือน้องปริ้น อายุ 14 ปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2เล่าว่า “ภาพของผมเป็นสนามหญ้าและท้องฟ้า เพราะผมชอบสนามหญ้ากว้างๆ สีเขียว เพื่อที่เราได้เตะบอลและออกกำลังกาย อยากให้มีที่โล่งๆ ปลูกต้นไม้ มีท้องฟ้าสีสวยๆ อากาศดีๆ เวลาไปไหนมาไหนจะได้รู้สึกสบายไม่อึดอัดครับ”
ศิลปะช่วยเชื่อมโยงระหว่างเด็กพิเศษกับสังคม ให้รู้จักฟัง รู้จักคิดตาม วางแผน ลงมือทำ และควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้นเพราะมีสมาธิที่จดจ่อ เรียนรู้เข้าสังคมมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น มองโลกและสังคมได้อย่างมีความสุขขึ้น ขณะที่สังคมเองก็อย่ามองข้ามและรังเกียจเด็กพิเศษ เพราะคุณค่าในตัวของเด็กพิเศษสามารถสะท้อนออกมาในรูปแบบงานศิลป์ เพื่อนๆเยาวชนเด็กปกติควรให้กำลังใจ ส่งเสริมและผลักดันให้เด็กพิเศษมีโอกาสที่จะสร้างสรรค์และแสดงพลังของตนเองออกมาตามความรู้สึกและจินตนาการ