ศธ.ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โชว์ตัวอย่างนวัตกรรม “เครื่องดักฝุ่น PM 2.5” ใช้งานได้จริง-มีประสิทธิภาพ

0
402
image_pdfimage_printPrint

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการการจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมนำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บูรณาการหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมสร้างนวัตกรรมเชิงพื้นที่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ล่าสุดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลาผลิต “เครื่องพ่นละอองน้ำดักจับฝุ่น PM 2.5”ส่งมอบพื้นที่กรุงเทพฯ-ลำปางใช้งานจริงอย่างมีประสิทธิภาพ

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการดำเนินการการจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรม มีเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของโครงการคือ เพื่อคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษา พร้อมทั้งนำนวัตกรรมไปใช้ในสถานศึกษาอื่นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เป็นการกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เป็นกลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันของทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่

ในส่วนของความก้าวหน้าในการดำเนินงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นายสันติ แสงระวี ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 (ยะลา) เปิดเผยว่า การดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี มีนวัตกรรมที่โดดเด่น อาทิ การคัดแยกขยะในสถานศึกษา, นวัตกรรมด้านการเกษตร ประมง การเลี้ยงสัตว์ ของวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี, สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมและชุมชนของวิทยาลัยเทคนิคปัตตานีและวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี เป็นต้น

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส มีนวัตกรรมที่โดดเด่น อาทิ ทฤษฎีการพัฒนาการรู้หนังสือ และความสามารถในการอ่านออกเขียนได้, ศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อเป็นแนวทางหลักนำมาปรับใช้กับการจัดการศึกษา, การพัฒนาบทเรียนร่วมกัน และวิธีแบบเปิดโดยใช้โจทย์สถานการณ์, การจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน, โครงงานคุณธรรม เป็นต้น

ส่วนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา มีนวัตกรรมที่โดดเด่น อาทิ สร้างศูนย์การเรียนรู้ในโรงเรียน 5 ด้าน (ด้านการท่องเที่ยว ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาชีพ คุณภาพ ภาษาและศิลปวัฒนธรรม), สร้างเครือข่ายนวัตกรรมทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน, รีสอร์ทการศึกษาพัฒนาแหล่งเรียนรู้, คู่มือออนไลน์ ทั้งการเรียนการสอน การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยว ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาชีพ ภาษาและศิลปวัฒนธรรม, การแปรรูปผักกูดแผ่นทอดกรอบ รวมทั้งนวัตกรรม “เครื่องพ่นละอองน้ำดักจับฝุ่น PM 2.5” ของสถาบันอาชีวศึกษาในจังหวัดยะลา

สำหรับเครื่องพ่นละอองน้ำดักจับฝุ่น PM 2.5 ดร.เจนวิทย์ บุญช่วย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคยะลา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็วๆ นี้ วิทยาลัยเทคนิคยะลา ได้ร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษาอื่นๆ ในจังหวัดยะลา ในนามอาชีวศึกษาจังหวัดยะลา ดำเนินโครงการพิเศษและการบริการชุมชน สร้างนวัตกรรม “เครื่องพ่นละอองน้ำดักจับฝุ่น PM 2.5” จำนวน 10 ชุด โดยได้มีการนำไปส่งมอบและติดตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 7 ชุด ส่วนอีก 3 ชุดมีการส่งไปติดตั้งที่จังหวัดลำปาง ซึ่งจากการติดตามผลการนำไปใช้งาน เครื่องดังกล่าวสามารถช่วยลดปริมาณฝุ่นและควันพิษในบริเวณที่มีการติดตั้งได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ

“การดำเนินงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากทุกจังหวัดสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การพัฒนาโรงเรียนมีความก้าวหน้า และจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ในที่สุด โดยสิ่งสำคัญของการทำงานในพื้นที่พหุวัฒนธรรมเช่นนี้ เรื่องของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนถือว่าต้องดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่องจึงจะช่วยให้งานประสบความสำเร็จได้ในที่สุด” นายสันติ แสงระวี กล่าวสรุป