การปรับตัวของภาคธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร และเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในระดับประเทศ องค์กรที่นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ และประสบความสำเร็จ จึงเป็นกรณีศึกษาที่ดี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ-อุตสาหกรรมประเภทไหนก็ตาม
เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมทั้งวัตถุดิบ แรงงาน และเทคโนโลยีแปรรูป ที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับอุตสาหกรรมเกษตรแบบดั้งเดิมได้ ดังนั้น เมื่อประเทศขับเคลื่อนผ่านยุค 3.0 และก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 อุตสาหกรรมอาหารจึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ภาครัฐสนับสนุนผลักดัน เพิ่มขีดความสามารถให้แข่งกับตลาดโลกได้
วรพงษ์ จีระประภาพงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายผลิต บริษัท วี แอนด์ พี เฟร็ช ฟูดส์ จำกัด ในเครือ บริษัท วีพีเอฟ กรุ๊ป 1973 ผู้จำหน่ายเนื้อสุกรตัดแต่ง แช่เย็น-แช่แข็ง ครบวงจรที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารและการส่งออก เปิดเผยถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยปรับใช้ในธุรกิจว่า “จุดเริ่มต้นของเครือ บริษัท วีพีเอฟ กรุ๊ป มาจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่มีพ่อพันธุ์ 1 ตัวแม่พันธุ์เพียง 4 ตัว ในปี พ.ศ. 2016 จนกระทั่งในปัจจุบัน เรามีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ถึง 12,000 ตัว ธุรกิจของเราเรียกได้ว่าเป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเนื้อสุกรตัดแต่งครบวงจร เรามีฟาร์มเพาะเลี้ยงสุกรบนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ มีโรงเชือดสุกรและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรแช่เย็น-แช่แข็ง และร้านค้าจำหน่ายเนื้อสุกรรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ 13 สาขาทั่วเชียงใหม่”
“จุดแข็งของเราคือเรื่องของ Food Safety ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก อาหารทุกจานที่มาจากเรา สามารถสืบต่อย้อนกลับไปได้ว่า มาจากฟาร์มสาขาไหน ผลิตเมื่อไหร่ นอกจากนี้ เรายัง มุ่งเน้นดำเนินธุรกิจที่ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมโดยผลักดันชุมชนที่อยู่ร่วมกับเราให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงคุณภาพในทุกกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้คุณค่าที่เหนือกว่ามาตรฐานและพร้อมส่งต่อให้กับผู้บริโภค“
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วีพีเอฟ กรุ๊ป ได้เรียนรู้ และมีการนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ๆ จากทั้งในและนอกประเทศ เพื่อพัฒนาธุรกิจอย่างไม่หยุดนิ่ง ถือเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบ Learning by Doing ที่องค์กรได้ปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันต่อเทคโนโลยีอยู่เสมอ
“เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเลี้ยงสุกรมานานพอสมควร เริ่มจากระบบในฟาร์ม โดยปรับรูปแบบจากการใช้แรงงานคนมาเป็น Automatic Feed Line คือระบบการจ่ายอาหารจากจุดเดียว ไปยังกว่า 20 โรงเรือน ซึ่งทำให้สามารถเลี้ยงสุกรได้ประมาณ 20,000 ตัว แบบอัตโนมัติ ซึ่งต่อมาได้นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการตั้งแต่ทรัพยากรบุคคล ไปจนถึงการใช้ทรัพยากรทั้งหมดภายในฟาร์ม อาทิ ระบบจัดการของเสียเช่น Biogas สร้างเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากแก๊สชีวภาพเพื่อใช้ในโรงเลี้ยงสุกร ระบบ Evaporative cooling pad เป็นระบบโรงเรือนที่ให้ความเย็นและการรักษาอุณหภูมิแก่สุกร เป็นต้น”
ระบบบริหารจัดการในเรื่องฟาร์มของวีพีเอฟ กรุ๊ป ทำให้สามารถลดต้นทุนในการผลิต และได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตจากทั้งในและต่างประเทศ
“การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ นอกจากการควบคุมมาตรฐานการผลิตได้แล้ว การเชื่อมโยงข้อมูลกับต่างประเทศก็สะดวกยิ่งขึ้น จากเดิมเวลาที่เคยมีปัญหาแล้วต่างประเทศต้องบินมาแก้ไข ปัจจุบันก็สามารถคอนโทรลได้ด้วยการรีโมทระยะไกลได้เป็นต้น นอกจากนี้ เรายังสามารถเก็บข้อมูล เก็บสถิติที่เกี่ยวข้องทุกอย่างไว้ และนำระบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น WMS การบริหารระบบคลังสินค้าทั่วไป ระบบ Back Office ระบบบัญชี ระบบการบริหารจัดการในส่วนต่างๆ เข้ามาเชื่อมโยงข้อมูลกัน เป็น Big Data เพื่อนำมาวิเคราะห์ตามกระบวนการ เป็น Big Data Analytics ภายหลัง”
“ระบบซัพพอร์ตการทำงานในแผนกต่างๆ ของ วีพีเอฟ กรุ๊ป เปรียบเสมือนอาคารแต่ละอาคารที่มีการทำงานที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่จะเชื่อมต่ออาคารเหล่านั้นได้คือถนน บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงจาก CAT ที่เราใช้บริการอยู่ เปรียบเสมือนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพสูง ทำให้การทรานเฟอร์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่และมีความเรียลไทม์สูงจึงเป็นข้อได้เปรียบทางธุรกิจของเรา ทำให้เราสามารถบริหารจัดการ รันระบบ รันโปรแกรมต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว”
“ปัจจุบันแม้เราเป็น Smart Farm ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เราจะไม่หยุดพัฒนาเพียงเท่านี้อย่างแน่นอน โดยเราได้พยายามผลักดันวีพีเอฟกรุ๊ป ให้เป็นธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตการเลี้ยงสุกรครบวงจรอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งในอนาคต เราจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามายกระดับอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุปกรณ์ IoT, Big Data , Business Intelligence โดยมุ่งหวังให้ผู้บริโภค ได้รับคุณค่าที่เหนือกว่ามาตรฐาน เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้บริโภคทั้งในประเทศและทั่วโลก อย่างยั่งยืน”