โลกหลังวิกฤติโควิด-19 ไม่เพียงเปลี่ยนวิถีชีวิตและสุขภาพคนทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงวิศวกรรมและเทคโนโลยีด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีแนวคิดเปิดหลักสูตรใหม่ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมสหวิทยาการ (Doctor of Philosophy Program in Interdisciplinary Engineering) บนแพลตฟอร์มออนไลน์ มุ่งสร้างวิศวกร-นวัตกร New Normal โดยผสานพลังองค์ความรู้วิศวกรรมศาสตร์ข้ามสาขา ข้ามคณะ และข้ามมหาวิทยาลัยในระดับสากล มาเป็นหลักสูตรนานาชาติ 3 ปึ รองรับการศึกษาและการทำวิจัยนวัตกรรมในระดับโลก ผลิตวิศวกร-นวัตกรแห่งอนาคตป้อนสู่องค์กรและตลาดแรงงานวิถีใหม่
วิศวกร-นวัตกรยุค New Normal
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลกระทบหลังโควิด-19 ได้พลิกผันภูมิทัศน์โลกในหลายมิติทั้งด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ ด้านธุรกิจ ด้านการท่องเที่ยว รวมไปถึงวิศวกรรมและเทคโนโลยี แนวโน้มของโลกในวิถีใหม่ต้องการ“วิศวกร-นวัตกร New Normal” ที่มีพลังสร้างสรรค์ ปรับตัวเร็ว การทำงานและการบริหารจัดการที่ต่างไปจากเดิม ผ่านแนวคิดวิเคราะห์ เครื่องมือและวิธีการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นหลัก มีวิสัยทัศน์ที่สามารถ “มองลึก” และ “มองกว้าง” ซึ่งช่วยให้การตัดสินใจที่ดีเยี่ยม สามารถผสานเทคโนโลยีและศาสตร์เชิงลึกให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ มาต่อยอดเป็นนวัตกรรม หลักสูตรใหม่ในชื่อ “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมสหวิทยาการ” นี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ผนึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น Aalto University, Liverpool John Moores University, The University of Strathclyde, Instituto Superior Técnico Lisboa เป็นต้น และภาควิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมชั้นนำ มุ่งเปิดโลกทัศน์และเติมเต็มทักษะความรู้วิทยาการขั้นสูงรอบด้านแก่ผู้จบปริญญาโทแล้วที่ต้องการพัฒนาศักยภาพตนเองสู่ New Normal Engineering เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีกว่า สร้างองค์กรที่ก้าวหน้าและโลกที่น่าอยู่ยิ่งกว่าเดิม
จุดเด่นของหลักสูตรวิศวกรรมสหวิทยาการ
ผศ.ดร.โษฑศ์รัตต ธรรมบุษดี ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมสหวิทยาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลักสูตรวิศวกรรมสหวิทยาการ เป็นหลักสูตร ป.เอก ระยะเวลาเรียน 3 ปี โดยมีจุดเด่น เป็นหลักสูตรนานาชาติที่รองรับการศึกษาและการทำวิจัยในระดับโลก บูรณาการองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์สาขาต่าง ๆ ในการเสริมสร้างงานวิจัยและงานวิจัยเชิงนวัตกรรมที่ไม่จำเพาะสำหรับสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่ง ส่งเสริมการเตรียมความพร้อมรองรับ Disruptive Innovation นักศึกษาภายในหลักสูตรมีโอกาสได้รับการเรียนการสอนจากอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในระดับโลกและโอกาสได้ร่วมทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ในหลักสูตรยังได้กำหนดให้นักศึกษาต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาหลักและอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมจากต่างสาขาวิชา เพื่อเป็นการส่งเสริมการทำงานวิจัยให้มีความหลากหลายในสาขาวิชาต่าง ๆ การเรียนจะผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัล (Digital Learning Platform) เป็นหลัก ซึ่งสะดวกต่อผู้เรียน ไม่ว่าผู้เรียนหรือผู้สอนจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทันที เรียนรู้การออกแบบและคิดเป็นระบบ (Design Thinking) การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในงาน Seminar ออนไลน์ และการให้คำปรึกษาด้านงานวิจัย รวมทั้งการเรียนรู้ในห้องเรียนเพื่อทำกิจกรรมและลงมือปฏิบัติการ ผสานกับเครื่องมือที่ทันสมัยที่ช่วยสนับสนุนด้านการเรียนการสอนภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับ กลุ่มเป้าหมายผู้เรียนวิศวกรรมสหวิทยาการ เปิดรับทั้งคนไทย อาเซียนและชาวต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น วิศวกร นักบริหาร นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ผู้ที่จบปริญญาโททางด้านที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ที่ต้องการขยายองค์ความรู้เพื่อบูรณาการความเชี่ยวชาญของตนไปยังสาขาอื่น หรือผู้เรียนต้องการสร้างนวัตกรรมหรืองานวิจัยที่มีความเชื่อมโยงกับสาขาอื่น ๆ ซึ่งเป็นเป้าหมายของ “วิศวกรรมสหวิทยาการ” คุณสมบัติผู้สมัคร เป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ คอมพิวเตอร์ โลจิสติกส์ หรือด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีผลงานและประสบการณ์ด้านการทำวิจัย กำหนดเปิดรับสมัคร สิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 และกำหนดเปิดเรียนเดือนธันวาคม 2563
พัฒนาศักยภาพคนไทย จบแล้วไปทำงานอะไร
การพัฒนาศักยภาพคนไทยในหลักสูตรนี้ตอบสนองแนวทางพัฒนาประเทศและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และป้อนกำลังคนผู้เรียนจบวิศวกรรมสหวิทยาการสู่ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป เช่น นักวิจัย นวัตกร อาจารย์ นักบริหารองค์กร การศึกษาและการวิจัยในองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากหลักสูตรมุ่งเน้นการสร้างบุคลากรที่สามารถเชื่อมโยงและขยายองค์ความรู้ ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงบริหาร ส่งเสริมกระบวนทางความคิดอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการที่สามารถทำงานในหลากหลายสาขาวิชาชีพได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร 081-402-3627, 02-889-2138 อีเมล sotarat.tha@mahidol.ac.th