วิศวะมหิดล จับมือ ม.ทัมกังแห่งไต้หวัน เตรียมเปิดหลักสูตร 2 ปริญญา ข้ามประเทศ ป.โท วิศวอุตสาหการ ปี 63

0
682
image_pdfimage_printPrint

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ ดร.หยิน เทียน หวัง (Dr. Yin-Tien Wang) คณะวิศวกรรมศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยทัมกัง (Tamkang University) แห่งไต้หวัน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยไทย – ไต้หวัน และเจรจาความร่วมมือเปิดการเรียนการสอนหลักสูตร 2 ปริญญา 2 ประเทศ (Dual Degree) เริ่มด้วย ป.โทวิศวกรรมอุตสาหการในปีการศึกษา 2563

ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำงานวิจัยบูรณาการและวิศวกรรมศาสตร์ระดับโลก กล่าวว่า ไต้หวันเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้าด้าน Intelligent Industries ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทัมกัง แห่งไต้หวันในการเปิด หลักสูตร 2 ปริญญา 2 ประเทศ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจของการศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalized Education) และสนองตอบความต้องการและแก้ข้อจำกัดอุปสรรคหลายอย่างของผู้เรียนได้ มหาวิทยาลัยทัมกัง แห่งไต้หวัน เป็น 1 ใน 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำและมีชื่อเสียงโดดเด่นติดอันดับโลก ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2493 มี 4 แคมปัส คือ Tamsui Campus , Taipei Campus , Lanyang Campus และ Cyber Campus โดยมุ่งเน้นการศึกษาสู่ยุคโลกาภิวัตน์ การสร้างเครือข่ายข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และอนาคต

ทั้งนี้หลักสูตร 2 ปริญญา 2 ประเทศ จะเริ่มในปีการศึกษา 2563 ด้วยหลักสูตรปริญญาโทวิศวกรรมอุตสาหการมหาบัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ข้อดีสำหรับผู้เรียน คือ เมื่อจบจะได้รับวุฒิปริญญาจาก 2 สถาบัน ทั้งในและต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายถูกกว่าการเรียนคอร์สปริญญาในต่างประเทศแบบทั่วไป สามารถใช้ทรัพยากรการศึกษาจากทั้ง 2 ประเทศ ได้รับองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วย ทั้งเพิ่มโอกาสในการหางานได้มากยิ่งขึ้น หลักสูตรมีความยืดหยุ่นในการเรียนการสอนทำให้ผู้เรียนสามารถจัดการชีวิตและความรับผิดชอบต่าง ๆได้ง่ายขึ้น เช่น ผู้เรียนที่มีภาระต้องดูแลครอบครัว อุปสรรคการขอวีซ่า ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อต่างประเทศ

ความร่วมมือของ 2 มหาวิทยาลัยครั้งนี้ ยังส่งเสริมกระบวนการสร้างเครือข่ายทางการศึกษาในระดับสากลในยุคดิสรัพ โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย อาเซียนและโลกแห่งอนาคต ทำให้สามารถขยายการเข้าถึงผู้เรียนที่มีคุณภาพในตลาดที่กว้างไกลมากขึ้น พัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ผู้เรียนและแนวโน้มของโลก และสามารถเพิ่มจำนวนผู้เรียนนานาชาติโดยไม่จำเป็นต้องจัดสรรพื้นที่เพิ่มในวิทยาเขตหรือในประเทศของตน