วิศวกรรมศาสตร์ มหิดล จัดเวทีเสวนา “Maker Power 2019…พลังไทยบนเวทีโลก”

0
691
image_pdfimage_printPrint

พลังของดิจิทัลเทคโนโลยีและเมคเกอร์นักประดิษฐ์ที่ทวีบทบาทในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอนาคตเป็นอีกหนึ่งสีสันของโลกที่เปลี่ยนแปลง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีเสวนา เรื่อง “Maker Power 2019…พลังไทยบนเวทีโลก” ในงานเปิด Innogineer Studio ศูนย์เมคเกอร์สเปซทันสมัยที่สุดในประเทศไทย โดยมี ศ.คลีนิก นายแพทย์อุดม คชินทร รมช.กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน และเชิญ 4 กูรู ร่วมเวทีเสวนา ดำเนินการรายการโดย ดร.เคตะ โอโน่ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นักสร้างหุ่นยนต์และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดมุมมองว่า “ สถิติโลก นวัตกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย ธุรกิจดาวรุ่งที่สร้างปรากฏการณ์ดิสรัปชั่นก็ได้แรงบันดาลใจจาก EcoSystem ในมหาวิทยาลัย เช่น Grab โดย Anthony Tan และ Tan Hooi Ling สองคู่หูในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพในมาเลเซียและขยายบริการไปกว่า 132 ประเทศ, Larry Page และ Sergey Brin ผู้ก่อตั้ง Google คู่หูอัจฉริยะจากสแตนฟอร์ดผู้พลิกโลกออนไลน์ สำหรับคนรุ่นใหม่วันนี้และอนาคต มิติของการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่มาเพื่อจดเลคเชอร์ หรือเรียนเพียงเพื่อเอาใบปริญญา แต่เรียนรู้เพื่อประยุกต์ต่อยอดนำไปสร้างนวัตกรรมได้ การหาความรู้ในมหาวิทยาลัยจริง ๆ ไม่ใช่การ Teaching แต่เป็นการ Learning ซึ่งคนยุคใหม่ในปัจจุบันต้องการหาพื้นที่สำหรับเรียนรู้ฝึกฝนทักษะในสิ่งที่เขาสนใจ เพราะปัจจุบันโลกเปลี่ยน มีแนวคิดธุรกิจจำนวนมากที่มีการคิดแล้วแต่ไม่ได้ลงมือทำให้เป็นจริง “สตาร์ทอัพ” จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้มันเกิดขึ้นได้ นี่เองเป็นจุดที่เราเริ่มสร้าง Eco System ในรูปแบบ Innogineer Studio ศูนย์เมคเกอร์สเปซอัจฉริยะทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ที่ครบครันด้วยเทคโนโลยี และเครื่องมือ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งใจให้เป้นพื้นที่คนรุ่นใหม่ ไม่เพียงแต่นักศึกษา เมคเกอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่ต้องการความร่วมมือจากคนรุ่นใหม่หลายสาขาหลายคณะมาทำงานร่วมกัน ร่วมกันคิดแบ่งปันความรู้ แบ่งปันไอเดีย ซึ่งหากมีไอเดียลงตัวแล้วสามารถผลิตต้นแบบออกมาได้เลย หรือจะพัฒนาเชิงพาณิชย์ต่อ ทาง Innogineer Studio ศูนย์เมคเกอร์สเปซอัจฉริยะแห่งนี้ ไม่เพียงหาพื้นที่พบปะและประลองความคิดเท่านั้น แต่เรายังครบครันด้วยเครื่องมือ Hi-End เทคโนโลยีระดับโลกหลายตัวที่ตอบโจทย์ มี Robot มี เครื่อง 3D พริ้นเตอร์สร้างงานโลหะและอโลหะได้ มีเครื่องสแกน 3D สแกนเนอร์ประสิทธิภาพสูงสำหรับทำแบบ และมี Co-Working Space สำหรับบริษัทเอสเอ็มอี (SMEs) และอุตสาหกรรม ทั่วไปที่อยากลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือเข้ามาทดลองใช้ รวมทั้งมีแลบต่าง ๆ ด้วย

ดร.สักกเวท ยอแสง หัวหน้างานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า “ปัจจุบันธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดขึ้นในประเทศไทยมากมาย แต่มักมองแค่ความสำเร็จระยะใกล้ คิดว่ามีชื่อเสียงในประเทศไทยก็ประสบความสำเร็จแล้ว จริง ๆ ในการทำธุรกิจควรมองไกลไปถึงการขยายตลาดให้เป็นวงกว้างจากภูมิภาคสู่ระดับโลกด้วย ความคิดริเริ่มของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการเปิด Innogineer Studio ศูนย์เมคเกอร์และบ่มเพาะนวัตกรรมนี้ขึ้น จะช่วยให้สตาร์ทอัพไทย ได้มีพื้นที่และระบบนิเวศที่เข้มแข็ง โดยทางสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้นจะให้การสนับสนุนและบูรณาการร่วมกัน กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาครัฐบาล ร่วมมือกันกำหนดโจทย์ความท้าทายต่าง ๆ ทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศและระดับโลก มาเป็นโจทย์ตั้งต้นในการบ่มเพาะแนวคิดทางธุรกิจและการสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรม Innogineer Studio แห่งนี้ จะเป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจและพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพผู้ประกอบการใหม่หลายด้าน อาทิ Entrepreneurial Mindset, Entrepreneurial Skill, Technology, Finance, Investment และ Legal เป็นต้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยจะมี Hardware Startup ที่สามารถขยายตลาดในวงกว้างได้ (Scalable) เกิดขึ้นมากมาย และเกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมแบรนด์สัญชาติไทยออกสู่เวทีโลกอีกด้วย เนื่องจากในแต่ละปี มีนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มีคุณภาพสำเร็จการศึกษาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนักออกแบบของไทย เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก ทั้งนี้ เราจะร่วมกันพัฒนาศักยภาพของ Hardware Startup เพื่อเพิ่มสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันใหม่ของประเทศไทยให้เป็นพลังไทยบนเวทีโลก”

คุณอภิโชค ประเสริฐรุ่งเรือง กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท AIRPORTELs จำกัด ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพบริการจัดเก็บและจัดส่งกระเป๋าให้นักท่องเที่ยวเดินทางตามจุดหมายต่าง ๆ เผยประสบการณ์ว่า “แรก ๆ ผมยังไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจมากนัก เริ่มต้นจากการหาความรู้จาก Incubator บ่มเพาะนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะนั้นมันยังไม่ใช่ Eco System สำหรับสตาร์ทอัพอย่างเรา กลับกลายเป็นห้องอ่านหนังสือ ห้องเล่นยูทูบสำหรับเพื่อนนักศึกษา และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมอีกหลายสตาร์ทอัพในประเทศไทยถึงยังไม่ประสบความสำเร็จซักที เป็นเพราะขาดการผลักดันและบ่มเพาะอย่างเป็นระบบแบบจริงจัง ในวันที่บริการ AIRPORTELs เริ่มต้น ช่วงนั้นคำว่าสตาร์ทอัพในประเทศไทยยังไม่ชัดเจนเลยครับ เราจึงพยายามเรียนรู้และในการดำเนินธุรกิจของผม มุ่งไปที่เราสามารถเข้าไปช่วยตอบโจทย์แก้ปัญหาที่มีอยู่จริง ให้นักท่องเที่ยวเดินทางในตลาดได้อย่างไร ในแง่รูปแบบธุรกิจ AIRPORTELs หลายท่านอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ได้ซับซ้อน เพราะแค่รับกระเป๋าจากอีกที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเท่านั้นเอง แต่ในมุมมองกลับกัน เรามองว่ามูลค่าเหล่านี้จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจของประเทศทำรายได้ปีละกว่า 2 ล้านล้านบาท สถิติในปี 2561 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาปีละกว่า 38 ล้านคน สิ่งที่เราต้องการ คือการผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาท่องเที่ยวแบบ Free Hand Traveling ได้จริงๆ มันช่วยสร้างคุณค่าให้กับการท่องเที่ยวไทย ความสะดวกสบายและไว้วางใจในการท่องเที่ยว นี่เป็นมุมมองที่ AIRPORTELs เริ่มทำ”

รศ.ดร. พลังพล คงเสรี อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจว่า “กว่าจะเป็นนวัตกรรมต้องอาศัยการวิจัยองค์ความรู้ ความมุ่งมั่น การทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่า ความล้มเหลวเป็นครู อย่างที่เรียกว่า Fail Forward ปัจจุบันเราจะได้ยินคำว่า สตาร์ทอัพ และ ธุรกิจ (Business) ในแวดวงมหาวิทยาลัยกันมากขึ้น และผมยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง สตาร์ทอัพที่ดี อย่างเช่น บริษัท AIRPORTELs จำกัด ที่มีความพร้อมและความเร็วเหมาะเจาะกับสถานการณ์ตลาดท่องเที่ยวที่กำลังเติบโต ที่คนกำลังต้องการบริการจัดเก็บกระเป๋าและจัดส่งกระเป๋า ไปยังสนามบินหรือโรงแรมของนักท่องเที่ยวเดินทาง ดังนั้น นอกจากจะมีไอเดียที่ดีแล้วสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จคือ ต้องมี Business Plan ที่ชาญฉลาด แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้สตาร์ทอัพไม่พัฒนา เนื่องจากประเทศเราขาดคนสนับสนุน อาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีหน้าที่เปลี่ยนแปลง Mindset ให้กับคนรุ่นใหม่ ผมเชื่อว่า Eco System หรือการสร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นสนับสนุนเป็นสิ่งสำคัญมาก และผมยังเชื่อว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งกำลังเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น Branding ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะพัฒนาทั้งภายในมหาวิทยาลัยและต่อสังคมภายนอก เรามองถึงในส่วนของประชาชนมากขึ้น จากสิ่งที่มหิดลมี คือเป็นเครือข่ายที่เป็นมืออาชีพร่วมกับธุรกิจอุตสาหกรรมพัฒนานวัตกรรม และผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพที่ต่อไปจะเป็นพลังของเมคเกอร์และสตาร์ทอัพ ร่วมกันสร้างมูลค่าเพิ่มและความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยบนเวทีโลกในอนาคตได้”