วิธีการรับมือ เมื่อลูกเข้าโรงเรียน และถูกเพื่อนแกล้ง

0
210
image_pdfimage_printPrint

อีกหนึ่งปัญหาที่สร้างความวิตกกังวลให้คุณพ่อคุณแม่ เมื่อลูกต้องเข้าโรงเรียน ทั้งยังสร้างความกลัวให้ลูกน้อยเมื่อต้องไปโรงเรียน กับการต้องถูกรังแกจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนจนบ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่อยากจะไปจัดการกับเพื่อนคู่กรณีด้วยตนเอง หรือซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็อยากจะไปจัดการสั่งสอนผู้ปกครองของเพื่อนจอมแสบอีกต่างหาก

ซึ่งเรื่องราวความขัดแย้งหรือทะเลาะวิวาทของเด็ก แม้ผู้ปกครองจะเข้าใจกันดีว่าเป็นเรื่องปกติและหนีไม่พ้น แต่เรื่องจริงที่สุด คือ ไม่มีใครอยากให้เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีวิธีจัดการกับปัญหาและรับมืออย่างไร  โดยอาจารย์จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ก็มีเหตุการณ์ตัวอย่างพร้อมแนวทางการแก้ปัญหาไว้ดังนี้

“ในชั้นเรียนอนุบาล 2 ขณะที่ ด.ช.อ้น กำลังตั้งใจวาดรูปที่คุณครูสั่ง ด.ญ.บุ๋ม กำลังคุยอยู่กับเพื่อนอย่างสนุกสนานจนลืมงานวาดรูป เมื่อคุณครูกำลังเดินเข้ามาหา ด.ญ.บุ๋ม ด้วยความเป็นห่วงเพื่อนด.ช.อ้น รีบเอามือไปตีที่หลัง ด.ญ.บุ๋ม และหันกลับมาวาดรูปต่อเพื่อจะเตือนว่าครูมาแล้ว ด.ญ.บุ๋ม หันกลับมาด้วยความโกรธที่ ด.ช.อ้น ไปตีหลัง จึงทุบหลัง ด.ช.อ้น กลับด้วยคิดว่า ด.ช.อ้น แกล้ง เรื่องราวการทะเลาะเบาะแว้งจึงเกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์การถูกแกล้งหรือถูกรังแกขึ้นที่โรงเรียน คุณครูต้องจับทั้งสองฝ่ายแยกออกจากกัน ให้นั่งพักนิ่งๆ ซักระยะเพื่อให้อารมณ์เย็นลง พร้อมทั้งให้ความอุ่นใจกับนักเรียนโดยไม่พาดพิงถึงฝ่ายใด เข้าไปสวมกอดและบอกอย่างอ่อนโยนว่า “ครูจะดูแลหนูเหมือนที่พ่อแม่หนูดูแลหนู ไม่ให้ใครมาทำอะไรหนูได้” และสอนคู่กรณีถึงการกระทำที่รุนแรงโดยมุ่งเน้นที่พฤติกรรม เช่น “ครูไม่ชอบการใช้กำลังแบบนี้เพื่อนก็ไม่ชอบ หนูควรจะไปขอโทษเพื่อนนะคะ” จากนั้นต้องสอนให้เด็กรู้จักการให้อภัย ซึ่งในกระบวนการทั้งหมดนี้อาจต้องใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น หากว่าเด็กยังมีอารมณ์ครุกรุ่นอยู่ คุณครูอาจช่วยโน้มน้าวให้เด็กมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันได้ อาทิ มอบหมายงานให้ทำร่วมกันหรือแลกของเล่นกัน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าเรื่องราวการวิวาทหรือการถูกรังแกในเด็กเล็ก ไม่มีอะไรซับซ้อนมาก และมักเปิดจากข้อจำกัดของการรับรู้อันเนื่องจากวัย ซึ่งหากคุณพ่อ คุณแม่ และคุณครู เข้าใจในธรรมชาติ จะช่วยให้มองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นทรัพยากรเพื่อสอนการใช้ชีวิตให้กับเด็กๆ อีกทั้งยังต้องเข้าใจว่า เด็กเล็กมักคุ้นชินกับการเป็นพระราชาในบ้าน แต่เมื่อออกมาอยู่ที่โรงเรียน ซึ่งมีสภาพแวดล้อมแตกต่างจากที่บ้าน ไม่มีใครคอยเอาใจ ไม่มีใครยอมใคร การกระทบกระทั่งกันก็จะเกิดขึ้นได้ และเมื่อเกิดการกระทบกระทั่งขึ้น เด็กทุกคนจะเข้าใจในมุมตัวเองว่า “หนูไม่ผิด”  อย่างไรก็ตามการสื่อสารกับผู้ปกครองก็เป็นสิ่งจำเป็น เมื่อคุณครูต้องสื่อสารเพื่อบอกกล่าวพฤติกรรมซ้ำๆ หรือความรุนแรงของเด็กที่เกิดขึ้น ก็ควรเป็นการสื่อสารแบบขอคำปรึกษาและบอกเรื่องราว ไม่ใช่การตำหนิ ใส่อารมณ์ร่วมหรือพูดถึงปมด้อยของเด็กเป็นอันขาด!!!

k2

ฝ่ายผู้ปกครองเอง เมื่อได้ทราบเรื่องจากคุณครูก็ควรแสดงออกในท่าทีที่ดีและสงบ ยิ่งถ้าลูกอยู่ใกล้ๆ ในขณะนั้น ยิ่งจำเป็นต้องสงบ เพราะการที่คุณครูมาเล่าให้ฟังอย่างละเอียด ก็แสดงให้เห็นว่าคุณครูเอาใจใส่ผู้ปกครองควรให้ความร่วมมือกับคุณครูและทางโรงเรียนเพื่อช่วยหาทางออก ที่สำคัญต้องไม่ติดป้าย ตีตราเด็กคู่กรณีว่า เป็นเด็กไม่ดีหรือเป็นเด็กมีปัญหา ฯลฯ เพราะการกระทบกระทั่งกัน ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ และเป็นพัฒนาการทางสังคมที่เด็กจะต้องเรียนรู้การตอบสนองอย่างเหมาะสม ทั้งทักษะการแก้ปัญหา ซึ่งอย่าลืมว่าคุณพ่อคุณแม่ ไม่สามารถอยู่กับลูกได้ตลอดทั้งชีวิต วันหนึ่งลูกต้องใช้ชีวิตตามลำพัง เขาก็ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง

และเมื่อกลับมาถึงบ้านคุณพ่อคุณแม่ ควรรีบให้ความอุ่นใจ กำลังใจและความเชื่อมั่นกับลูกโดยทันที เพื่อให้ลูกกล้าที่จะปกป้องตัวเองเมื่อเกิดเหตุซ้ำ สอนวิธีรับมือเมื่อถูกรังแก อาทิเช่น ให้ไปหาครู เป็นต้น อย่าลืมว่าเด็กทะเลาะกันไม่นานเดี๋ยวก็กลับมาเล่นกันได้อีก ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องไปดุ สั่งสอน คู่กรณีด้วยตนเอง เพราะนั่นจะกลายเป็นว่าคุณชวนเด็กทะเลาะ และคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถดูแล ปกป้องเขาได้ไปตลอดชีวิตดังนั้นใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอนเขาให้สามารถรับมือ แก้ปัญหา และมีชีวิตที่มีความสุขได้
เพราะ  “ปัญหาไม่ใช่ปัญหา แต่วิธีการแก้ปัญหาต่างหากที่เป็นปัญหา