“วัคซีนไข้เลือดออก” โอกาสและความเป็นไปได้ของไทย

0
699
image_pdfimage_printPrint

DSC_0379

เม็กซิโกถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศใช้ วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกหรือ “เดงวาเซีย” (Dengvaxia) อย่างเป็นทางการ โดยมีหลายประเทศที่ให้ความสนใจในประสิทธิภาพประสิทธิผลของวัคซีนดังกล่าว ในการนำมาใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออกรวมทั้งประเทศไทยเอง

ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ฯ กล่าวภายหลังร่วมการอภิปรายเรื่อง “ความก้าวหน้าของการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกและความต้องการใช้ในประเทศไทย” ในงานสัมมนาวิชาการป้องกันควบคุมโรคแห่งชาติ ประจำปี 2559 ที่ผ่านมาว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่บริษัทเอกชนสามารถผลักดันวัคซีนไข้เลือดออกตัวแรกของโลกสู่ท้องตลาดได้สำเร็จ แม้ว่าอาจยังมีประสิทธิผลไม่เต็มร้อย แต่ก็สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ และเป็นเรื่องของความรู้ที่จะทำให้นักวิจัยเข้าใจและมองเห็นช่องทางการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้น เชื่อมั่นว่าในอนาคตจากการเรียนรู้ในส่วนนี้จะทำให้ผู้วิจัยและผู้ผลิตสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาวัคซีนของตนเองให้มีความก้าวหน้าได้มากขึ้น

สำหรับประเทศไทยนั้น“วัคซีนไข้เลือดออก” เป็นวัคซีนที่อยู่ในแผนวาระแห่งชาติด้านวัคซีน เป็นวัคซีนที่ได้รับการสนับสนุนการวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำเพื่อให้สามารถนำไปผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาถือได้ว่าไทยเป็นประเทศที่คุ้นเคยกับการวิจัย พัฒนา “วัคซีนไข้เลือดออก” มานาน เพราะเริ่มทำมาก่อนประเทศอื่น ๆ หลายสิบปีแล้ว จึงถือว่าวัคซีนไข้เลือดออกเริ่มพัฒนาที่ประเทศไทย เมื่อพูดถึงวัคซีนไข้เลือดออกต่างชาติก็จะพูดถึงประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ดังนั้นจึงควรส่งเสริมนักวิจัยไทย เช่นใน มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยวิจัยอื่นๆ ให้มาร่วมกันพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกให้สำเร็จ ซึ่งปัจจุบันเรามีการประชุมและติดตามความคืบหน้าโครงการเป็นระยะ แต่ความสำเร็จด้านการพัฒนาวัคซีนต้องใช้เวลาพอสมควร

สถาบันวัคซีน ฯ ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายมีการผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาด้านข้อมูล หรือถ้ายังไม่มีข้อมูล ก็จะให้การสนับสนุนด้านการวิเคราะห์หรือจัดทำข้อมูลที่จำเป็นขึ้นมา ตอนนี้มีการจัดตั้งคณะทำงานในเรื่องการนำวัคซีนตัวนี้ขึ้นมา โดยต้องพิจารณารายละเอียดในทุกมุมมอง ครอบคลุมปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาระโรค คนป่วย ตาย ค่าใช้จ่าย รวมถึง ความปลอดภัย ประสิทธิภาพประสิทธิผลในการป้องกัน อาการข้างเคียง ราคาที่สามารถจัดซื้อจัดหาได้ และความเป็นไปได้ของการให้บริการ

ในขณะที่ตอนนี้วัคซีนไข้เลือดออกยังไม่มีมาจำหน่ายในท้องตลาดของประเทศไทย เพราะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนและพิจารณาของอย. อาจต้องใช้ระยะเวลา นานกว่าวัคซีนตัวอื่น เพราะมีความซับซ้อนหลายด้าน หากจะนำวัคซีนตัวนี้เข้ามาใช้ในประเทศไทยจริง ต้องเร่งตัดสินใจให้ได้ว่าวัคซีนตัวนี้จะมีประโยชน์หรือไม่ สำหรับการใช้ในประชากรวงกว้าง ถ้ามีประโยชน์ก็ต้องมีการจัดหางบประมาณในการจัดซื้อ แต่ระยะแรกเริ่มไม่ควรนำวัคซีนมาใช้ในวงกว้างทันที ควรใช้ในวงจำกัดบางพื้นที่ก่อน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในประสิทธิผลของวัคซีนแล้วจึงขยายต่อไป ส่วนภาคเอกชนการใช้วัคซีนไข้เลือดออกสามารถพิจารณาได้ตามกำลังที่ทำได้

ส่วนการนำวัคซีนไข้เลือดออกที่ได้ผ่านการขึ้นทะเบียน อย. ของแต่ละประเทศทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก ฟิลิปปินส์และ แอฟริกานั้น สามารถมั่นใจได้ว่าเป็นวัคซีนที่ปลอดภัยสามารถใช้ได้ แต่ต้องใช้ตามคำแนะนำของ อย. คือใช้ในกลุ่มอายุ 9-45 ปี ฉีด 3 เข็ม และควรศึกษาให้เข้าใจว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพแค่ไหน ต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง โดยไทยอาจจะเริ่มจำหน่ายและนำเข้ามาใช้ในภาคเอกชนก่อน ส่วนการใช้ในระดับประเทศ คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคจะเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นเริ่มต้นก่อน ต่อจากนั้นคณะอนุกรรมการยา และคณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ของ สปสช. จะพิจารณาว่าวัคซีนมีความคุ้มทุนหรือไม่ อย่างไร ซึ่งจะมีกำหนดกฎเกณฑ์ ข้อพิจารณาต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดคุ้มค่ากับงบประมาณที่มีอยู่ ดร.นพ.จรุงกล่าว