วอลโว่ กรุ๊ป เชื่อมั่นตลาดรถบรรทุกฟื้น
• ปี 59 ส่งสัญญาณฟื้นตัวด้วยการเดินหน้าโครงการภาครัฐ
• ปี 60 การเติบโตจะต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ยังส่งแรงกระตุ้นต่อเนื่อง
บริษัท วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถบรรทุกแกร่งสายพันธุ์สวีเดน วอลโว่ ทรัคส์ และรถบรรทุกสายเลือดอาทิตย์อุทัย ยูดี ทรัคส์ เชื่อมั่นตลาดรถบรรทุกขนาดใหญ่ในประเทศไทยจะยังคงเติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเติบโตติดต่อกันเป็นปีที่สอง หลังจากที่ตลาดหดตัวอย่างต่อเนื่องถึง 2 ปี
นายกำลาภ ศิริกิตติวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าตลาดรถบรรทุกขนาดใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตประมาณ 7% ซึ่งเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2558 ที่ตลาดหดตัวมากกว่า 20% ทั้งนี้เป็นผลมาจากการกระตุ้นจากภาครัฐในการเดินหน้าโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมถึงภาวะภัยแล้งที่ประเทศไทยประสบจากวิกฤติการณ์เอลนีโญมาหลายปีติดต่อกัน ได้เริ่มคลี่คลายเมื่อปีที่แล้ว ทำให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้ตามปกติ ในขณะที่พืชผลทางการเกษตรที่อิงกับราคาเชื้อเพลิง เช่นยางพารา เป็นต้น เริ่มกระเตื้องตามภาวะราคาน้ำมันดิบ ขณะเดียวกัน เมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นปีที่ประเทศไทยได้เข้าสู่ประชาคมประชาชาติเศรษฐกิจอาเซี่ยนหรือ AEC ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการจากภาคขนส่งสินค้าข้ามแดน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเดินหน้าโครงการประชารัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม เช่นโครงการการเบิกจ่ายเงินลง 74,655 หมู่บ้าน ทั่วประเทศ หมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท ตามโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐประจำปีงบประมาณ 2560 และโครงการเติมเงินลงทุนจังหวัดและกองทุนหมู่บ้าน 1 แสนล้านบาท โดยการกระตุ้นเหล่านี้ กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่าจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2560 จะเพิ่มขึ้นเป็น 4% จากปัจจุบัน 3%
– 2 –
“เราได้เล็งเห็นสิ่งเหล่านี้และที่สำคัญคือการเดินหน้าเมกะโปรเจ็คของรัฐบาล ทำให้เรามีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีอัตราเติบโตตามแรงกระตุ้น ซึ่งหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจ ได้ตอกย้ำความเชื่อมั่นถึงการฟื้นตัวเศรษฐกิจของไทย เราจึงมั่นใจว่าตลาดรถใหญ่ น่าจะได้รับอานิสงส์จากการกระตุ้นทางภาครัฐด้วย” นายกำลาภ กล่าว
นายกำลาภ กล่าวว่าภาคธุรกิจที่จะมีส่วนต่อการกระตุ้นความต้องการใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ ได้แก่ภาคการก่อสร้าง ซึ่งเป็นแรงหนุนต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และปีนี้ จะยังคงมีบทบาทต่อการกระตุ้นความต้องการใช้รถใหญ่ ทั้งนี้เพราะการเดินหน้าโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐบาล ประกอบกับภาคการขนส่งสินค้าที่ต้องใช้ความปลอดภัยสูงเช่นวัตถุอันตรายและน้ำมันเชื้อเพลิง จะยังคงมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรถบรรทุกทั้งวอลโว่ ทรัคส์ และยูดี ทรัคส์ สามารถตอบสนองตลาดกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี จึงน่าจะได้รับผลดีจากการเติบโตในปีนี้
สำหรับข้อกังวลในปี 2560 นายกำลาภ กล่าวว่าว่าปัจจัยที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดคือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในปี 2560 ซึ่งหากเป็นไปตามกำหนดการดังกล่าว จะมีส่วนส่งเสริมการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่น
ในขณะที่การเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาถือเป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ ของเศรษฐกิจหลักทั่วโลกและประเทศไทย โดยนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาที่หาเสียงไว้ มีนโยบายกีดกันทางการค้า หากเป็นเช่นนั้นย่อมส่งผลกระทบทางด้านลบต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศไทยมีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ประมาณ 10% ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบไม่มากนัก
“ราคาน้ำมันในตลาดโลก ก็เป็นอีกปัจจัยที่เราต้องเฝ้าติดตาม เพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศไทย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ เป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังตลอดปีใหม่นี้” นายกำลาภ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายกำลาภ กล่าวว่าขณะนี้ค่ายวอลโว่ กรุ๊ป กำลังพิจารณาการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาด
– 3 –
ในปีที่แล้ว ค่ายวอลโว่ กรุ๊ป มียอดขายทั้งสิ้น 1,191 คัน เพิ่มขึ้น 17% โดยเป็นยอดขายจากวอลโว่ ทรัคส์ 391 คัน ในขณะที่ยอดขายยูดี ทรัคส์ 800 คัน เพิ่มขึ้น 56% จาก 512 คันในปี 2558 ซึ่งการเติบโตในส่วนของยูดี ทรัคส์ นั้น นอกจากจะมาจากการฟื้นตัวของตลาดที่เกิดจากการกระตุ้นของภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างแล้ว ยังเกิดจากการเข้าสู่ AEC ของประเทศไทย ทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มเติมจากธุรกิจ Logistics ที่ต้องจัดหารถบรรทุกเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วอลโว่ กรุ๊ป ได้ทุ่มเงินลงทุนขยายเครือข่ายไปถึง 3,000 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์ก่อนที่จะเริ่ม AEC ได้ 1 ปี เพื่อรองรับกับตลาดที่จะฟื้นตัวและความต้องการจากภาคขนส่งสินค้าผ่านแดนจากข้อตกลงของ AEC โดยประเทศไทยอยู่ในทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของ AEC