วสท.ร่วมกับ สถาบัน DHI แห่งเดนมาร์ก จัดงาน “ทิศทางอนาคตโมเดลจัดการน้ำประเทศไทย 4.0” (Future Direction, Thailand Water Modeling 4.0 Prosperity, Security, Sustainability)
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย ดร. ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. และ ดร. ศิริลักษณ์ ชุ่มชื่น ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ (วสท.) ร่วมกับ Danish Hydraulic Institute (DHI) สถาบันผู้นำบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศเดนมาร์ก นำโดย นาย เจสเพอร์ คอร์จ ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายโปรแกรมแบบจำลอง ร่วมเปิดงาน “ทิศทางอนาคตโมเดลจัดการน้ำประเทศไทย 4.0 เพื่อความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน” ถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และเทคโนโลยีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแก่บุคลากรไทยให้มีทักษะความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และการจัดการปัญหาชายฝั่ง งานนี้จัดขึ้น ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคาร วสท. รามคำแหง 39 ได้รับเกียรติจาก คุณสถิตย์ จันทร์ทิพย์ Mr.Oluf Zeilund Jessen คุณนริศรา ฉัตรวัชรกุล ดร. สมฤทัย ทะสะดวก และ ดร.เกษม ปิ่นทอง เป็นวิทยากร โดยมี ดร.สมชาย ชนวัฒนา เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.ศิริลักษณ์ ชุ่มชื่น ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ (วสท.) กล่าวว่า วสท. และสถาบัน DHI ซึ่งเป็นสถาบันที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกันจัดงานสัมมนา “ทิศทางอนาคตโมเดลจัดการน้ำประเทศไทย 4.0 เพื่อความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน” เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านการบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมนิสิต นักศึกษา วิศวกร และผู้สนใจทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อหาแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเน้นการพัฒนาคนและเทคโนโลยีของแต่ละหน่วยงาน บูรณาการให้เกิดความร่วมมือและการสังเคราะห์ปัญหาร่วมกันในทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านน้ำของประเทศอย่างเหมาะสมและยั่งยืน
ภายในงานสัมมนามีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาระบบแบบจำลองการคาดการณ์และเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน (MIKE Powered by DHI) ซึ่งได้ปรับใช้โปรแกรมจำลองกับการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทย ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอ่าวสมดุลและแนวทางการจัดการอ่าวสมดุลในประเทศไทย ระบบช่วยตัดสินใจสำหรับการบริหารจัดการคุณภาพน้ำด้วยข้อมูลตรวจวัดปัจจุบัน รวมถึงแบบจำลองการพยากรณ์และแบบจำลองชลศาสตร์ สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง และมีโอกาสได้ฝึกใช้โปรแกรมแบบจำลองคณิตศาสตร์กับผู้เชี่ยวชาญด้วย
ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก การพัฒนาแบบจำลองคณิตศาสตร์มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน สนับสนุนให้การพยากรณ์และการติดตามสถานการณ์น้ำเป็นไปอย่างรวดเร็ว แม่นยำ มีประสิทธิภาพและประหยัดการใช้บุคคลากรยิ่งขึ้น จากงานสัมมนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานได้แลกเปลี่ยนความรู้และนำข้อเสนอแนะการใช้งานแบบจำลองไปใช้พัฒนาองค์กรของตนได้ อันมีส่วนช่วยให้การพัฒนางานแหล่งน้ำของประเทศเจริญก้าวหน้า มีบูรณาการ สามารถรองรับการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพได้ในอนาคต