วสท. แนะลดเสี่ยงอัคคีภัยบ้าน-อาคาร ก่อนเที่ยววันหยุดยาว ต้อนรับปีใหม่ 63
ความประมาทเพียงครั้งเดียวอาจสร้างความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่าไม่ได้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เตือนลดเสี่ยงอัคคีภัยช่วงวันหยุดยาว โดยมีคำแนะนำการดูแลป้องกันอัคคีภัยสำหรับเจ้าของอาคารและเจ้าของบ้าน ก่อนออกจากบ้านเที่ยวให้สนุกและปลอดภัยในเทศกาลปีใหม่ต้อนรับปีหนู
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่า 2562 ต้อนรับปีใหม่ 2563 กิจการร้านค้าและประชาชนส่วนใหญ่ต่างพากันเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อพักผ่อนท่องเที่ยว อัคคีภัยเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยมีองค์ประกอบหลักได้แก่ อากาศ ความร้อน เชื้อเพลิง อุปกรณ์ไฟฟ้า และรวมไปถึงกิจกรรมทุกประเภทที่เกี่ยวกับไฟ เช่น การจุดพลุ ดอกไม้ไฟ หรือการก่อไฟให้ความอบอุ่น
สำหรับผู้ประกอบการ เจ้าของอาคาร และแหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจประเภทเครื่องเล่น ซุ้มประดับไฟ ศูนย์การค้าต่างๆ ควรใส่ใจในการใช้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน ติดตั้งและตรวจสอบ ตลอดจนมีการบำรุงรักษาด้วยช่างผู้เชี่ยวชาญ และมีวิศวกรควบคุมดูแล ตลอดจนเตรียมแผนบริหารจัดการพร้อมบุคลากรกรณีเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะสวนสนุกในกรุงเทพ ซึ่งมีอยู่ 48 แห่ง สวนสนุกแบบถาวรภายในอาคารต้องมีใบอนุญาตก่อสร้างและใบอนุญาตประกอบกิจการ และสวนสนุกที่ติดตั้งชั่วคราวตามเทศกาล ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ด้านสุขลักษณะความปลอดภัยและชีวอนามัยสำหรับกิจการสวนสนุกตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมเครื่องเล่น พ.ศ. 2558 ใน 5 ด้าน คือ 1.ต้องมีคู่มือการติดตั้ง และขออนุญาตถูกต้อง 2.ต้องมีคู่มือการใช้งานเครื่องเล่น พร้อมติดป้ายคำเตือน และกำหนดอายุผู้เล่นให้เห็นชัดเจน 3.ต้องมีคู่มือการดูแลบำรุงรักษา และตรวจสอบตามเวลาที่กำหนด คือ 3 – 6 เดือน และ 1 – 5 ปี 4.ต้องมีคนคุมเครื่องที่ต้องผ่านการฝึกอบรม และ 5.ต้องมีแผนการรับมือและแก้ไขปัญหาในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินหรือเกิดอุบัติเหตุจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงต้องดูแลความสะอาดป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อ
ด้านข้อแนะนำสำหรับประชาชน คุณบุษกร แสนสุข ประธานสาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย และประธานสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วสท.แนะนำการป้องกันไฟไหม้ก่อนออกจากบ้านไปเที่ยวช่วงวันหยุดยาวอย่างสบายใจไร้กังวล ดังนี้
1. ก่อนออกจากบ้าน ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าและถอดปลั๊กไฟที่ไม่ใช้งาน ปิดสวิตซ์ไฟ เตาประกอบอาหารและวาล์วถังก๊าซหุงต้มให้สนิททุกครั้ง
2. ติดตั้งระบบป้องกันเพลิงไหม้ เช่น เครื่องตรวจจับควัน, สัญญาณแจ้งเตือนภัย, เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ, อุปกรณ์ดับเพลิงชนิดมือถือ รวมถึงการวางแผนรองรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินไว้ล่วงหน้า
3. หลีกเลี่ยงการเฉลิมฉลองด้วยพลุ ดอกไม้ไฟ ภายในอาคารบ้านเรือนหรือสถานที่ปิดต่าง ๆ
4. ไฟประดับต้นคริสต์มาส หรืออุปกรณ์ตกแต่งปีใหม่ เป็นไฟต่อพ่วงที่ใช้งานแบบชั่วคราว โดยเฉพาะการต่อพ่วงบริเวณนอกบ้าน เมื่อถูกแสงแดด ฝนสาด ลมพัด หรืออยู่ใกล้กับแหล่งความร้อน อาจทำสายไฟฟ้าชำรุด/ขาดอาจเกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือกรณีปลั๊กเกิดการหลวมเกิดความร้อนสะสมและเป็นสาเหตุให้เกิดไฟลุกไหม้
5. ตรวจสอบปลั๊กไฟพ่วงต่างๆ ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ หากพบสายไฟชำรุดฉีกขาด บุบ บวม เปลี่ยนสี มีกลิ่นไหม้ ให้ซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ทันที ควรเลือกใช้ปลั๊กไฟพ่วงที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทั้งสายไฟและรางปลั๊กไฟ ซึ่งจะใช้วัสดุคุณภาพดีและพลาสติกที่มีคุณสมบัติไม่ลามไฟ มีฟิวส์หรือวงจรตัดไฟช่วยป้องกันการใช้ไฟเกินได้ และติดตั้งอย่างถูกวิธีโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ
6. เพิ่มความระมัดระวังในการใช้งานอิเลคทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เช่น กล่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต ธูปเทียนไฟฟ้า กริ่งไร้สาย ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จำเป็นต้องใช้ไฟเลี้ยงตลอดเวลา มีกำหนดอายุการใช้งานและการเสื่อมสภาพ หากไม่มีการตรวจสอบอาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน จึงควรถอดปลั๊กหลังใช้งานและเก็บให้เรียบร้อย
7. จัดอาคารบ้านเรือนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยวัสดุในบ้านที่สามารถติดไฟได้ง่ายและมักถูกมองข้าม อาทิ กระดาษ เสื้อผ้า น้ำมัน ทินเนอร์ สีทาบ้าน เป็นต้น เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีที่ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว ควรแยกเก็บสารเคมีที่ติดไฟง่ายในบริเวณที่แห้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ห่างจากแหล่งความร้อนที่เป็นตัวเร่งให้เกิดเพลิงไหม้
8. หากใช้ฟืนไม่ควรปล่อยให้มอดดับเองเป็นอันขาด ต้องดับให้สนิททุกครั้งเมื่อมีการก่อฟืนไฟ
9. งดเว้นการเผาขยะ หญ้าแห้ง และเศษวัสดุ ในช่วงอากาศแห้งหรือช่วงที่ลมพัดแรง
10. กรณีมีผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ควรมีผู้ดูแลและจัดให้อยู่ชั้นล่างของอาคารหรือใกล้กับประตูทางออก และซักซ้อมแผนเคลื่อนย้ายกรณีฉุกเฉิน มีเบอร์ติดต่อประสานงานในการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
11. สำหรับสถานประกอบกิจการ ให้เพิ่มความเข้มงวดและความถี่ในการตรวจตราระบบดับเพลิงให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา และสำรวจจุดเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย การใช้และจัดเก็บวัตถุไวไฟ เชื้อเพลิงที่ติดไฟง่าย และแหล่งความร้อนต่าง ๆ รวมทั้งให้มีการตรวจสอบระบบแจ้งเตือนภัย แผนฉุกเฉินมาตรการป้องกัน
12. โรงงาน อาคารโรงพยาบาล อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารที่มีความเสี่ยงอัคคีภัย อาคารที่ผู้ใช้อาคารหนาแน่น ในช่วงเทศกาล จะต้องวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน จัดเตรียมบุคลากรให้อยู่ประจำอาคารในช่วงวันหยุดยาวหรือเทศกาล เพื่อทำหน้าที่ดูแลอาคาร ป้องกันการเกิดอัคคีภัยและสามารถระงับเหตุได้ทันที
13. อบรมให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้านความปลอดภัยในการป้องกันอัคคีภัยและเส้นทางอพยพแก่ทุกคนในครอบครัว และพนักงานหรือผู้ใช้อาคาร