วสท. เผย 5 มาตรฐานใหม่ ย้ำผู้ประกอบการก่อสร้าง-อสังหาฯใส่ใจคุณภาพและความปลอดภัย

0
556
image_pdfimage_printPrint

ธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทยและอาเซียน กำลังขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า จากการเกิดอุบัติเหตุในไซต์ก่อสร้างและในที่สาธารณะปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในประเทศไทย และเริ่มมีข่าวในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน CLMV ด้วยเช่น อัคคีภัย, เครนถล่ม, ตึกถล่ม และอื่น ๆ ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ จึงต้องการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและผู้ดำเนินงานตามไซต์ก่อสร้างได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักมาตรฐานวิศวกรรมความปลอดภัย
ทาง วสท. ได้ดำเนินการประกาศใช้ 5 มาตรฐานทางวิศวกรรม ในการเสริมสร้างคุณภาพของโครงการและคุณค่าของแบรนด์อุตสาหกรรมก่อสร้าง ด้วยหลักการปฏิบัติที่ดีในทุกระดับ การบริหารจัดการโครงการและความปลอดภัยทั้งในระยะก่อน-ระหว่าง-และหลังการก่อสร้าง การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับการก่อสร้างและอาคารที่เหมาะสม การลดปัจจัยเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและไฟไหม้ เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลและร่วมขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนควบคู่กับความปลอดภัย ได้แก่

1. มาตรฐานความปลอดภัยในงานก่อสร้าง เล่ม 1 : ความปลอดภัยในเรื่องการจัดการทั่วไป ระบบบริหารจัดการความปลอดภัย ข้อแนะนำสำหรับสถานประกอบการก่อสร้างขนาดเล็กหรือสถานประกอบการทั่วไป ได้นำไปประยุกต์ใช้ โดยโครงการก่อสร้างที่ดีต้องมีแผนการจัดการความปลอดภัยในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งมีผลต่อคุณภาพงานก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนระบบการจัดการความปลอดภัย, การเคลื่อนย้ายวัสดุและการเก็บวัสดุในสถานที่ก่อสร้าง, งานจัดการสภาพแวดล้อมและสุขาภิบาล, งานเฝ้าระวังและจัดการเรื่องความปลอดภัย รวมไปถึงอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ ที่จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุต่อผู้ปฏิบัติงาน บุคคลที่เกี่ยวข้อง สาธารณชนและสถานที่ข้างเคียง

2. มาตรฐานความปลอดภัยในงานก่อสร้าง เล่ม 2 : ความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือและเครื่องจักร เป็นมาตรฐานที่เน้นสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำไปประยุกต์ใช้ในงานก่อสร้าง เพื่อให้เกิดปลอดภัยในการใช้เครื่องมือและเครื่องจักรขณะปฏิบัติงาน โดยเนื้อหาประกอบด้วย นั่งร้าน, บันได, ราวกันตก ขอบกันของตก และทางเดินชั่วคราวยกระดับ, แผงป้องกันวัสดุตก และป้องกันฝุ่น, ลิฟต์ขนส่งวัสดุและลิฟต์โดยสารชั่วคราวสำหรับผู้ปฏิบัติงานในขณะทำงานก่อสร้าง และการใช้งานเครนหรือปั้นจั่น

การประยุกต์ใช้งานยังต้องคำนึงหลักทางวิศวกรรม ตามลักษณะสภาพหน้างานที่อาจมีความแตกต่างจากข้อกำหนดที่กล่าวไว้ในมาตรฐาน และอยู่ในความดูแลกำกับของวิศวกร ทั้งนี้หน่วยการวัดต่าง ๆ ที่ปรากฏในมาตรฐานเล่มนี้ อาจมีการใช้หลายระบบเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งาน และการสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติที่หน้างานได้ตรงกัน

3. มาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน มาตรฐานนี้เกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตของผู้ใช้อาคาร ได้จัดทำขึ้นให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อกำหนดเครื่องมือให้แสงสว่างและนำทางผู้ประสบภัยไปสู่สถานที่ปลอดภัยขณะเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งระบุถึงพื้นที่เก็บอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์แจ้งเหตุ และอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน นับเป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยตามกฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดในการออกแบบ ติดตั้ง และตรวจสอบระบบแสงสว่างฉุกเฉิน สำหรับอาคารพักอาศัย อาคารสำนักงาน อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ โรงแรม โรงพยาบาล สถานบริการ โรงมหรสพ และอาคารสาธารณะทั่วไป

โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. ระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน อาทิ การเตรียมการและจดบันทึก, การให้แสงสว่างฉุกเฉิน, การส่องสว่างเพื่อการหนีภัย, แบตเตอรี่ และระบบการเดินสายและข้อกำหนดของวงจร 2. โคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน อาทิ ข้อกำหนดต่าง ๆ, สภาวะทั่วไปสำหรับการทดสอบ, การติดตั้งโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน และระยะห่าง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีระบบนำทางติดตั้งต่ำแบบไม่ใช้ไฟฟ้า (Non – Electrical Low Mounted Way Guidance System) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความรวดเร็วในการหนีภัยได้มากยิ่งขึ้น

4. มาตรฐานระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ประกอบด้วย วิธีการกำหนดโซน การแบ่งโซนเพื่อค้นหาจุดต้นเพลิงได้โดยรวดเร็วและสามารถหนีไฟได้ทัน การแบ่งประเภทของอาคาร เพื่อกำหนดส่วนประกอบขั้นพื้นฐานของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่อาคารพึงมี อุปกรณ์ตรวจจับควัน อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน อุปกรณ์ตรวจจับเปลวเพลิง และการกำหนดใช้ที่เหมาะสมกับพื้นที่เฉพาะ รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ สาย ท่อ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบอุปกรณ์ในระบบ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบทำงานถูกต้องเมื่อต้องการใช้งาน ทั้งนี้ ได้ยกเว้นส่วนอาคารที่ใช้เพื่อการผลิต การใช้ การเก็บสาร หรือวัสดุอันตราย เช่น วัตถุระเบิด สารไวไฟ สารเคมี และสารกัมมันตรังสี เป็นต้น ซึ่งต้องใช้มาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางประกอบการออกแบบด้วย

5. มาตรฐานการควบคุมควันไฟ ใช้อ้างอิงสำหรับการออกแบบระบบควบคุมควันไฟ เพื่อให้อาคารประเภทต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ได้ เมื่ออาคารเข้าเกณฑ์ตามข้อกำหนดของกฎหมาย ที่กำหนดให้ต้องมีระบบควบคุมควันไฟขณะเกิดเพลิงไหม้ โดยมีเนื้อหาครอบคลุมถึงระบบควบคุมควันไฟในแบบต่าง ๆ ทั้งระบบอัดอากาศและระบายอากาศ การทำงานของระบบควบคุมควันไฟกับระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง อุปกรณ์ประกอบ และการติดตั้งระบบควบคุมควันไฟ รวมถึงการทดสอบระบบควบคุมควันไฟ และการปิดช่องท่อเพื่อป้องกันไฟลาม โดยมีภาคผนวกทฤษฎีการควบคุมควันไฟ ที่จะให้ความรู้เพิ่มเติม พร้อมสมการคำนวณเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของควันไฟ การไหลของอากาศ อัตราการไหลและการอัดอากาศ

ทั้งนี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ คาดว่ามาตรฐานและการปรับปรุงมาตรฐานเหล่านี้ จะช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าทางธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ของไทย พร้อมทั้งยกระดับงานวิศวกรรมความปลอดภัย รวมทั้งทำให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบการกำหนดมาตรฐานที่ดีของภูมิภาคอาเซียนในการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านมาตรฐานสากล และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป