วสท. เผยข้อคิดเห็น “ ทางม้าลาย 3 มิติ ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้จริงหรือ? ”

0
370
image_pdfimage_printPrint

3FD15746775D4FAB8897520BC8828CBA

รายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยพ.ศ.2555 ผลการรวบรวม ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล การเกิดอุบัติเหตุของไทยปี 2555 พบว่า จำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 1,179,135 ราย มีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 23,601 ราย จากเดิมที่รายงานโดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้ 8,764 ราย ทำให้ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตเป็น 36.62 ราย ต่อ ประชากรแสนคน ซึ่งสถิติเมื่อปี 2554 ใช้ข้อมูลผู้เสียชีวิตเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขมีอัตราการเสียชีวิตที่ 20.81 รายต่อประชากรแสนคน การใช้ข้อมูล 3 ฐาน มาวิเคราะห์ ถือเป็นเรื่องท้าทายที่สำคัญทันที เนื่องจากประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายจากสถิติเดิมไว้ว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะลดลงเหลือต่ำกว่า 10 รายต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นสุดทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2563

จากปัญหาอุบัติเหตุบนถนนที่เกิดในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก หลายฝ่ายมีการริเริ่มคิดหากลวิธีต่างๆ ที่จะช่วยกันลดความสูญเสียนี้ จากแนวคิดหนึ่งในต่างประเทศที่ได้ทำ ทางม้าลาย 3 มิติ ก็ได้มีผู้นำมาทดลองใช้ในประเทศไทย เช่น ที่โรงเรียนในจังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดพิษณุโลก ด้วยมุ่งหวังว่าจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการข้ามถนนที่ทางม้าลายมากขึ้น โดยลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถเร็วจนไม่ระวังให้คนข้ามถนนไปก่อนที่ทางข้าม จุดประสงค์หลักของการทำทางม้าลาย 3 มิติก็คือ ทำให้ทางข้ามถนนเป็นที่สะดุดตา เห็นได้ชัดเจน และกระตุ้นเตือนให้ผู้ขับรถลดความเร็วลงเพื่อหยุดให้คนข้ามถนนไปก่อนได้ทันเวลา อย่างไรก็ตามข่าวการสร้างทางข้ามม้าลาย 3 มิตินี้ทำให้หลายคนมีข้อสงสัยว่า ทางม้าลาย 3 มิติ จะเป็นเหตุของความเสี่ยงในการขับรถและอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นแทนที่จะลดลงเพราะความตกใจของผู้ขับรถ

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย อาจารย์อรวิทย์ เหมะจุฑา ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมจราจรและขนส่ง กล่าวว่า “ ปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุมี 3 อย่าง คือ คน ยานพาหนะ และถนนรวมสิ่งแวดล้อม ซึ่ง”คน”เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ถึงร้อยละ 95.7 โดยมีอุบัติเหตุเกิดจากปัจจัยร่วมของคนและถนนร้อยละ 19.3 การสร้างทางม้าลาย 3 มิตินี้ เป็นการช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดจากคนและถนนลงได้บ้าง หลักเกณฑ์ในทำทางม้าลายกำหนดไว้ในมาตรฐานเครื่องหมายจราจร ตามประกาศคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ในปี 2546 เป็นเครื่องหมายจราจรประเภทบังคับ การจะทำทางข้ามบนทางหลวงซึ่งมีอยู่ 5 ประเภท คือ ทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท ทางหลวงท้องถิ่น และทางหลวงเทศบาล นั้น ไม่ใช่ว่าใครจะทำขึ้นมาก็ได้ เพราะเส้นทางข้ามนี้ต้องเป็นสีขาว อาจจะเป็นเส้นขนาน หรือแถบขวางลายขีดก็ได้ สำหรับพื้นถนนไม่ได้กำหนดสี ในการพิจารณาว่าจุดไหนควรทำทางข้ามซึ่งไม่ใช่ที่ทางแยก ต้องดูว่าเป็นชุมชนหรือโรงเรียนที่มีจำนวนคนข้ามและปริมาณรถในถนนที่เหมาะสม โดยปกติทางข้ามจะกว้าง 2 เมตร ถ้ารถวิ่งกันเร็วกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็จะกว้าง 4 เมตร ทั้งนี้ต้องพิจารณาจำนวนคนข้ามถนนประกอบด้วย จุดประสงค์หลักสำหรับการทำทางข้ามหรือทางม้าลาย ก็เพื่อให้ประชาชนผู้ข้ามถนนมีความปลอดภัย ซึ่งตามกฎจราจรขณะที่มีคนข้ามถนนในทางข้ามผู้ขับรถต้องหยุดให้คนข้ามก่อน

จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ต่างประเทศมีการนำเอาหลักการทำทางม้าลาย 3 มิติเข้ามาใช้ที่เมืองหนึ่งในประเทศอินเดียเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และประเทศจีนนำมาใช้ที่เมืองหนึ่งเป็นระยะเวลา 8 ปีแล้ว จากข้อมูลที่มีการสอบสอบถามผู้ที่ใช้รถในประเทศจีนว่าการสร้างทางม้าลาย 3 มิตินั้น ทำให้เกิดการตกใจเมื่อขับรถหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่า เมื่อรถกำลังเคลื่อนตัวนั้น ผู้ขับรถจะมองเห็นภาพ 3 มิติได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่จุดๆหนึ่งเท่านั้น สำหรับที่ประเทศอินเดียผู้ทำกล่าวว่า ภาพที่ผู้ขับรถมองเห็นภาพนูน 3 มิติจะไม่ชัดเจนเหมือนภาพถ่าย ผลจากการทดลองใช้ทางม้าลาย 3 มิติในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอินเดียหรือประเทศจีนที่ได้นำแนวคิดนี้มาใช้พบว่า ทางม้าลาย 3 มิติ ทำให้ผู้ขับรถมีความสนใจและเห็นทางข้ามได้ชัดเจน และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น และยังไม่พบว่าทางม้าลาย 3 มิตินี้ทำให้เกิดอุบัติเหตุแต่อย่างใด

สำหรับประเทศไทยทางกรมทางหลวงชนบทได้มีโครงการศึกษาวิจัย เพื่อดูว่าทางม้าลาย 3 มิติมีความเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่โดยได้ขอให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยบูรพา ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องของทางม้าลาย 3 มิติ ซึ่งจะใช้เวลาในการศึกษา 4 เดือน โดยเดือนแรกจะรวบรวมข้อมูลผลงาน เกี่ยวกับเรื่องทางม้าลาย 3 มิติ เดือนที่ 2 ออกแบบวิเคราะห์รูปแบบที่เหมาะสม เดือนที่ 3 ทดลองติดตั้งและสำรวจข้อมูล และเดือนที่ 4 จะเป็นการประเมินผล ดังนั้นภายในระยะเวลา 4 เดือนนี้ก็จะทราบผลการศึกษาว่าจะเป็นอย่างไรเพื่อความปลอดภัยที่จะนำมาใช้งาน ตามข่าวที่เห็นในสื่อต่างๆ เป็นทางม้าลาย 3 มิติ ที่โรงเรียนในจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยยังไม่ได้ทำในทางหลวงซึ่งในการทำต้องอาศัยฝีมือและสีที่คงทนต่อการเสียดสีของยางรถ การใช้เครื่องตีเส้นตามปกติอาจจะไม่สามารถทำให้มองเห็นเป็นภาพ 3 มิติได้ ”

—————————–

PR AGENCY : บ.เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BrainAsia Communication)

Tel. : ประภาพรรณ 081-899-3599, พันธ์นิฉาย 086-341-6567, 02-911-3282 E-mail : brainasiapr@hotmail.com