วสท.เตือนสัญญาณภัยจากอาคารเก่า แนะวิธีตรวจสอบอาคาร

0
429
image_pdfimage_printPrint

10-Medium

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) องค์กรเสาหลักด้านวิศวกรรมที่มีชื่อเสียงและได้รับความไว้วางใจจากประชาชนและสังคม แสดงความห่วงใยจากเหตุการณ์กันสาดอาคารพาณิชย์เก่าบริเวณหลังตลาดประชานิเวศน์ 1 พังถล่มทรุดตัวลงมาถึง 12 คูหา ได้สร้างความตื่นตระหนกต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ยังมีอาคารอีกจำนวนมากที่ทรุดโทรมและสร้างก่อนพระราชบัญญัติ (พรบ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และอาคารที่สร้างก่อนที่ วสท. จะออกมาตรฐานการก่อสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2518

รศ. สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึงกรณี กันสาดตึกอาคารพาณิชย์สูง 3 ชั้น ถล่มลงมา 12 คูหา ข้างตลาดประชานิเวศน์ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2559 วสท. เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบว่าอาคารมีปัญหา ขาดการดูแลรักษาและการออกแบบกันสาดที่มีลักษณะอุ้มน้ำ เมื่อฝนตกลงมาทำให้กันสาดต้องรับน้ำหนักบรรทุกเพิ่ม และเมื่อน้ำซึมเข้าไปในตัวคอนกรีตที่เสื่อมสภาพทำให้เหล็กเกิดสนิม รับน้ำหนักบรรทุกต่อไปไม่ไหว ประกอบกับโครงสร้างมีการยึดรั้งที่ไม่สมบูรณ์ เป็นเหตุให้พังลงมา และกระแทกกันสาดชั้น 2 และชั้น 1 พังตามที่ปรากฏ และคาดว่าการก่อสร้างอาคารสมัยก่อนยังไม่ได้มาตรฐานเมื่อเทียบกับคุณภาพและงานก่อสร้างในปัจจุบัน อาคารที่เกิดเหตุดังกล่าวสร้างมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2523 หมดสัญญาเช่าไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนเรื่องโครงสร้างอาคารไม่แข็งแรง ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2558 เพื่อให้ผู้พักอาศัยย้ายออก แต่ไม่มีการตอบสนอง จนเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น สอดคล้องกับรายงานที่ทำการตรวจสอบสภาพอาคารที่ดำเนินการไว้ และแนะนำว่าควรต้องรื้ออาคารทั้ง 177 ห้อง จากเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้สังคมตระหนักถึงความปลอดภัยในอาคารที่พักอาศัย โดยทั่วไปสำหรับอาคารขนาดใหญ่ และอาคารสาธารณะที่จะต้องได้รับการตรวจสอบสภาพอาคารและอุปกรณ์ของอาคารโดยผู้เชี่ยวชาญ จะมีการตรวจสอบตามมาตรฐาน 6 ด้าน คือ ด้านความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ด้านระบบบริการและอำนวยความสะดวก ด้านระบบสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ด้านระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ด้านสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของอาคารเพื่ออพยพผู้ใช้อาคาร และด้านระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยในอาคาร

รศ. เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวถึง ความเจริญเติบโตของกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีอาคารเกิดขึ้นอย่างหนาแน่น และมีอาคารหลากหลายประเภทการใช้งาน
มาตรฐานอาคารที่ดี ควรจะประกอบด้วย 1. การคำนวณออกแบบที่ดี 2. กำหนดการใช้วัสดุที่มีคุณภาพเหมาะสม 3. การก่อสร้างที่ดี 4. การซ่อมแซมและบำรุงรักษาอาคารที่ดีอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง คอนกรีตโครงสร้างของอาคารมีโอกาสเสื่อมสภาพลงตามอายุการใช้งาน ซึ่งทั่วไปเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีสมรรถนะสูง และความคงทนจะลดลงหากเกิดความบกพร่อง เช่น การเกิดรอยร้าว การอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีการกัดกร่อนสูง รวมทั่งการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน

ในกฎหมาย เรื่องความปลอดภัยในการใช้อาคารโดยพิจารณาจากสมรรถนะขององค์ประกอบอาคาร กฎกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้มี ”ผู้ตรวจสอบอาคาร” โดยได้ให้คุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบอาคาร หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียน และการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ. 2548 ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของ เจ้าของอาคารและสาธารณชน กฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนด ครอบคลุมถึงการใช้อาคารตามที่ได้รับอนุญาต รวมถึงการดัดแปลงและการขอเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยตรวจสอบว่ามีการใช้อาคารที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือมีความเสี่ยงอันตราย การตรวจสอบสภาพระบบและอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงโครงสร้างของอาคารที่อาจก่อให้เกิด อันตรายต่อผู้ใช้อาคาร การตรวจสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับการป้องกันอันตราย รวมทั้งตรวจสอบระบบบริหารจัดการความปลอดภัย และแผนการฉุกเฉินที่จำเป็น
วสท. ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาบุคลากรผู้ตรวจสอบอาคาร สำหรับประเทศไทย โดยจัดฝึกอบรมวิชาการผู้ตรวจสอบอาคาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจวิธีการตรวจสอบสภาพอาคาร สามารถวิเคราะห์หาต้นเหตุที่จะนำไปบริหารจัดการ โดยหากผ่านการอบรมหลักสูตรนี้ และผ่านการสอบตามเกณฑ์ที่กำหนด สามารถจดทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบได้ อีกทั้งเพื่อให้การตรวจสอบสภาพอาคารเป็นมาตรฐานดีในระดับเดียวกัน โดยจะใช้รายการตรวจสอบและคู่มือการตรวจสอบอาคาร ที่ วสท. เป็นผู้ร่วมจัดทำขึ้นเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

สำหรับอาคาร 9 ประเภท ที่ต้องตรวจสอบ ตามกฎกระทรวงโดยผู้เชี่ยวชาญ คือ 1. อาคารสูง 2. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ 3. อาคารชุมนุมคน 4. โรงมหรสพ 5. โรงแรม 6. อาคารชุด/อาคารอยู่อาศัยรวม 7. อาคารโรงงาน 8. สถานบริการ 9. ป้าย ซึ่งจะต้องมีกระบวนการตรวจสอบ สมรรถนะ เป็นประจำทุกปี เพื่อต่อใบอนุญาต รวมทั้งตรวจใหญ่ทุก 5 ปี ปัจจุบัน มีอาคารสูง อาคารสาธารณะ และป้าย ที่ต้องคอยตรวจสอบจำนวนมาก แต่เจ้าของละเลย ไม่ปฏิบัติ จึงทำให้เกิดความเสี่ยง ต่ออาคาร และประชาชนที่อยู่แวดล้อม คาดว่ามีอาคารเก่ากว่า 4,000 แห่งใน กทม. ที่ไม่เคยจ้างผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบอาคารเลย นับเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดภัยภิบัติที่ไม่คาดฝันขึ้นได้