1

วสท.ถอดบทเรียนปฏิบัติการทางวิศวกรรมช่วย 13 หมูป่า…กู้ภัยระดับโลก

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท.เป็นประธานเปิดงาน เสวนา“ถอดบทเรียนปฏิบัติการทางวิศวกรรมช่วย 13 หมูป่า…กู้ภัยระดับโลก” จากเหตุการณ์ 13 เยาวชนและโค้ชทีมฟุตบอลหมูป่าติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2561 คนไทยและทั่วโลกเฝ้าติดตามปฏิบัติการกู้ภัยระดับโลกซึ่งหลอมรวมความร่วมมือจาก 337 หน่วยงาน เทคโนโลยีที่ทันสมัย หน่วยซีลและนักดำน้ำระดับโลกจาก 8 ชาติ รวมใจรวมพลังอาสาสมัครจากทั่วไทยและทั่วโลกโดยไม่แบ่งสีผิวเชื้อชาติ เพื่อเป้าหมายเดียวกันในการช่วยเหลือทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตจนประสบผลสำเร็จ ในวันที่ 8 -10 กรกฎาคม 2561 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เข้าร่วมปฏิบัติการได้เล็งเห็นถึงคุณค่าขององค์ความรู้และความร่วมมือที่ปรากฏขึ้นในการกู้ภัยตลอด 18 วัน ครั้งประวัติศาสตร์

วสท.จะดำเนินการรวบรวมรายชื่อทำเนียบผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ รายชื่อของเทคโนโลยีต่างๆสำหรับต่อยอดเป็นบทเรียนทางวิศวกรรม และขอเสนอแนะให้ดำเนินการสำรวจและทำแผนที่ถ้ำที่สมบูรณ์ด้วยเทคโนโลยีวิศวกรรมสำรวจที่ก้าวหน้า เช่น เครื่อง 3D Scan, การจับพิกัดของสถานที่จากเครื่อง ไจโรสโคป (Gyroscope) และเครื่อง GPS เป็นต้น ที่จะสามารถบอกตำแหน่งต่างๆ ภายในถ้ำหลวง และควรสำรวจทำแผนที่ถ้ำอื่นๆที่ทางการได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างฐานข้อมูลของประเทศและความปลอดภัยต่อประชาชน และที่สำคัญประเทศไทยควรทำต้นแบบมาตรฐานการกู้ภัยในสภาวะแวดล้อมต่างๆไว้เป็นแนวทาง เสริมเทคโนโลยีและองค์ความรู้แก่เครือข่ายงานกู้ภัยแห่งชาติ ส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้แก่เยาวชนและชุมชน

ในงานแถลงเสวนาเรื่อง“ถอดบทเรียนปฏิบัติการทางวิศวกรรมช่วย 13 หมูป่า…กู้ภัยระดับโลก”3 ท่านมาถ่ายทอดประสบการณ์ตอนที่ 1 การบริหารจัดการปฏิบัติการกู้ภัย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง ได้แก่ นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, นายสมหมาย เตชวาล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และนายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย, นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ตอนที่ 2 งานสำรวจจัดทำแผนที่ถ้ำและภูมิประเทศ…สนับสนุนเปิดทางปฎิบัติการกู้ภัย มีผู้ร่วมเสวนา 4 ท่าน คือ ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย, รศ.ดร.ไพศาล สันติธรรมนนท์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.สามารถ ดีพิจารณ์ รักษาการ คณบดีวิทยาลัยวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ดร.สว่างทิตย์ ศรีกิจสุวรรณ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ตอนที่ 3 งานเจาะถ้ำ และสำรวจโพรงตามแนวถ้ำ…เร่งหาทางเลือกที่เร็วและปลอดภัย มีผู้ร่วมเสวนา 5 ท่าน คือ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมปฐพีวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.),คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ผศ.ดร.ดีเซลล์ สวนบุรี ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), ดร.กัมปนาท ขวัญศิริกุล สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กรมชลประทาน, นายอำนวย วงษ์พานิช ผอ.โครงการขยายอายุการใช้งานท่อส่งก๊าซบนบกเส้นที่ 1 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ตอนที่ 4 การพร่องน้ำออกจากถ้ำหลวง…สู่การกู้ชีวิตที่สำเร็จปลอดภัย มีผู้ร่วมเสวนา 4 ท่าน คือ นายไพฑูรย์ นาคแท้ ผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงราย, นายวีรยตม์ เฉลิมนนท์ ผจก.ฝ่ายวิศวกรโครงการก่อสร้างไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี บริษัท ช.การช่าง จํากัด (มหาชน),นางสาวอ้อมใจ ปิ่ณฑะแพทย์ นักพัฒนาผลิตภัณฑ์อาวุโส บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), นายนภดล นิยมค้า บริษัท นิยมค้ามารีนเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด นวัตกรรมเครื่องสูบน้ำเทอร์โบเจ็ท

ทาง วสท.ได้แนะนำทีมวิศวกรอาสาและผู้ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจ ดร.ฟองจันทร์ จิราสิต อาจารย์หลักสูตรวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่, นายกฤตวัฒน์ สุโกสิ ประธานยุววิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ, นายสิทธิโชค เหลาโชติ กรรมการสาขาภาคตะวันตก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และนสพ.ภัทรพล มณีอ่อน (หมอล็อต) นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ด้านเทคโนโลยีในการกู้ภัยครั้งนี้ มีหลากหลาย อาทิเช่น เครื่องวัดค่าความต้านทานไฟฟ้า Electrical Resistivity Image หลักการ หินแต่ละชนิดมีความนำ/ต้านทานไฟฟ้าต่างกัน จึงปล่อยกระแสไฟ เพื่อวัดค่าดังกล่าว เพื่อกำหนดตำแหน่งถ้ำที่แน่นอน และคำนวนหาความหนาของชั้นหิน หรือ ตำแหน่งเพดานถ้ำ, เครื่องดันท่อ HDD (Horizontal Directional Drilling) นั้นเป็นเทคโนโลยีใหม่จากสหรัฐในการขุดเจาะสำหรับการติดตั้งท่อใต้พื้นดิน โดยเจาะผ่านใต้ดิน ด้วยเครื่องดันท่อ HDD สามารถที่จะเลี้ยวและหลบหลีกลอดถนน ลอดคลอง ลอดอาคารและสิ่งกีดขวางต่างๆได้เป็นอย่างดี, เครื่อง 3D Scanner จากบริษัท ฮอลลีวู๊ด อินเตอร์เนชั่นแนล ถ่ายภาพสามมิติภายในถ้ำ,เครื่องอินฟราเรดสแกนเนอร์ จากกองทัพสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถสแกนรูปทรงของภูเขาว่ามีรูปทรงอย่างไรบ้าง อาจจะวิเคราะห์ได้ว่าในส่วนของภูเขาอาจจะมีโพรงอยู่อย่างไรบ้าง,โดรนติดกล้องตรวจจับความร้อน ทีมหุ่นยนต์มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดยมีการส่ง มาช่วยในการปฏิบัติการค้นหาในถ้ำและบนฟ้า, โดรนสำรวจ และไม้ตรวจวัดกระแสไฟฟ้ารั่ว จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ทำให้สามารถตรวจวัดกระแสไฟฟ้ารั่วจากอุปกรณ์หรือสายไฟต่าง ๆ ที่ติดตั้งภายในถ้ำเพื่อซ่อมแซมและป้องกันได้ทันท่วงที, WMApp แอปพลิเคชั่นตรวจสอบสภาพอากาศ โดย ซึ่งช่วยในการพยากรณ์สภาพอากาศเหนือถ้ำหลวง เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าในการช่วยเหลือวันนั้นๆ, พาวเวอร์เจล และผ้าห่มอวกาศ โดยพาวเวอร์เจลเป็นอาหารเสริมสำหรับคนที่ผ่านการใช้พลังงานมากและขาดอาหารมาเป็นเวลานาน ส่วนผ้าห่มอวกาศสำหรับ 13 คนทีมหมูป่าได้ห่มเพราะภายในถ้ำมีความชื้นและเย็นกว่าภายนอก ป้องกันความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับปอด, Heyphone หรืออุปกรณ์สื่อสารระยะไกล ใช้งานได้แม้จะอยู่ภายในถ้ำ สามารถส่งคลื่นทะลุผนังถ้ำที่หนาได้ โดยเครื่องนี้เดินทางมากับนักดำน้ำชาวอังกฤษ, ท่อระบายน้ำ จากอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และช.การช่าง ท่อ HDPE จาก บริษัท เชฟรอน ช่วยเรื่องผันน้ำ, ผ้าใบซีเมนต์ นวัตกรรมใหม่จาก SCG เมื่อโดนน้ำจะแข็งตัวกันน้ำได้, ถังอากาศวนอากาศ Rebreather ที่มีเทคโนโลยีสามารถนำอากาศที่ใช้หายใจไปแล้วมาหมุนเวียนหายใจใหม่ได้ ทำให้นักดำน้ำสามารถหายใจใต้น้ำได้นานมากขึ้น, เรือดำน้ำจิ๋ว Mini-sub ทาง บ.สเปซเอ็กซ์ ส่งจากสหรัฐ มีลักษณะเหมือนกระสวยขนาดเล็กที่ผู้ประสบภัยสามารถนอนอยู่ในนั้นแล้วให้ทีมช่วยเหลือนำกระสวยออกมาจากถ้ำ แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ซับซ้อนและประเทศไทยกำลังจะมีฝนตกหนักอีกครั้ง ทำให้ทีมช่วยเหลือตัดสินใจใช้วิธีการให้เด็กดำน้ำแทน, หุ่นยนต์ดำน้ำ ROV จากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) แต่พบอุปสรรคน้ำในถ้ำขุ่นไม่สามารถมองเห็นได้, กล้องสแกนถ้ำ RSK Rescue Leica Scanner P20 สแกนเนอร์ตรวจแบบคลื่นอินฟาเรดทะลุกำแพง โดยตัวเครื่องจะยิงอินฟาเรด ที่สามารถจับความร้อนมีระยะค้นหา 300 เมตร

ปฏิบัติการทางวิศวกรรมได้สนับสนุนเปิดทางเลือกความเป็นไปได้ต่างๆและลดความเสี่ยงต่ออุปสรรคอันตรายในการปฏิบัติการกู้ชีวิตให้เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้นโดยแข่งกับเวลา ฝนพายุ และอากาศออกซิเจนในถ้ำที่ลดต่ำลง ทำให้เกิดความพร้อมต่อการตัดสินใจให้หน่วยซีล ทีมนักดำน้ำผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจาก 8 ประเทศและทีมสนับสนุนลงมือปฏิบัติการทางน้ำนำพา 13 ชีวิตทีมหมูป่า ดำน้ำลำเลียงออกจากถ้ำหลวงและนำส่งโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย ทำให้โลกยิ้มและชื่นชมเมื่อมนุษยชาติรวมกันเป็นหนึ่งในภารกิจที่ยิ่งใหญ่…พาหมูป่ากลับบ้านได้สำเร็จ