วสท.ตรวจสอบอาคารโกดังไฟไหม้ 5 ชั้น ซอยมังกร ย่านเยาวราช พบโครงสร้างแอ่นตัว

0
714
image_pdfimage_printPrint

การขยายตัวและกิจกรรมของเมืองทำให้เพิ่มความเสี่ยงเพลิงไหม้นำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตและทางเศรษฐกิจปีละไม่น้อย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย รศ. เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา พร้อมด้วยทีมวิศวกรอาสา วสท.ผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่วิเคราะห์โครงสร้างอาคารที่เสียหายจากเหตุเพลิงไหม้โกดังอาคารพาณิชย์เก่า 5 ชั้น ภายในซอยมังกร ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งใช้เป็นโกดังเก็บเสื้อผ้าแฟชั่น ของเล่นเด็กและอุปกรณ์เครื่องเขียน ขณะเกิดเหตุเมื่อวันที่ 24 ก.พ. เวลาประมาณ 11.35 น. ผู้ประสบภัยได้นอนพักผ่อนอยู่ชั้น 3 ของอาคาร และได้กลิ่นไหม้ลอยมา จึงวิ่งหนีเอาชีวิตรอดและได้รับบาดเจ็บถูกไฟลวกตามลำตัว ก่อนเพลิงจะลุกลามอย่างรวดเร็ว

รศ. เอนก ศิริพานิชกร (Anek Siripanichkorn) ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า สำหรับอาคารต้นเพลิงนั้นเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่ปลูกสร้างมีอายุกว่า 40 ปี จากการเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุถูกเพลิงไหม้ มี 2 ประเด็นหลัก 1. โครงสร้างและรอยร้าวของตัวอาคาร พบว่ามีการแอ่นตัวอย่างมากของบันไดระหว่างชั้นและพื้นของอาคารในแต่ละชั้น ซึ่งจากการสังเกตพบว่าพื้นนั้นมีการเปลี่ยนสีเป็นสีเทาเนื่องจากได้รับความร้อนนานหลายชั่วโมง โดยปกติแล้วโครงสร้างตัวอาคารปกติเสาคานคอนกรีตเสริมเหล็กนั้นจะสามารถทนไฟได้นานประมาณ 3 ชั่วโมง แต่ในเพลิงไหม้ครั้งนี้ได้รับความร้อนนานประมาณ 4-5 ชั่วโมงจึงทำให้โครงสร้างอาคารเกิดชำรุดและพื้นแอ่นตัว อาจเกิดอันตรายความเสี่ยงในการพังถล่มได้ 2. อาคารมีภาวะ Fireload สูง มีวัสดุติดไฟจำนวนมากทำให้ไหม้ยาวนาน เพลิงไหม้ดังกล่าวมีลักษณะของควันสีดำพวยพุ่งออกมาเป็นจำนวนมาก เกิดจากการเผาไหม้ของวัสดุพลาสติกหรือเคมีที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี

นอกจากนี้ ยังพบว่าด้านหน้าของอาคารมีการติดตั้งแผ่นสังกะสีปิดโฆษณาชื่อร้านหรือชื่ออาคารตั้งแต่บริเวณชั้นที่ 2 ถึงชั้นที่ 5 จึงเป็นอุปสรรคในการเข้าสกัดเพลิงที่ลุกไหม้ของเจ้าหน้าที่ ส่วนสาเหตุในครั้งนี้เชื่อว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรเนื่องจากในย่านดังกล่าวเป็นอาคารที่สร้างมายาวนานจึงทำให้มีสายไฟฟ้าเก่าเสื่อมหรือชำรุดทรุดโทรมไป ในส่วนอาคารข้างเคียงกับอาคารต้นเพลิงนั้นไม่ได้รับความเสียหายเนื่องจากมีการปรับปรุงและมีรอยต่อแยกจากตัวอาคารต้นเพลิง ขณะนี้ตึกเกิดเหตุปิดการใฃ้งานเพื่อป้องกันอันตราย อย่างไรก็ตามจะทำการตรวจสอบสภาพพื้นอาคารของแต่ละชั้นเพื่อป้องกันการทรุดตัวของพื้นต่อไป

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เสนอแนะผู้ประกอบกิจการและเจ้าของอาคาร โดยเฉพาะอาคารเก่าในย่านชุมชน ว่า ธุรกิจการค้าที่เจริญก้าวหน้ามั่นคงต้องควบคู่กับความปลอดภัยและนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ควรหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ – สายไฟสม่ำเสมอซึ้งอาจเก่าชำรุดหรือเสื่อมสภาพไป ปฏิบัติตามหลักแห่งความปลอดภัย ควรติดตั้งระบบดับเพลิงที่เหมาะสม เช่น ระบบน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ (Sprinkler) และระบบสัญญานแจ้งเหตุไฟไหม้ (Fire Alarm System) ซึ่งเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการตรวจจับควันหรือความร้อน และปัจจุบันราคาต่ำลง ทั้งมี Sensor สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนมือถือได้ ส่วนการติดเหล็กดัดก็ควรออกแบบให้มีบานใส่กุญแจและสามารถเปิดออกได้ยามมีเหตุฉุกเฉิน ลดความเสี่ยงของอัคคัภัยด้วยการบริหารจัดการในอาคาร ที่สำคัญคือการซักซ้อมจะช่วยให้คนในอาคารได้ทราบเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัย การสื่อสารและควรตรวจสอบการใช้งานระบบป้องกันอัคคีภัยให้พร้อมใช้ด้วย