วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาวิชาชีพและเสาหลักด้านวิศวกรรมของประเทศมายาวนาน 72 ปี นำโดย พลเอกภุชงค์ วงษ์เกิด ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมสำรวจ จัดโครงการศึกษาดูงานการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ถนนทหาร ย่านเกียกกาย เขตดุสิต ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ มูลค่าการลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำวิศวกร นักวิชาการและบุคลากรในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้พัฒนาองค์ความรู้ในงานวิศวกรรมฐานรากโครงการขนาดใหญ่ในช่วงระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งต้องขุดดินมากกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีการบริหารจัดการ แรงงาน เครื่องจักรกล ความปลอดภัย เทคนิคงานดิน รวมทั้งระบบการขนส่งเคลื่อนย้ายดิน ที่ต้องใช้การวางแผนและการควบคุมที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งถ้าหากโครงการนี้ผ่านพ้นไป วิศวกรไทยรุ่นใหม่ที่มิได้เข้าไปศึกษาดู ก็จะเป็นโอกาสยากที่จะได้เข้าไปสัมผัสประสบการณ์และเรียนรู้ระบบการทำงาน การบริหารจัดการและก่อสร้างโครงการขนาดใหญเช่นนี้ได้อีก
อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ของประเทศไทยนี้สร้างบนพื้นที่กว่า 119 ไร่ บริเวณเกียกกาย ด้านหน้าติดถนน และด้านหลังติดแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารมีชื่อว่า “สัปปายะสภาสถาน” ซึ่งหมายถึง สถานที่ประกอบกรรมดี ดังนั้น จึงออกแบบให้สอดคล้องกับแนวคิดซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมไทย และนำหลักการสถาปัตยกรรมไทยแบบแผนไตรภูมิตามพุทธคติมาเป็นแรงบันดาลใจออกแบบ อาคารเครื่องยอดสถาปัตยกรรมไทยอยู่ตรงกลางอาคารหลัก เพื่อชูสัญลักษณ์ความเป็นไทย มีการอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากรัฐสภาเดิมไว้บนยอด รวมถึงมีสนามหญ้าสีเขียวแลดูรื่นรมย์อยู่ด้านหน้า เปิดกว้างปราศจากกำแพงกั้น มีเพียงสายน้ำกั้นกลาง สื่อถึงการเปิดกว้างระหว่างประชาชนกับสมาชิกสภา อาคารมีพิพิธภัณฑ์ประชาธิปไตยสุดอลังการอยู่ชั้นบนสุด มีกำแพงแก้ว หรือ พิพิธภัณฑ์ชาติไทย เปิดโอกาสให้ประชาชนเรียนรู้ได้ มีโถงรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร และสมาชิกวุฒิสภา โถงรัฐพิธี ห้องพระสุริยัน (ห้องประชุม ส.ส.) ห้องพระจันทรา (ห้องประชุม ส.ว.) มีลานประชาชนและลานประชาธิปไตยขนาดใหญ่ สำหรับรองรับประชาชนที่ต้องการแสดงออกซึ่งสิทธิตามหลักประชาธิปไตย
ในการดูงานโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ส่วนที่เสร็จแล้วประกอบด้วยงานเสาเข็มเจาะ อาคารหลัก จำนวน 1,673 ต้น งานเสาเข็ม Pile Wall และระบบป้องกันดินพังอาคารหลัก งาน King Post และระบบป้องกันดินพังอาคารหลัก งาน Platform และระบบป้องกันดินพังอาคารหลัก งาน Bracing Layer และระบบป้องกันดินพังอาคารหลัก ส่วนงานก่อสร้างที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ งานขุดดินและขนย้ายดินจากการก่อสร้างชั้นใต้ดิน, งานประกอบโครงสร้างเสาเหล็ก, งานโครงสร้างฐานราก, งานโครงสร้างสร้างพื้นชั้นใต้ดิน, งานติดตั้งเสาเหล็กประกอบชั้นใต้ดิน เป็นต้น