วสท.คลายปมขัดแย้งเขื่อนแม่สรวย สู่ความร่วมมือ…ด้วยหลักวิศวกรรมและการมีส่วนร่วม
เขื่อนแม่สรวย จ.เชียงราย จะแตกหรือไม่ ? เป็นอีกประสบการณ์และบทเรียนที่น่าศึกษา จากภัยพิบัติแผ่นดินไหวในภาคเหนือของไทยที่อยู่บนรอยเลื่อนเปลือกไม่เพียงสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนนับหมื่นหลังในเชียงรายเท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบกับระบบสาธารณูปโภค อีกด้วย และกลายเป็นข้อขัดแย้งระหว่างชาวบ้านอำเภอแม่สรวยกับกรมชลประทาน ท่ามกลางความหวั่นวิตกว่าเขื่อนจะแตกจากรอยร้าวและรั่วซึม
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า “เขื่อนแม่สรวย นับเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ มีขนาดความจุ 73 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่สรวย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย สร้างระหว่างแนวสันเขา 2 ลูก ของหมู่บ้านสันกลาง หมู่ 2 และหมู่บ้านจอมแจ้ง หมู่ 12 ความเสียหายบนสันเขื่อนนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นความเสียหายที่ไม่เป็นอันตรายเร่งด่วน และกรมชลประทานมีแผนจะซ่อม แต่ก็ยังเกิดความไม่มั่นใจของประชาชนในเรื่องความปลอดภัยเนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อคอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุดวันที่10 กพ.58 ก็ยังมีอาฟเตอร์ช๊อคอยู่ จนขยายเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับหน่วยงานราชการ โดยชาวบ้านต้องการให้เก็บกักน้ำเพียง 60% เท่านั้นและย้ายเขื่อนแม่สรวยออกไปจากพื้นที่ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จึงได้ประสานกับชุมชนและส่งวิศวกรอาสาและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพีและวิศวกรรมโยธาด้านแหล่งน้ำ ลงพื้นที่สำรวจปัญหาที่สร้างความหวั่นวิตกให้แก่ประชาชนที่เกรงว่าเขื่อนจะแตก พร้อมจัดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นที่โรงเรียนบ้านสันกลาง อ.แม่สรวย โดย วสท.เป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนผู้อยู่อาศัยกว่า 110 ครัวเรือน จาก 8 หมู่บ้านที่อาศัยอยู่ใต้เขื่อน รวมทั้งหน่วยงานราชการกรมชลประทานเมื่อปลายเดือนมกราคม 2558 ช่วยปรับเปลี่ยนการเผชิญหน้าและข้อขัดแย้งให้เป็นการเปิดฟังข้อมูลและและร่วมกันศึกษาทางวิชาการวิศวกรรมปฐพี, โยธาและแหล่งน้ำ โดยการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภูมิลักษณะของเขื่อน อะไรที่จะก่อความเสียหายแก่เขื่อนได้บ้างในลักษณะใด ในการแก้ปัญหาสาธารณูปโภคเพื่อชุมชน วสท. ต้องการให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ได้มีส่วนร่วม ให้เขาได้เรียนรู้และมีความรู้ในเรื่องเขื่อนไปกับเราด้วย เมื่อประชาชนมีความรู้แล้ว ได้มีการแบ่งกลุ่มระดมข้อเสนอและแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางแก้ไขปัญหาเขื่อนแม่สรวย ทั้งนี้ทางกรมชลประทานได้เข้ามารับฟังและสนับสนุนข้อมูลเป็นอย่างดี กรณีเขื่อนแม่สรวยนับเป็นตัวอย่างอันดีของความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาสาธารณูปโภคชุมชน โดยเปิดข้อมูลให้ประชาชนได้รับฟังความรู้วิชาการและรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนบนพื้นฐานของประโยชน์ต่อส่วนรวม ความรู้รักสามัคคีในชุมชนและความเข้าใจกันและกัน ต่อไปในกระบวนระหว่างก่อสร้างก็อาจจะมีตัวแทน วสท. และประชาชนมาร่วมกันติดตามความคืบหน้า ตรวจสอบและเรียนรู้ หลังปรับปรุงเสร็จ ก็อาจมีคณะกรรมการดูแลเขื่อนระหว่างหน่วยงานราชการและตัวแทนประชาชนร่วมกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลระดับน้ำหรือความปลอดภัยและพัฒนาเขื่อนต่อไป
ในการควบคุมงาน, การตรวจสอบและติดตามผลระหว่างการปรับปรุงเขื่อนแม่สรวย ทาง วสท. มีความยินดีที่จะจัดทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเข้าไปช่วยดูแลให้คำแนะนำการวางแผนปรับปรุงเขื่อนแม่สรวย ทั้งในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ กระบวนการปรับปรุง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักปฏิบัติทางวิศวกรรมที่ถูกต้อง”
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมความปลอดภัยเขื่อน กล่าวว่า “เขื่อนแม่สรวย จังหวัดเชียงราย มีความสูง 59 เมตร ความยาวสันเขื่อน 400 เมตร ระดับการกักเก็บน้ำ 73 ล้านลูกบาศก์เมตร ตัวเขื่อนเป็นเขื่อนดิน โดยมีการก่อสร้างคอนกรีตบดอัดและดินบดอัด (RCC) ร่วมเพื่อเป็น spillway และส่วนทางเดินด้านบนอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) กว้าง 145 เมตร ระบายน้ำได้สูงสุด 1,145 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ประเด็นที่เราศึกษาพิจารณาในเรื่องความปลอดภัยของเขื่อนในสภาพปกติ 1. เขื่อนคอนกรีตบดอัดได้วางอยู่บนหินฐานรากที่แข็งแรงหรือที่ได้รับการปรับปรุงให้แข็งแรงแล้วหรือไม่ ดูได้จากผลการทรุดตัวที่ผ่านมามีการทรุดตัวของ RCC Spillway ซึ่งเราพบว่ามีการทรุดตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ 2. ดินบดอัดตัวเขื่อนได้บดอัดแน่นตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ ดูได้จากผลการทรุดตัวที่ผ่านมาการทรุดตัวของดินพบว่ามีการทรุดตัวอยู่ในเกณฑ์ 3. การรั่วซึมในส่วนบนใกล้สันเขื่อนหลังการก่อสร้างมีความอันตรายต่อตัวเขื่อนหรือไม่ ทั้งนี้ต้องทราบว่ารั่วส่วนใดของเขื่อน สามารถขยายการรั่วซึมได้หรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่ามีการรั่วซึมที่ตำแหน่งด้านท้ายน้ำบริเวณรอยต่อระหว่างเขื่อนดินกับคอนกรีตบดอัด ดินสามารถเกิดการทรุดตัวได้มากกว่าคอนกรีต ดังนั้นเมื่อเกิดช่องว่างทำให้น้ำไหลผ่านเข้ามาได้ 4. หน้าที่ของ Block ด้านหน้าเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเขื่อนหรือไม่พบว่าไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหลัก 5. ไหล่เขื่อนมีความมั่นคงหรือไม่
ืืืืืืืืืืืืืืืืืื ประเด็นที่พิจารณาในเรื่องความปลอดภัยของเขื่อนกรณีที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากตัวเขื่อนแม่สรวยประมาณ 15 กิโลเมตร ขณะเกิดแผ่นดินไหวมีปริมาณน้ำที่กักเก็บอยู่ในเขื่อนประมาณ 60% ประเด็นที่ต้องพิจารณา ก็คือ 1. เขื่อนดินวางอยู่บนดินตะกอนที่มีโอกาสเกิดทรายเหลวหรือไม่ อาจต้องมีการสำรวจเปิดฐานรากและสำรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสม 2. มีหลักฐานของรอยเลื่อนใต้เปลือกโลกที่มีพลังใต้ฐานเขื่อนหรือไม่ กรณีนี้ไม่มีหลักฐานปรากฏ 3. หลังการเกิดแผ่นดินไหว พบรอยแตกตามยาวหรือตามขวางบนถนนบนสันเขื่อนหรือไม่ ถ้ามีรอยแตกดังกล่าวมีขนาดกว้างเท่าไร กรณีนี้พบว่ามีรอยแตกปรากฏที่คอนกรีตและอยู่เหนือระดับน้ำสูงสุดนับว่าไม่เสี่ยงต่ออันตราย 4.หลังเกิดแผ่นดินไหวมีการรั่วซึมที่ตีนเขื่อนหรือไม่ กรณีนี้ไม่ปรากฏหลักฐาน 5. อุปกรณ์ตรวจวัดสามารถตรวจสอบความผิดปกติของการรั่วซึมและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายใน 72 ชั่วโมง กรณีนี้ไม่ปรากฏหลักฐาน 6. รอยแตกบนสันเขื่อนแตกเหนือระดับน้ำการกักเก็บน้ำสูงสุดหรือไม่ กรณีนี้พบว่ามีรอยแตกบนสันเขื่อนบริเวณเหนือระดับการกักเก็บน้ำสูงสุด ซึ่งจะไม่ส่งผลต่อการรั่วซึม
ความมั่นคงของไหล่เขื่อนแม่สรวยฝั่งเจดีย์ ไหล่เขื่อนฝั่งขวามีดินไถลลงมา เกิดจากการระบายน้ำที่ไม่ถูกต้อง ในขณะที่ตัวเจดีย์ที่มีลักษณะเอียง พบว่าที่ยอดเจดีย์เอียงนั้นเป็นเพราะโครงสร้างภายในเจดีย์ส่วนบนเสียหายจากแรงแผ่นดินไหว เสาต้นหนึ่งหักจึงทำให้เจดีย์เอียง ส่วนกรณีเสียงดังจากการระบายน้ำในเขื่อนแม่สรวย เขื่อนแม่สรวยเป็นเขื่อนที่ การระบายน้ำผ่านในปริมาณมากจึงมีเสียงดังเกิดขึ้น การแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงดัง จึงจำเป็นต้องซ่อมหรือเปลี่ยนประเภทของประตูระบายน้ำใหม่
แนวทางปรับปรุง ซ่อมเขื่อนแม่สรวย / แผนดำเนินการ โดยสรุปการสำรวจความเสียหายไม่กระทบต่อโครงสร้างของเขื่อนจนถึงขั้นที่จะต้องมีการรื้อถอน แต่จะต้องแก้ไขด้วยการรื้อบล็อกทางเดินส่วนบนบล็อกทั้งสองข้างออก แล้วควรจะทำใหม่ด้วยวัสดุที่รองรับแผ่นดินไหวที่มั่นคงแข็งแรง อย่างเทคนิคการก่อสร้างออกแบบให้รองรับกับแรงแผ่นดินไหวโดยตรงและมีความปลอดภัยสูง รวมไปถึงการแก้ไขระบบระบายน้ำใหม่ให้ระบายน้ำได้ 100%
แนวทางในการซ่อมเขื่อนแม่สรวยโดยรวมประกอบด้วย การปรับปรุงตัวเขื่อนเพื่อไม่ให้มีการรั่วซึมในส่วนบนของสันเขื่อน ณ บริเวณรอยต่อของดินถมกับคอนกรีตบดอัด, ซ่อมแซมรอยรั่วและปรับปรุงด้วยวัสดุใหม่, ปรับปรุงรอยรั่วเฉพาะจุดที่มีปัญหา, ซ่อมแซมรอยรั่วและปรับปรุงด้วยวัสดุมวลเบาและกำแพงเสริมแรง, การปรับปรุง Block ด้านหน้าหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบ, การปรับปรุงไหล่เขื่อนฝั่งขวาไม่ให้มีการกัดเซาะหรือการยุบตัวของไหล่เขา, การปรับปรุงท่อระบายน้ำเพื่อไม่ให้มีเสียงดังและสามารถระบายน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ, เสริมประสิทธิภาพพื้นที่ชลประทาน, การติดตั้งหอเตือนภัยและอุปกรณ์ ระบบไฟส่องช่วยทำให้เห็นบริเวณรอยรั่วที่น้ำซึมออกจากตัวเขื่อนและอาจเชื่อมโยงกับสัญญาณเตือนภัย
รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ที่ปรึกษาอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึงการบริหารความปลอดภัยและการมีส่วนร่วมของประชาชนว่า “เขื่อนแม่สรวยและบ้านสันกลางอยู่ในพื้นที่แผ่นดินไหว จึงควรให้ประชาชนได้เรียนรู้และเตรียมความพร้อมที่จะอยู่ร่วมกับสภาวะแวดล้อมจากผลกระทบแผ่นดินไหวอย่างมั่นใจและสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง เพื่อใช้ชีวิตอย่างปกติและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยการวางแผนการสื่อสารเมื่อเกิดอุบัติภัยและการซักซ้อมการอพยพกรณีมีเหตุฉุกเฉิน โดยอาจจะมีการแบ่งกลุ่มชาวบ้านออกเป็นกลุ่มย่อยตามลักษณะของพื้นที่อาศัย มีการกำหนดจุดนัดหมายที่ชัดเจนในการรวมพล กำหนดเส้นทางอพยพสู่ที่ปลอดภัย เมื่อกำหนดแผนการอพยพเสร็จแล้วควรมีการซักซ้อมอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และควรเริ่มซักซ้อมภายในปี 2558 นี้เลยก่อนการซ่อมสร้างเสร็จในปีถัดไป เพื่อจะได้ฝึกฝนการเตรียมพร้อมของชุมชน,ลดความตระหนกและปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง ทำให้ประชาชนอุ่นใจในชีวิตและความปลอดภัย”
———————————————————————————————-
PR AGENCY : บริษัท เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BrainAsia Communication)
Tel. : 081-899-3599, 086-341-6567 02-911-3282
Fax. : 02-911-3208 E-mail :brainasiapr@hotmail.com