“วราวุธ” ย้ำแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งต้องคุ้มค่า ลดปัญหาพื้นที่ข้างเคียง
“ปลัดจตุพร”มอบ กรมทะเลติดตามใกล้ชิดพร้อมต่อยอดระบบรายงานสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่ง
ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง นับเป็นปัญหาที่หลายหน่วยงานพยายามแก้ไขปัญหาและกลายเป็นปัญหาระดับชาติ ในบางพื้นที่การแก้ไขปัญหาโดยโครงสร้างทางวิศวกรรมกลับส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงดั่งตัวอย่างการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล บริเวณพื้นที่ชายฝั่งหาดม่วงงาม ที่เครือข่ายประชาชนรักษ์หาดม่วงงาม เรียกร้องให้หยุดดำเนินการ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำการแก้ไขปัญหาต้องคิดให้รอบคอบก่อนดำเนินการ นอกจากนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยแนวทางการจัดการปัญหากัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นระบบผ่านแนวคิดระบบหาด เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนได้รับทราบสรุปรายงานสถานการณ์พื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยช่วงปี 2562 มีระยะทางรวม 91.69 กิโลเมตร มีพื้นที่ที่กัดเซาะรุนแรงที่ต้องการแก้ไขเร่งด่วนระยะทาง 12.87 กิโลเมตร ซึ่งส่วนมากมีสาเหตุมาจากกิจกรรมมนุษย์และผลกระทบที่เกิดจากโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่ได้ดำเนินก่อสร้างแล้ว แต่ส่งผลต่อพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งในหลายพื้นที่ก็กลายเป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐและชุมชน อย่างกรณี การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล บริเวณพื้นที่ชายฝั่งหาดม่วงงาม ที่เครือข่ายประชาชนรักษ์หาดม่วงงาม เรียกร้องให้หยุดดำเนินการ เนื่องจาก พื้นที่ดังกล่าวไม่ประสบปัญหาการกัดเซาะ ซึ่งศาลปกครองจังหวัดสงขลาให้มีคำสั่งให้หยุดดำเนินการชั่วคราว เพื่อศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นก่อน ซึ่งตนได้สั่งการให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับและสั่งการให้หน่วยงานเร่งสำรวจและกำหนดแนวทางมาตรการการแก้ไขอย่างเป็นระบบ โดยต้องคำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนาและการอนุรักษ์
“ระบบนิเวศทางธรรมชาติ ถูกออกแบบ โดยสร้างความสัมพันธ์ทุกอย่างไว้อย่างลงตัว
และธรรมชาติได้กำหนดทิศทางและความเป็นไปทุกอย่างไว้แล้ว
มนุษย์ที่มีหน้าที่สร้างและรักษาความสมดุล ไม่ใช่พยายามเปลี่ยนแปลงความสมดุล
การแก้ไขปัญหาไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่การแก้ไขปัญหาที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่างหาก ที่ผิด”
ตนเชื่อว่าการก่อสร้างโครงสร้างเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะเกิดจากความตั้งใจดีของหน่วยงานที่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ แต่ต้องขอให้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หรือความจำเป็น และความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ด้วย และสิ่งสำคัญที่ตนอยากฝากไว้ คือ การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง การเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้เข้ามาร่วมคิดร่วมทำในขั้นตอนต่าง ๆ จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจและความร่วมมือร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี ในเรื่องเดียวกันนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นหน่วยงานที่กำกับในเชิงนโยบายและนำเสนอมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยที่ผ่านมาได้เสนอคณะกรรมการนโยบายและแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการแบ่งระบบกลุ่มหาด จำนวน 8 กลุ่มหาดหลัก และระบบหาดย่อย 318 ระบบหาด ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งสามารถดำเนินการแก้ไขได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจาก ปัญหาที่เกิดขึ้นจะกระทบทั้งชีวิต ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน และสมดุลระบบนิเวศ ตนได้ย้ำทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่ หากพบว่ากิจกรรมหรือโครงการใดอาจก่อให้เกิดปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ให้อาศัยอำนาจตามมาตรา 21 หรือ 17 ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ทันที เพื่อระงับและป้องกันปัญหาก่อนที่จะสร้างผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและระบบนิเวศอื่น ๆ ข้างเคียง
ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เสนอแนวทางและมาตรการในการแก้ไปปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ได้รับความเห็นชอบต่อแนวทางดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ซึ่งได้กำหนดมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งไว้อย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสีขาว – การปล่อยฟื้นฟูตามธรรมชาติ มาตรการสีเขียว – การปลูกป่าและใช้วัสดุธรรมชาติ และมาตรการสีเทา – การใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม อย่างไรก็ตาม พี่น้องประชาชนสามารถตรวจสอบสถานการณ์และสถานภาพชายฝั่งทะเลของประเทศไทยได้จากระบบฐานข้อมูลเชิงพื้นที่การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทย ซึ่งกรม ทช. ได้ร่วมกับ GISTDA จัดทำขึ้น โดยเข้าไปตรวจสอบผ่านทางระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในหน้าเว็ปไซต์ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งนี้ กรมอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบให้สามารถตรวจสอบได้ทาง Mobile Application ซึ่งจะสามารถติดตามสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที อีกทั้ง ยังสามารถรายงานปัญหาด้านการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ได้อีกด้วย โดยคาดว่าระบบดังกล่าวจะสามารถใช้งานได้ภายในปี 2564 นายโสภณ ทองดี กล่าวในที่สุด