วท. วาง “โรดแมปบิ๊กร็อกแก้จน” ยกระดับเกษตรกร 40,000 รายและกลุ่มเกษตรกร 2,000 กลุ่มผ่านโครงการ 1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร กับ โครงการยกระดับโอทอป ใน 10 จังหวัดยากจน 2,000 กลุ่มพร้อมวางโครงสร้างพื้นฐานชุมชน จัดตั้งหมู่บ้านวิทยาศาสตร์ศาสตร์พระราชาทั่วประเทศ สร้างอาสาสมัครวิทยาศาสตร์ 10,000 คน นักวิทยาศาสตร์ชุมชน 150,000 คน เผยหารือ “บัณฑูร ล่ำซำ”แล้วลงพื้นที่นำร่อง “น่าน” เม.ย.นี้
เมื่อวันที่ 19 มี.ค.รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการบิ๊กร็อก (Big Rock) เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ และประธานคณะอนุกรรมการ 3 ชุด คือ คณะอนุกรรมการวิทย์สร้าง คณะอนุกรรมการวิทย์แก้จนและยกระดับภูมิภาค และคณะอนุกรรมการวิทย์เสริมแกร่ง เพื่อเร่งรัดให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการแต่ละชุดได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการ อาทิ ชุดวิทย์แก้จน จะมีการจัดทำแผนที่นำทางหรือโรดแมปเพื่อขับเคลื่อนนโยบายวิทย์แก้จนและเสริมแกร่งภูมิภาคของ วทน.แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.วิทย์สร้างรายได้ จะมีโครงการ 1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร เพื่อยกระดับเกษตรกร 40,000 รายและกลุ่มเกษตรกร 2,000 กลุ่ม ให้ก้าวเข้าสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์หรือเกษตรอัจฉริยะ กับ โครงการยกระดับโอทอป ใน 10 จังหวัดยากจน 2,000 กลุ่ม เบื้องต้นได้มีการหารือกับนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย ไปแล้ว เพื่อเตรียมลงพื้นที่ จ.น่าน 1 ใน 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศไทยที่ วท.จะใช้เป็นจังหวัดนำร่อง ในเดือน เม.ย.นี้ 2.วิทย์สร้างพื้นฐาน เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานให้กับชุมชน เพราะถ้ามีการวางพื้นฐานที่ดีจะสามารถแก้จนได้ตรงจุด จะมีโครงการชุมชนวิทย์ จัดตั้งหมู่บ้านวิทยาศาสตร์พระราชา 89 แห่งทั่วประเทศพร้อมกับสร้างอาสาสมัครวิทยาศาสตร์ จำนวน 10,000 คน นักวิทยาศาสตร์ชุมชน จำนวน 150,000 คน ที่อาจจะมีการใช้นักเรียนทุนของ วท. เป็นแกนหลักในการดำเนินงาน ที่สำคัญจะมีการวางระบบบริหารจัดการน้ำผ่านกองทุนหมู่บ้านและมูลนิธิอุทกพัฒน์ 800 แห่ง เพราะทั้ง 2 หน่วยงานถือเป็นกลไกที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด อย่าง จ.น่าน จะลงไปแก้ปัญหาเรื่องน้ำด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพราะแม่น้ำน่าน เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ถ้าแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ ประชาชนจะไม่ยากจน เป็นต้น ทั้งนี้ จะมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กองทุนหมู่บ้าน บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นต้น
“จากนี้จะมีการหารือกับตัวแทนในการขับเคลื่อนหรือมีการตั้งผู้จัดการโครงการของในแต่ละจังหวัดให้เป็นผู้รับผิดชอบหลัก เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างจริงจังใน จ.น่าน ก่อน ขณะที่อีก 9 จังหวัดยากจนก็จะมีการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน เช่น เรื่องโอทอป จะเน้นตลาดเป็นตัวนำ เช่น หารือในเรื่องการตลาด การเน้นการออกแบบโดยให้นักออกแบบผลิตภัณฑ์มามีส่วนร่วมในการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ หาตลาดก่อนเลือกการพัฒนา เป็นต้น” ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ กล่าว
ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ กล่าวต่อว่า ขณะที่ในส่วนวิทย์สร้างคน กำลังเร่งดำเนินการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใน 4 ภูมิภาค คือที่ จ.เชียงใหม่ ขอนแก่น ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา และกรุงเทพฯ โครงการเพิ่มผู้เรียนในห้องวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (วมว.) เป็นต้น ส่วน วิทย์เสริมแกร่ง จะเร่งรัดจัดตั้งโครงการโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร ที่ จ.เชียงใหม่ จะมีการลงไปดูพื้นที่ในเดือน พ.ค.นี้ เป็นต้น ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้คณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุดรายงานความคืบหน้าการดำเนินการกับตนทุก 1 เดือน ซึ่งในแต่ละเดือนจะต้องระบุผลผลิตของงานได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญจะเน้นที่การบริหารเครื่องมือ โดยทุกโครงการจะต้องระบุเครื่องมือที่จะนำไปใช้ ซึ่งก็คือองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ ตัวเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมใช้และถ่ายทอด เพื่อนำไปแก้ปัญหา ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชนได้อย่างตรงจุด รวมถึงต้องมีการประสานความร่วมมือไปในทุกภาคส่วน สร้างการมีส่วนร่วม เพื่อความยั่งยืนในวันข้างหน้าด้วย