1

ลดน้ำหนักถูกต้อง แต่ทำไมน้ำหนักไม่ลด!

การลดน้ำหนักที่ถูกต้องคือ การควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย แต่ทำไม๊ ทำไม! ตัวเลขบนตราชั่งถึงไม่กระดิกลดลงเป็นกำลังใจให้เลย จึงทำให้ความเชื่อเรื่องการลดน้ำหนักกลับกลายเป็นศูนย์ หมดกำลังใจ ล้มเลิกลดน้ำหนักไปแบบดื้อๆ
ซึ่งความจริงแล้ว ตัวเลขของน้ำหนักตัวบนตราชั่งไม่สามารถวัดอะไรได้มากนัก เพราะน้ำหนักตัวเราจะเพิ่มหรือลดลง ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น นอนดึก สูญเสียน้ำระหว่างวัน กินยาแก้เครียด กินเยอะไป กินเค็มจัด เป็นต้น
ฉะนั้น อย่าพิสูจน์น้ำหนักตัวจากเครื่องชั่งน้ำหนัก เพราะมันไม่ได้การันตีว่า ถ้าน้ำหนักคุณลด แล้วสัดส่วนคุณจะลดตาม! จึงอยากแนะนำวิธีพิสูจน์เรื่องการลดน้ำหนักจากการวัดสัดส่วนของตัวเรา พร้อมกับบันทึกเก็บไว้เป็นระยะ โดยวัดจากตำแหน่งของรอบอก รอบเอว สะโพก ต้นแขน และตันขาทั้งสองข้าง หรือส่องกระจกประเมินตัวเองว่า รูปร่างกระชับขึ้น กางเกงตัวเก่งที่เคยฟิตเริ่มหลวมแล้วหรือยัง!

ช่วงแรกของการลดน้ำหนัก
ช่วงแรกอาจทำให้น้ำหนักลดลงได้เร็ว เนื่องด้วยร่างกายยังไม่ชิน ปรับตัวไม่ทัน หรือมีปริมาณไขมันสะสมอยู่มาก เมื่อผ่านไปซักระยะร่างกายจะปรับตัวและเริ่มชะลความเร็วในการลดน้ำหนักลง การลดลงของน้ำหนักตัวนั้นจะเริ่มช้าลงในทุกๆ กิโลกรัมที่เราลดออกไป หากมีช่วงที่หยุดนิ่งเป็นระยะ ช่วงที่หยุดนิ่งนานๆ หลายคนก็ตีโพยตีพายว่าทำไมน้ำหนักไม่ลดลง ทั้งเหนื่อย และหมดกำลังกาย ไม่ได้กินในสิ่งที่อยากกิน เกิดความเครียดไปกันใหญ่

ดังนั้น หากน้ำหนักนิ่งติดต่อกัน 3-4 สัปดาห์ต่อเนื่อง อาจเป็นตัวชี้วัดว่าร่างกายเริ่มเคยชินกับโปรแกรมการออกกำลังกายและอาหารแล้ว ให้ลองเปลี่ยนโปรแกรมแบบเดิมๆ เช่น สลับเปลี่ยนหมุนเวียนอาหาร สลับวันและโปรแกรมการออกกำลังกาย เพิ่มความหนักของการออกกำลังกาย หรือลองคิดดูว่า เราพลาดตรงไหน! ให้ลองหยุดพักผ่อนซักสัปดาห์แล้วค่อยกลับมาลดใหม่เพื่อคลายความดึงเครียดจากการลดน้ำหนักที่ติดต่อกันนานเกินไป

กล้ามเนื้อหนักกว่าไขมัน
ไขมันในร่างกายเรามีลักษณะโครงสร้างคล้ายๆ ฟองน้ำ คือมีขนาดใหญ่และน้ำหนักเบา ส่วนกล้ามเนื้อมีโครงสร้างเป็นเส้นใยพันไปมาเหมือนเกลียวเชือกมีความหนาแน่นมากกว่า เมื่อนำสองสิ่งนี้มาเทียบกันในน้ำหนักที่เท่ากัน กล้ามเนื้อที่มีความหนาแน่นมากกว่าจะมีขนาดเล็กกว่าไขมันอยู่ประมาณ 1-1.5 เท่าตัว เมื่อเราลดน้ำหนักโดยสลายไขมันไป สิ่งที่คงเหลือไว้คือกล้ามเนื้อจึงทำให้ปริมาณของน้ำหนักตัวคงที่ หรือลดลงน้อยในขณะที่รูปร่างมีขนาดเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด

การกินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ร่างกายมีระบบเลือด ระบบทางเดินหายใจ การเต้นของหัวใจ และโดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อดีขึ้น
สำหรับคนที่ออกกำลังกาย + ควบคุมอาหาร ทำให้กล้ามเนื้อมีการสะสมพลังงานแหล่งที่มาจากอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (ไกลโคเจน) เพื่อเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้ในการดำรงค์ชีวิตและการทำกิจกรรมต่างๆ โดยจะมากหรือน้อยขึ้นนั้นอยู่กับปริมาณกล้ามเนื้อและลักษณะการออกกำลังกาย
ข้อดีของการมีกล้ามเนื้อมากขึ้น คือทำให้เราเก็บสะสมพลังงานสำรองที่มาจากคาร์โบไฮเดรตได้มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะกินแล้วไม่ได้ออกกำลังกายเราจะยังควบคุมน้ำหนักได้ดี อ้วนยากขึ้น และการสะสมไกลโคเจนนี้จะไม่ทำให้เราดูอ้วนเหมือนการสะสมไขมัน จึงทำให้ดูรูปร่างดีขึ้น เฟิร์มขึ้น ถึงแม้ตัวเลขน้ำหนักตัวไม่ลงมากอย่างที่ตั้งเป้าไว้ก็ตาม

เพราะฉะนั้น คนที่ลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย อย่ากังวลผลที่เกิดจากตัวเลขบนตราชั่งมากจนเกินไป แต่ให้ดูในเรื่องของสัดส่วนสภาพร่างกายมากกว่า และควรหมั่นทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อรูปร่างที่ดี กระชับ สุขภาพแข็งแรง เพราะนั่นเป็นเป้าหมายในอนาคตที่จะทำให้คุณมีร่างกายที่แข็งแรง และห่างไกลจากโรคภัยต่างๆ