ร่วมรักษาหัตถกรรมชั้น “ครู” ที่ใกล้สูญหาย ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา ผ่านมุมมองของครูช่างผู้สืบทอดมรดกแห่งกาลเวลา ทั้ง 11 งานศิลปะ
งานศิลปหัตถกรรม คือหนึ่งสิ่งที่สามารถสะท้อนประวัติศาสตร์ของชาติออกมาได้เป็นรูปธรรมที่สุด บนหัตถกรรมหนึ่งชิ้นไม่ได้มีเพียงแต่ผิวสัมผัสรูปธรรมที่บ่งบอกอายุของมันเท่านั้น เพราะทุกลวดลาย ทุกสีสัน ทุกรูปทรง ล้วนแต่เป็นเหมือนหลักฐานที่บันทึกประวัติศาสตร์จากอดีตที่ส่งต่อผ่านกาลเวลามาให้คนรุ่นหลังได้รู้ถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต ไปจนถึงความเชื่อแต่กาลก่อนทั้งนั้น บทความนี้จะนำพาไปทำความรู้จักกับมรดกแห่งกาลเวลาที่ใกล้สูญหาย เป็นตัวอย่างแห่งงานศิลปหัตถกรรมที่ใกล้สูญหาย จากบรรดาบุคคลชั้น ครู ที่ได้รับการเชิดชูโดย ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) ที่ในวันนี้ ถือเป็นบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญยิ่งที่ยังคงเป็นผู้สืบทอดมรดกแห่งบรรพบุรุษ ผ่านการสรรสร้างและรักษาให้ดำรงคงอยู่โดยไม่สูญหายไปตามกาลเวลา จากนิทรรศการ “หัตถกรรมชั้น “ครู” ที่ใกล้สูญหาย”
หนังใหญ่ “…มหรสพที่แสดงถึงศิลปะชั้นสูงที่ใกล้สูญหาย” หนังใหญ่ เป็นมหรสพที่มีมาแต่สมัยโบราณที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นมหรสพชั้นสูง ที่รวมเอาศิลปกรรมหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน หนังใหญ่ มีชื่อเรียกที่มาจากสิ่งที่ใช้แสดงคือ ตัวหนัง ซึ่งแกะสลักจากหนังวัวหรือหนังควาย จากภูมิปัญญาและทักษะความชำนาญฝีมือช่าง ที่ใช้การแกะหรือตอกตัวหนังขึ้นเป็นรูปที่มีขนาดใหญ่ ปัจจุบันการแสดงหนังใหญ่ ไม่มีให้คนรุ่นหลังได้ชมแล้ว คงเหลือเพียงการแสดงเพื่อศึกษาในบางพื้นที่ อย่างที่ในพิพิธภัณฑ์วัดขนอน จ.ราชบุรี วัดสว่างอารมณ์ จ.สิงห์บุรี และ วัดบ้านดอน จ.ระยอง อีกทั้งช่างฝีมือ หรือเหล่าบรรดาครูช่างผู้มีความรู้ในการตอก การเชิด และการพากย์หนังอย่างครบถ้วน ก็เหลืออยู่น้อยเต็มทีจนแทบจะสูญหายแล้ว
ครูวีระ มีเหมือน ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2552 ในประเภทงาน ตอกหนังใหญ่ กล่าวไว้ว่า “หนังใหญ่เป็นศิลปะพิเศษที่รวมเอาหลากหลายศิลปกรรมไว้ด้วยกัน แต่เดิมคนโบราณจะปลูกโรงขึงผ้าสีขาวผืนใหญ่ หนังที่นิยมนำมาเชิดคือหนังวัวหนังควายตัวเมีย ที่มีอายุ เพราะหนังจะอ่อนลงและตอกง่ายขึ้น เมื่อหนังใหญ่มีการพัฒนาขึ้น ตัวหนังก็แบ่งประเภทเป็นหนังกลางวันที่ปิดทองและหนังกลางคืนที่ไม่ปิดทอง และยังแบ่งแบบหนังในงานมงคลที่ลงสีสัน รวมถึงงานอวมงคลที่ไม่ลงสีด้วย การแสดงหนังใหญ่คือศิลปะที่มีการใช้ภาษาอันหลากหลาย เพื่อพากย์เป็นเรื่องราว ดังนั้นเมื่อภาษาโบราณเริ่มเลือนหายไป หนังใหญ่ก็เลือนหายตามไปด้วย การจะอนุรักษ์หนังใหญ่จึงไม่ใช่แค่เรียนรู้วิธีการทำหนังเท่านั้น หากแต่ต้องเรียนด้านอื่นๆ ควบคู่ไปให้สุดทาง จึงจะมีโอกาสรักษางานหนังใหญ่ เหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักอย่างลึกซึ้ง”
งานคร่ำโบราณ “…ตกแต่งลวดลายฝังเส้นเงินหรือเส้นทองลงไปในเหล็ก” งานคร่ำ หรือ “เครื่องคร่ำ” เป็นงานช่างโบราณประเภทหนึ่ง ที่เชื่อว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา งานคร่ำ มีวิธีตกแต่งลวดลายด้วยการฝังเส้นเงินหรือเส้นทองลงไปในเหล็ก ส่วนขั้นตอนการฝังเหล็กให้เป็นลวดลายจะขึ้นอยู่กับฝีมือของช่าง และด้วยวิธีการทำที่ยากและขั้นตอนซับซ้อน “งานคร่ำ” จึงถูกจัดให้เป็นงานหัตถศิลป์ชั้นสูง จึงทำให้งานคร่ำหาช่างผู้มีความชำนาญได้ยาก จนเกือบจะสูญหายและไม่เหลือผู้สืบทอดแล้วในปัจจุบัน
ครูอุทัย เจียรศิริ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2562 ในประเภทงานเครื่องถม และงานคร่ำโบราณ กล่าวว่า “…การทำงานคร่ำจะเริ่มบนเหล็กที่ไม่มีอะไรเลย ช่างต้องฝึกเขียนลายให้เป็น ต้องวางเส้น ลงลาย จัดระเบียบลายด้วยตัวเอง ส่วนขั้นตอนการสับเหล็กจะขึ้นกับฝีมือช่าง เช่น ของเขมรจะสับ 3-4 ครั้ง แต่เขาจะลงลายละเอียดได้ไม่เท่าของไทย ส่วนของไทยจะสับครั้งมากกว่านั้น ทั้งยังมีเทคนิคการลบและสับใหม่ได้ในผู้ที่ชำนาญจริงๆ แต่ถึงอย่างไร งานคร่ำก็ไม่ใช่หัตถกรรมที่คนทั่วไปหาซื้อ ผู้ที่ซื้อและสะสมส่วนใหญ่เป็นคนยุคเก่า และงานนั้นก็ต้องเป็นงานของช่างผู้มีชื่อเสียงด้วย เพราะฉะนั้นหากเราไม่พยายามอนุรักษ์และฟื้นฟู สักวันงานคร่ำโบราณก็คงสูญหายไม่เป็นที่รู้จักอีกต่อไป”
น้ำต้น “คนโทที่สืบทอดมาจากงานฝีมือของช่างชาวเงี้ยว” ภาชนะที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวล้านนามาช้านาน สันนิษฐานว่า น้ำต้น หรือ “คนโท” สืบทอดมาจากงานฝีมือของช่างชาวเงี้ยว หรือชาวไทยใหญ่ ส่วนใหญ่นิยมนำมาบรรจุน้ำดื่ม หรือเป็นภาชนะใส่ดอกไม้เพื่อบูชาในพิธีกรรมต่างๆ ในปัจจุบันช่างปั้นต้นน้ำ หรือ “สล่า” มีเหลืออยู่เพียงไม่กี่คน และนับวันจะหายไปจากชีวิตของชาวล้านนา
ครูสมทรัพย์ ศรีสุวรรณ์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2563 ในประเภทงานน้ำต้น กล่าวว่า “…คนโทในชุมชนหมู่บ้านน้ำต้น อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ความจริงนั้นสูญหายไปแล้ว แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะฟื้นฟูภูมิปัญญาการปั้นน้ำต้น ทำให้ครูต้องศึกษาข้อมูลน้ำต้นใหม่ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ไปจนถึงการสืบเสาะหางานหัตถกรรมน้ำต้นในลุ่มน้ำโขงทั้งหมด อย่างน้อยใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ยาวไปถึง ไทลื้อ (12 ปันนา) รัฐฉานบางส่วน ล้านช้าง เพื่อนำผลที่ได้จากการศึกษาในอดีต มาสร้างเป็นน้ำต้นชิ้นใหม่ ให้กลับมาคงอยู่บ้านน้ำต้นและชาวล้านนา และเพื่อให้หัตถกรรมชิ้นนี้เป็นที่รู้จักในปัจจุบัน ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา”
งานประดับมุก “ศิลปะการตกแต่งที่มีความวิจิตรแวววาวจากเปลือกหอย” หนึ่งในงานช่างชั้นสูงที่มีมาแต่โบราณกาล ในอดีต งานประดับมุก ส่วนใหญ่ ทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องใช้สำหรับชนชั้นสูงในราชสำนัก และพระพุทธศาสนา เป็นสำคัญ ทำโดยช่างหลวง งาน “เครื่องประดับมุก” จึงถือเป็นของสูงค่า ที่กลายเป็นข้อจำกัดในเรื่องการ สืบทอด และการใช้สอย ศิลปหัตถกรรมแขนงนี้ จึงนับวันที่จะเลือนหายไปจากสังคมไทย
ครูจักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2555 ในประเภทงานเครื่องประดับมุก กล่าวไว้ว่า “…ครูโบราณจะใช้หุ่นที่ทำจากหวายจักสานขึ้นรูป แล้วนำหุ่นมาลงรักด้วยยางไม้ธรรมชาติ ด้วยการใช้ยางรักผสมถ่านที่ได้จากเปลือกไม้เผา แล้วผสมกับยางรัก เรียกว่า “รักสมุก” หลังจากนั้นเอามาถมลงบนลายที่ผ่านการออกแบบ ฉลุทีละชิ้นจนเต็มพื้นที่ แล้วเช็ดชักเงา ขัดมันด้วยน้ำมันพืช จึงจะได้งานประดับมุกหนึ่งชิ้น ด้วยขั้นตอนที่ยากลำบาก วัตถุดิบที่หายาก ประกอบกับการสืบทอดและการใช้สอยที่ลดน้อยลง “งานประดับมุก” จึงเป็นศิลปหัตถกรรมที่เหลือเพียงกลุ่มช่างไม่กี่ราย ที่ยังทำหน้าที่อนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญานี้ เพื่อดำรงไว้ไม่ให้สูญหายไปจากพื้นแผ่นดินไทย”
งานเขียนลายรดน้ำ “รดน้ำยาให้หลุดออกแล้วจะปรากฏลวดลายสีทองอร่ามที่งดงาม” งานประณีตศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ในสมัยโบราณจะพบ งานเขียนลายรดน้ำ สำหรับตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ในราชสำนัก เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา ตลอดจนถึงเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ งานเขียนลายรดน้ำแบบโบราณ จะเริ่มด้วยการใช้น้ำยาหรดาล เขียนบนพื้นซึ่งทาด้วยยางรัก เขียนเสร็จแล้วจึงเช็ดรัก ปิดทองคำเปลว แล้วเอาน้ำรดน้ำยาหรดาลให้หลุดออก แล้วจะปรากฏเป็นลวดลายสีทองอร่ามที่งดงาม
ครูธานินทร์ ชื่นใจ ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2555 ในประเภทงานเขียนลายรดน้ำและลงรักปิดทอง กล่าวว่า “…โดยปกติแล้วงานเขียนลายรดน้ำ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่ด้วยวัสดุหลักที่ใช้เป็นทองคำแท้ที่มีราคาสูง ทำให้คนไม่คิดจะทำหากไม่มีความเชี่ยวชาญจริง ปัจจุบันช่างรุ่นใหม่จะใช้สีแทนทองคำในการฝึกฝนให้เกิดความเชี่ยวชาญ จึงจะเปลี่ยนมาใช้ทองคำจริง อีกทั้งนอกจากจะต้องหมั่นฝึกฝนแล้ว ช่างรุ่นเก่าและใหม่ยังต้องหมั่นทำการดูแล มุ่งมั่นรักษา และเพิ่มความเข้าใจ ปรับตัวพัฒนางานโบราณมาสู่งานสมัยใหม่ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าความสำคัญที่จะอนุรักษ์ของเก่าๆ ต่อไปในอนาคต ไม่ให้งานเขียนลายรดน้ำเกิดการสูญหายไป”
อังกะลุง “…เขย่าให้กระบอกไปกระทบกับรางไม้เกิดเป็นโทนเสียงเฉพาะตัว” เครื่องดนตรีโบราณทำขึ้นจากไม้ไผ่ลาย เสียงของ อังกะลุง เกิดจากการเขย่าให้กระบอกไปกระทบกับรางไม้ เกิดโทนเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นับเป็นเครื่องดนตรีที่แฝงไปด้วยภูมิปัญญาและศิลปะทางดนตรี ที่ปัจจุบันแทบจะสูญหายไปจากสังคมไทย และคนรุ่นหลังก็แทบไม่รู้จักแล้ว
ครูพีรศิษย์ บัวทั่ง ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2559 ประเภทงานอังกะลุง เล่าว่า “…ความยากของการทำอังกะลุงอยู่ที่ไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุกระบอกทรงกลม ทำให้เทียบเสียงได้ลำบาก ต่างจากผืนทุ้ม ผืนระนาด ที่มีลักษณะแบนเทียบเสียงง่ายกว่า ช่างทำอังกะลุงต้องเลื่อยเอาไม้ออก แล้วฟังเสียงภายในกระบอกที่ทั้งฟังยาก เทียบด้วยเครื่องไฟฟ้าก็ลำบาก สิ่งสำคัญคือช่างต้องเป็นนักดนตรี รู้จักเสียงดนตรี เพื่อที่จะใช้ปากเป่าฟังเสียงมาเทียบเสียงให้ตรงทั้งแบบไทยและสากล ซึ่งหากช่างไม่รู้จักดนตรีดีพอ การทำอังกะลุงก็เป็นเพียงแค่การเอาไม้ไผ่มาผ่าเฉยๆ ช่างรุ่นใหม่จึงต้องใช้ทั้งความรู้และความตั้งใจ เพื่อจะอนุรักษ์ให้คนรุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นหลัง ได้รู้จักเครื่องดนตรีที่สะท้อนภูมิปัญญา โดยไม่สูญหายไปจากผืนแผ่นดินไทย”
บาตรโบราณ “…บาตรบุ ทำขึ้นด้วยมือแบบดั้งเดิมด้วยเหล็ก 8 ชิ้น” หนึ่งในอัฐบริขารที่บัญญัติไว้ในพระธรรมวินัย บาตรโบราณ หรือ “บาตรบุ” เป็นบาตรที่ทำขึ้นด้วยมือแบบดั้งเดิม ประกอบด้วยเหล็ก 8 ชิ้น ปัจจุบันเหลือเพียงกลุ่มช่างที่ “ชุมชนบ้านบาตร” ที่ยังยืนหยัดสืบสานการตีบาตรแบบภูมิปัญญาโบราณนี้ไว้เพียง 3 ครอบครัว
ครูหิรัญ เสือศรีเสริม ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2559 ในประเภทบาตรโบราณ กล่าวไว้ว่า “…งานบาตรโบราณทำมือเป็นมรดกของบรรพบุรุษที่แทบจะไม่มีผู้สืบทอดแล้ว อีกทั้งงานบาตรโบราณถือเป็นหัตถกรรมที่มีความยากในทุกขั้นตอน ไล่ตั้งแต่ ตีขอบ, ต่อบาตรขึ้นรูป, แล่นบาตร, ตีตะเข็บ, ลายบาตรให้เป็นรูปทรง, ตีเม็ดให้เรียบ, ตะไบบาตร และลงดำกระสุนเขียว ซึ่งต้องใช้ทั้งความอดทน เวลา และประสบการณ์ จึงจะสามารถทำบาตรให้สำเร็จครบตามขั้นตอนต่างๆ ได้ ปัจจุบันครูช่างที่ชุมชนบ้านบาตร ต่างพยายามส่งต่อความรู้งานทำบาตรโบราณตีมือให้คนรุ่นใหม่ เพื่อไม่ให้ภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต้องสูญหายไปตามกาลเวลา”
หุ่นกระบอกไทย “…เริ่มจากการแกะหัวเผือกหัวมัน คลุมผ้า เชิดหากินไปวันๆ” มหรสพที่ถือได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่ง ที่รวบรวมศิลปะ ภูมิปัญญาและช่างฝีมือสำคัญสาขาต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันมากมาย จนกลายเป็น “หุ่นกระบอก” ที่มีความงดงามทั้งรูปใบหน้า เสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องแต่งกาย และความอ้อนช้อย งดงามในลักษณะท่าทางของตัวหุ่น เมื่อนำมาประกอบการเชิดหุ่น จึงกลายเป็นการแสดงมหรสพ ที่สะท้อนเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของชาติไทย ที่มีมาแต่โบราณกาล แต่ด้วยยุคสมัยปัจจุบันที่มีความบันเทิงใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย การแสดงหุ่นกระบอก จึงเริ่มลดความนิยมลงจนเหลือน้อยเต็มที
ครูนิเวศ แววสมณะ ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2561 ในประเภทงานหุ่นกระบอกไทย กล่าวว่า “…การทำหุ่นกระบอกทำได้ง่าย แต่ถ้าจะทำให้สวย จึงจะยาก การจะดึงคุณค่าและความมีชีวิตของหุ่นกระบอกออกมา ต้องอาศัยทักษะงานนาฏกรรมของผู้เชิด ซึ่งในมุมมองของครู การจะทำให้หุ่นกระบอกเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ เราเองก็ต้องมีการปรับตัว ทั้งจากการแสดงพงศาวดารเรื่องใหม่ๆ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแสดง ที่ช่วยให้หุ่นมีความเสมือนคนมากยิ่งขึ้น ทั้งการกระพริบตา ปากเริ่มขยับ มือเริ่มหันกำไม้กำมือได้ แต่แน่นอนว่าช่างทุกคนยังยึดมั่นในการอนุรักษ์วิธีการทำหุ่นแบบเดิมๆ ไว้ เพียงแต่เราแค่เดินคู่ไปกับการพัฒนาปรับตัว เพื่อให้หุ่นกระบอกมีลมหายใจอยู่ได้ในยุคปัจจุบัน”
ผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวน เสาไห้ “…ความมานะอดทนของหญิง ที่ต้องจดจำลวดลาย ใช้ขนเม่นเกี่ยวทีละเส้น ให้ได้ผ้าซิ่น 1 ผืนใช้ในวันแต่งงาน” ผ้าทอของชาวไท-ยวน โดยเฉพาะกลุ่มไทยวนที่ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ที่ยึดเทคนิคการจกแบบโบราณด้วย ขนเม่น ทอเป็น ผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวน ที่มีลักษณะพิเศษทั้งสีสันและลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ แต่เมื่อสภาพสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป และผู้เฒ่าผู้มีความรู้เริ่มเสียชีวิตลงไปเรื่อย ๆ ผ้าซิ่นตีนจก ของชาวไท-ยวน จึงได้รับความนิยมน้อยลง จนเกือบจะสูญหายไปสิ้นจากพื้นถิ่นในช่วงเวลาหนึ่ง
ครูสุพัตรา ชูชม ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2562 ในประเภทงานผ้าซิ้นตีนจกไทยวนเสาให้ เล่าว่า “…แต่ก่อนผ้าซิ่นไท-ยวน เหลืออยู่เพียง 9 ผืน ไม่มีทั้งคนทอและคนเล่าเรื่อง ด้วยความที่อยากให้ผ้าซิ่นกลับมามีชีวิต ครูจึงไปขอศึกษาการทอผ้ายวนจากครูจงจรูญ มะโนคํา และได้ใช้เวลาศึกษาการทอลายผ้าด้วยตัวเองร่วมปีจึงจะสำเร็จ 1 ผืน ครูเชื่อว่าลวดลายของผ้าล้วนมีคุณค่า สะท้อนเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ไท-ยวน ได้อย่างชัดเจน ถึงสติปัญญาและความมานะอดทนของผู้หญิงโบราณ ที่ต้องจดจำลวดลาย ใช้ขนเม่นเกี่ยวทีละเส้น เพื่อให้ได้ผ้าซิ่น 1 ผืน เพื่อที่จะใช้ในวันแต่งงาน ตามแบบชนชาติพันธุ์ไท-ยวนอย่างแท้จริง สะท้อนให้คนรุ่นหลังเห็นถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้ชัดเจน”
แทงหยวก “ฉลุหรือสลักลงไปบนกาบกล้วยให้เกิดเป็นลวดลายต่างๆ” แทงหยวก เป็นการเรียกวิธีการฉลุ หรือสลักลงไปบนกาบกล้วย โดยวิธีแทงด้วยมีดปลายเเหลม แทงฉลุลงไปให้เกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ ตามที่ต้องการ งานแทงหยวก จัดเป็นงานฝีมือช่างประเภทหนึ่งที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ทางศิลปะวัฒนธรรมไทยสืบทอดมาแต่โบราณ เพื่อใช้ในการประดับตกแต่ง ในการประกอบพิธีต่างๆ ทั้งในงานมงคล และงานอวมงคล แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงในวิถีสภาพสังคมไทยปัจจุบัน ทำให้งานแทงหยวกมีแต่จะเลือนหายไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับสกุลช่างฝีมือแทงหยวก ที่นับวันจะเหลืออยู่น้อยราย จนแทบจะสูญหายไปเช่นเดียวกัน
ครูสมคิด คชาพงษ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2563 ในประเภทงานแทงหยวก เล่าว่า ความยากจริงๆ ของงานแทงหยวกคือวัตถุดิบที่ใช้หาได้ยากขึ้นในปัจจุบัน อย่างต้นกล้วยตานีที่นิยมใช้ ก็เจอสภาพอากาศที่แล้ง จนต้นทั้งเล็กและแกร็นจนตายไป อีกหนึ่งความยากคือ ช่างสกุลเก่าที่เหลือน้อย ต้องพยายามถ่ายทอดความรู้และความอดทนไปให้ถึงช่างรุ่นใหม่ ต้องคอยอบรมความอดทน ความตั้งใจ ไม่ให้ท้อถอย เพื่อที่จะได้สืบสานภูมิปัญญางานแทงหยวกแบบดั้งเดิม ของสกุลช่างรุ่นบรรพบุรุษไม่ให้สูญหายไป และให้อยู่คู่สังคมไทยสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน”
ปักสดึงกรึงไหม “…เทคนิคงานปักของสยามใช้ไหมสีทองปักลงบนผืนผ้าที่ขึงตึงบนสะดึง” งานปักผ้าตามแบบราชสำนักไทยโบราณที่สืบทอดต่อกันมานับร้อยปี ปักสดึงกรึงไหม เป็นหนึ่งในเทคนิคงานปักของสยาม ช่างปักจึงต้องเป็นผู้มีฝีมือดี และมีความเชี่ยวชาญในการใช้วัสดุที่นำมาใช้ในการปักค่อย ๆ บรรจงปักเย็บลงบนผ้าฝ้าย หรือผ้าไหมที่ขึงตึงบนสะดึงให้เกิดเป็นลวดลายบนผืนผ้าตามที่ต้องการ เช่น การปักดิ้นข้อ ปักดิ้นโปร่ง ปักซอย ปักไหมสี ปักหนุน การถักกรองทอง เป็นต้น เป็นงานต้องใช้ทักษะเชิงช่างชั้นสูง ซึ่งในปัจจุบันจึงเหลือผู้ชำนาญในการปักผ้าแบบโบราณอยู่น้อยราย
ครูสรพล ถีระวงษ์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560 ในประเภทงานปักสดึงกรึงไหม เล่าว่า “…งานปักของสยามแบ่งไว้ 8 ประเภท ซึ่งงานปักสดึงกลึงไหมเป็นหนึ่งในนั้น และงานปักที่ยากที่สุด คืองานปักที่รวมเอางานปักหลายชนิดไว้ด้วยกัน ที่ถือเป็นงานปักชั้นสูง ลวดลายต่างๆ จะใช้แววเป็นตัวกำหนด และส่วนใหญ่แล้วงานปักแต่ละชนิด จะแบ่งตามคุณประโยชน์และสถานะที่ต้องใช้ ออกเป็น 3 สถานะ คือ ชาติ สะท้อนถึงประชาชน, ศาสนา สะท้อนพระสงฆ์ และพระมหากษัตริย์ สะท้อนถึงชั้นทรงสมณะศักดิ์ ความยากของงานปักโบราณจะเริ่มตั้งแต่การหาวัสดุที่คนโบราณให้ไว้ และช่างต้องตีความเรื่องของวัสดุนั้นๆ ว่ายังหลงเหลือและดีพอที่จะมาทดแทนของเดิมตามจารีตดั้งเดิมได้หรือไม่ จึงจะพูดได้ว่างานปักนั้นยังมีชีวิตอยู่และไม่สูญหายไปในปัจจุบัน”