รู้หรือไม่: พัฒนาการของ E-Learning และการศึกษาไทยในยุค 4.0

0
463
image_pdfimage_printPrint

โดย อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช, อธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม

เมื่อผู้เขียนได้ยินคำว่า “การศึกษา 4.0” เป็นครั้งแรก ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ เพราะในยุคประเทศไทย 4.0 ดูเหมือนว่าจะเป็นความจำเป็นที่ทุกสิ่งต้องติดสอยคำว่า “4.0” เข้าไปเพื่อให้ดูทันสมัย และเป็นสัญลักษณ์ว่าได้ส่งเสริมและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับแนวคิดประเทศไทย 4.0

แต่เมื่อมีเวลาได้ไตร่ตรองแนวทางและสถานการณ์ของการศึกษาไทยในยุคปัจจุบัน จึงได้เข้าใจว่าแนวทางการศึกษา 4.0 นั้นถือเป็นความพยายามในการกำหนดทิศทางการสร้างบุคลากรที่เหมาะสมเพื่อรองรับอนาคตของประเทศไทยตามแนวทาง 4.0 ซึ่งเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอนาคตของประเทศไทยภายใต้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy

อย่างไรก็ดี กฎ ระเบียบ หรือการปฏิบัติในเชิงข้อบังคับสำหรับการศึกษา 4.0 กลับไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ใดๆ ซึ่งเป็นหัวใจของแนวทางประเทศไทย 4.0 อีกทั้งยังปิดโอกาสการเป็นผู้นำทางด้านการศึกษาในมิติที่เหมาะสมกับประเทศไทย 4.0 ที่สุด นั่นคือ การเรียนการสอนผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรารู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่ออีเลิร์นนิ่ง (e-Learning)

หากแนวทางประเทศไทย 4.0 หมายถึงการสร้างประเทศไทยอย่างเป็นขั้นตอนจากเศรษฐกิจเกษตรกรรม (1.0) มาเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเบา (2.0) สู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมหนัก (3.0) และวางเป้าให้อนาคตของประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่นำด้วยนวัตกรรม (4.0) ดังนั้น ระบบการศึกษาก็ควรถูกวางรากฐานให้ส่งเสริมเป้าประสงค์ในแต่ละระดับขั้นตอนอย่างชัดเจนเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อพิจารณาจากที่ผ่านมาจะเห็นว่าพัฒนาการของการศึกษาไทยไม่ได้ถูกพัฒนาเป็นขั้นตอนตามการพัฒนาประเทศตามกรอบการพัฒนาประเทศไทย 1.0 ถึง 4.0 แต่อย่างใดแต่อดีตไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ดังนั้น ความคิดเชิงพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดที่สามารถส่งเสริมแนวการพัฒนาที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจนถือเป็นส่วนที่น่าชื่นชม แต่แผนการศึกษา 4.0 ที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เดินหน้าด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์กลับไม่ได้สะท้อนความสร้างสรรค์เท่าที่น่าจะเป็น

จากการสอบถามผู้รู้ในวงการศึกษาเห็นว่าเกือบทั้งหมดมีแนวทางการก้าวสู่การศึกษา 4.0 ด้วยการเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนนักเรียนในแต่ละห้องเรียน การปรับปรุงอุปกรณ์การเรียนการสอนให้ทันสมัย และเน้นการเรียนการสอนแบบ STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) ซึ่งการพัฒนาตามที่ว่านั้นเป็นสิ่งที่ดีในด้านคุณภาพสำหรับนักเรียนนักศึกษาไทยอย่างแน่นอน

แต่หากจะเน้นการสร้างบุคลากรเพื่อป้อนสังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การสร้างทักษะที่เกี่ยวข้องกับความคิด สร้างสรรค์ที่สามารถทำได้จริงควรจะเป็นศูนย์กลางของแผนการศึกษา 4.0 ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเสริมศักยภาพในเชิงอุปกรณ์มากนัก แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมศักยภาพผู้สอน และวิธีการสอนมากกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีมูลค่าเป็นตัวเงินมากเท่าการเสริมศักยภาพในด้านอุปกรณ์ แต่สามารถสร้างทักษะในเชิงความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างมาก ดังเช่นที่นักปราชญ์กรีก พลาโต (Plato) ได้กล่าวไว้ว่า “Necessity is The Mother of Innovation” หรือ “ความจำเป็น (ความยากลำบาก) คือต้นกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์”

อีกส่วนหนึ่ง คือ นโยบายการส่งเสริมผู้เรียนอาชีวศึกษาในด้านจำนวนที่ระบุว่าควรมีอัตราส่วนระหว่างอาชีวะต่อมัธยมเป็น 70 ต่อ 30 ถือเป็นการขัดแย้งทางด้านการส่งเสริมในเชิงความคิดสร้างสรรค์อย่างชัดเจน เพราะการศึกษาในระบบอาชีวะเป็นการศึกษาที่เน้นสมรรถนะ คือ การทำงานได้จริงตามขั้นตอน ถึงแม้ว่าจะสามารถผนวกความคิดสร้างสรรค์ไปในเชิงการสอนให้คิด แต่หัวใจหลักยังคงเป็นการทำงานตามขั้นตอนที่พิสูจน์ได้ว่าทำงานหรือผลิตได้จริงมากกว่าการเปิดช่องว่างให้คิดและสร้างสรรค์แนวทางหรือสิ่งใหม่ๆ ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่สอดรับกับการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับสังคมอุตสาหกรรมประเทศไทย 3.0 มากกว่าสังคมสร้างสรรค์ของประเทศไทย 4.0

อีกประเด็นหนึ่งที่น่ากังวล คือ การศึกษาไทยมีแรงต้านสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นหรือพัฒนาขึ้นในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ อาจด้วยความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ หรือความต้องการที่จะควบคุมในสิ่งที่ยากจะควบคุม ตัวอย่างหนึ่ง คือ การจัดการศึกษาออนไลน์อย่างเต็มระบบทั้งในระดับปริญญา และต่ำกว่าปริญญาที่นิยมเรียกว่าอีเลิร์นนิ่ง (e-Learning) ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก กลับกลายเป็นเรื่องประหลาดที่ไม่สามารถยอมรับได้ในการจัดการศึกษาไทย เห็นได้จากอัตราพัฒนาการและการขยายตัวของอีเลิร์นนิ่งในต่างประเทศกับประเทศไทยพบว่าอีเลิร์นนิ่งมีการขยายตัวและพัฒนาการต่อยอดเทคโนโลยีที่นำหน้า ประเทศไทยเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งอาจมาจากนโยบายการศึกษาไทยที่ไม่สนับสนุนการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิ่งอย่างเต็มระบบ จนทำให้โปรแกรมการเรียนการสอนผ่านทางระบบอีเลิร์นนิ่งเต็มระบบในหลายสถาบันอุดมศึกษาไทยต้องถูกยกเลิกหรือจำกัดให้เหลือเพียงการใช้อีเลิร์นนิ่งเพื่อเป็นตัวช่วยการเรียนในห้องเรียนเท่านั้น

ดังนั้น พัฒนาการด้านอีเลิร์นนิ่งทั้งด้านเทคโนโลยี การเรียนการสอน และการลงทุนจึงแทบจะไม่เดินหน้าเลย แต่ในห้วงเวลาเดียวกันสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศกลับมีพัฒนาการด้านอีเลิร์นนิ่งอย่างก้าวกระโดด บ้างก็สามารถขายสิทธิในการใช้งานและแปลบทเรียนเป็นภาษาต่างๆ จนสามารถให้ใบรับรองและปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก บ้างก็ได้นำอีเลิร์นนิ่งมาเป็นกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์และสร้างชื่อเสียงให้กับสถาบันการศึกษาโดยให้เข้าลองใช้ระบบอีเลิร์นนิ่งโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และหากสอบออนไลน์ผ่านก็สามารถรับประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรได้เช่นกัน

แน่นอนว่าประเทศไทยได้เสียโอกาสในด้านอีเลิร์นนิ่งให้กับสถาบันต่างประเทศ เช่น สถาบันจากประเทศสิงคโปร์ไปแล้วโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ประเทศรอบข้างอย่างประเทศในกลุ่ม CLMV ที่ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ยังคงแสดงความสนใจที่จะเรียนในระบบอีเลิร์นนิ่งจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และ หากรวมตลาดในประเทศไทยเองด้วยแล้วต้องถือว่าสถาบันการศึกษาในประเทศไทยได้เสียโอกาสจากตลาดที่ใหญ่พอสมควร จะเป็นด้วยความกลัวในสิ่งที่เราไม่รู้จึงไม่เปิดโอกาสให้ลอง หรือด้วยความหวังในการควบคุมในสิ่งที่เราไม่เคยควบคุมจึงไม่มีส่วนแบ่งให้ควบคุม

หากการศึกษาไทยยังคงกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ เราจะสามารถสร้างสรรค์หรือแม้แต่รับประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้อย่างไร หากประเทศไทยยอมรับและยอมเสี่ยงกับอีเลิร์นนิ่งตั้งแต่เริ่มต้น วันนี้ประเทศไทยน่าจะเป็นผู้นำด้านอีเลิร์นนิ่งอย่างน้อยก็ในประเทศ CLMV ได้ไม่ยาก และประเทศไทยคงมีเทคโนโลยีและความเข้าใจเกี่ยวกับอีเลิร์นนิ่งดีพอที่จะสร้างประโยชน์จากบทเรียนฟรีที่มีอยู่มากมายในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นการก้าวกระโดดเชิงข้อมูลความรู้ที่จะทำให้การศึกษาไทยพัฒนาเข้าใกล้การศึกษานานาประเทศได้ หากผู้นำประเทศสามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดว่าเราจะสร้างบุคลากรเพื่อรองรับสังคมสร้างสรรค์ตามแนวทางประเทศไทย 4.0 หรือบุคลากรที่มีความเป็นเลิศในเชิงทักษะการผลิตเพื่อรองรับสังคมอุตสาหกรรมประเทศไทย 3.0 เราก็คงสามารถสร้างความเป็นเลิศในแนวทางที่เราเลือกได้โดยไม่ยากนัก หากผู้นำประเทศยอมรับที่จะสร้างความคิดสร้างสรรค์จากคนสู่คนด้วยวิธีการที่เหมาะสมมากกว่าจากอุปกรณ์และรูปแบบที่หยิบยืมมา และหากผู้นำประเทศเปิดใจให้คุณค่ากับการเลือกทิศทางรวมถึงสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ๆ และยอมเสี่ยงกับผลที่ตามมา หากดีก็จะสามารถผลักดันให้ดียิ่งขึ้นได้ไม่ยาก หากล้มเหลวก็ยอมรับและเรียนรู้เพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าซึ่งแนวทางนี้น่าจะช่วยสร้างเศรษฐกิจและสังคมสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิดประเทศไทย 4.0 ให้มีความยั่งยืนด้วยระบบการศึกษา 4.0 อย่างแท้จริง… ท่านเห็นด้วยกับแนวคิดนี้หรือไม่ (อ่านข่าวต่อ : https://goo.gl/tiqR2i)