รายงานวิจัยพบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมลงทุนไพรเวทอิควิตี้โดยยึดหลักความยั่งยืนมากขึ้น สะท้อนการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค

0
325
image_pdfimage_printPrint

รายงานวิจัยใหม่จาก Bain & Company พบว่า การลงทุนด้านความยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 60% แตะ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

การลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นทั่วโลก โดยได้รับแรงผลักดันจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่ปรากฏให้เห็นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน มลพิษ การตัดไม้ทำลายป่า และความไม่เท่าเทียมทางสังคม ปัจจุบัน การลงทุนในหุ้นนอกตลาด หรือไพรเวทอิควิตี้ กว่า 50% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างสนับสนุนโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่มีส่วนส่งเสริมความก้าวหน้าทางสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเป็นข้อมูลจากรายงานวิจัยใหม่ของ Bain & Company ในชื่อ SUSTAINABILITY WINS AS INVESTORS IN SOUTHEAST ASIA SHIFT FOCUS

ตามคำจำกัดความที่ปรับให้สอดคล้องกับประเทศกำลังพัฒนา การลงทุนด้านความยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยจากข้อตกลงการลงทุนไพรเวทอิควิตี้ทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 นั้น 56% เป็นการลงทุนในบริษัทที่ตรงตามเกณฑ์ความยั่งยืนของ Bain & Company สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เพิ่มขึ้นจาก 30% เมื่อปี 2560

นักลงทุนเริ่มตระหนักว่า การมองข้ามเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในการลงทุนนั้นอาจทำให้ตนสูญเสียมากกว่า ขณะที่บรรดาหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดกำลังกดดันให้เหล่าผู้จัดการกองทุนทั่วโลกรวมเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ไว้ในขั้นตอนการลงทุนด้วย ส่งผลให้กองทุนต่าง ๆ หันมาจัดทำพอร์ทรวมบริษัทที่ทำธุรกิจตรงตามหลัก Principles for Responsible Investment (PRI) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ พร้อมยกระดับศักยภาพภายในเพื่อผลักดันให้เติบโต

“ผู้บริโภคและผู้ถือหุ้นต่างพากันเรียกร้องให้บริษัทออกมาเปิดเผยประเด็นทางจริยธรรมที่มีความสัมพันธ์กับการลงทุนของตนมากขึ้น” Suvir Varma ที่ปรึกษาอาวุโสจากฝ่าย Global Private Equity ของ Bain & Company และเป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับนี้ กล่าว “ความกังวลดังกล่าวได้จุดประกายให้เกิดการลงทุนด้านความยั่งยืนระลอกแรกเมื่อกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่กองทุนต่าง ๆ มองหาแนวทางบรรเทาความเสี่ยงทางการเงินและชื่อเสียง”

ในขณะนั้น นักลงทุนรายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เลือกลงทุนในอุตสาหกรรมหลัก ๆ เช่น น้ำมันและก๊าซ เหมืองแร่ และสินค้าโภคภัณฑ์เกษตร ปัจจุบัน นักลงทุนหลายรายเริ่มลงทุนในโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่จัดการกับความจำเป็นทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งรวมถึงบริษัทที่พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน แพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งระดมทุนและตลาด รวมถึงเครือข่ายโรงพยาบาลแบบมุ่งทำกำไรที่ทำให้ประชากรที่ยังตอบสนองได้ไม่เต็มที่นั้นเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น

การลงทุนที่มีความยั่งยืนช่วยขับเคลื่อนการเติบโต มากกว่าที่จะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในกรรมสิทธิ์ทางการเงิน โดยเป็นการลงทุนที่ตรงตามเกณฑ์ทั้งสามเหล่านี้อย่างน้อยหนึ่งข้อ

– พัฒนาสิ่งแวดล้อม : ประกอบด้วยการลงทุนในพลังงานสะอาด การผลิตน้ำบริสุทธิ์ การควบคุมมลพิษ การลดปริมาณของเสีย การคมนาคมคาร์บอนต่ำ การประมงที่มีความยั่งยืน และการแปลงขยะเป็นพลังงาน
– เพิ่มการเข้าถึงทรัพยากรหรือบริการพื้นฐาน : ประกอบด้วยการลงทุนในแพลตฟอร์ม เพื่อขยายและพัฒนาการเข้าถึงบริการสำคัญที่ประเทศกำลังพัฒนามักขาดแคลน
– เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงการเงินและตลาด พร้อมส่งเสริมการเปลี่ยนสถานภาพทางสังคม : ประกอบด้วยแพลตฟอร์มการเงินรายย่อยหรืองานขายดิจิทัลสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ที่ช่วยลดความยากจนและส่งเสริมให้บรรดาเจ้าของธุรกิจยกระดับสถานภาพทางเศรษฐกิจขึ้นไปอีกระดับ

“การลงทุนด้านความยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนานั้นมีศักยภาพหลากหลายกว่าในประเทศพัฒนาแล้ว” Alex Boulton ตำแหน่ง Principal จากฝ่าย Global Private Equity ของ Bain & Company และหนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับนี้ซึ่งประจำการอยู่ในสิงคโปร์ กล่าวอธิบาย “การลงทุนด้านความยั่งยืนมีมูลค่าดีลรวมกันแตะ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 เพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 และใกล้ที่จะแซงยอดรวมของทั้งปีที่ผ่านมา”

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่าข้อตกลงการลงทุนในไพรเวทอิควิตี้รวมกันทะลุหลัก 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วในปี 2561 โดยเป็นปีที่สองติดต่อกัน และทะยานขึ้นอย่างมากในเวียดนามและอินโดนีเซีย ตลาดแห่งนี้จึงประสบความสำเร็จขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป การลงทุนด้านความยั่งยืนได้เข้ามามีความสำคัญขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้ จึงมีแนวโน้มสดใสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั่วภูมิภาค