1

รายงานการลงทุนของโลกประจำปีนี้เผย เอเชียติดอันดับภูมิภาค ที่มีต่างชาติเข้ามาลงทุนทางตรงมากที่สุดของโลก

การรวมตัวและการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคที่พัฒนามากขึ้น ช่วยกระตุ้นการไหลเข้าของกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และสนับสนุนการพัฒนา

 

อังค์ถัดออกรายงานการลงทุนของโลกในปีนี้เผย เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้ามาลงทุนมากที่สุดติดอันดับโลก คิดเป็นร้อยละ 30 ของ FDI ทั้งหมด                  โดยกระแสเงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย (ไม่รวมเอเชียตะวันตก) มีมูลค่าประมาณ 382 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2556 ซึ่งมากกว่าปี 2555 อยู่ร้อยละ 4

รายงานระบุถึง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs)              ที่จะส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ซึ่งอยู่ในรายงาน “การลงทุนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: แผนการปฏิบัติงาน”

การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออก FDI ที่ไหลเข้ามาในกลุ่มนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 คิดเป็น 221 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจีนมี FDI ไหลเข้า 124 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (กราฟที่ 1) คิดเป็นอันดับที่สองของโลกรองจากสหรัฐฯ ที่มี FDI ไหลเข้ามากที่สุดในโลก

สัดส่วนเงินลงทุนไหลออกจากจีนเพิ่มขึ้นมากกว่าเงินไหลเข้า โดยในปี 2556 FDI ที่ไหลออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ประมาณ 101 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (กราฟที่ 2) เนื่องจากบริษัทสัญชาติจีนส่วนใหญ่มีการทำข้อตกลงเชิงธุรกิจ (การเข้าซื้อกิจการ ควบรวมกิจการ และการลงทุนร่วมกัน) อาทิ การเข้าซื้อกิจการ CNOOC-Nexen ในแคนาดา ที่มีมูลค่า 15 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ การควบรวมกิจการ ShuanghuiSmithfield ในสหรัฐฯ ที่มีมูลค่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทั้งสองข้อตกลงทางธุรกิจนี้ ถือเป็นข้อตกลงข้ามชาติที่มีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่เคยมีของบริษัทสัญชาติจีน ในอุตสาหกรรมน้ำมัน และก๊าซ ตลอดจนอาหาร ตามลำดับ

 

เกาหลีใต้ มี FDI ไหลเข้าถึง 12พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงปี 2548 เป็นต้นมา ในขณะเดียวกัน FDI ไหลเข้าในไต้หวันเพิ่มเป็น 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และฮ่องกง (เขตปกครองพิเศษ ที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ประชากรจัดอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้สูง และมี FDI ไหลเข้าสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก) มี FDI ไหลเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากปีก่อน คิดเป็น 77 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และในเดือนมีนาคม ปี 2557 รัฐบาลจีนได้ตัดสินใจย้ายสำนักงานใหญ่ของ CIFIT Group (องค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนของจีน) ไปยังฮ่องกง เนื่องจากเห็นโอกาสจากการได้เปรียบในการแข่งขัน ในการดึงดูดการลงทุนจากบรรษัทข้ามชาติ (Transnational Companies หรือ TNCs) ซึ่งรวมไปถึงบริษัทจากจีนแผ่นดินใหญ่

การเติบโตที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ FDI ที่ไหลเข้าในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ในปี 2556 คิดเป็น 125พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และจากสถิติของ FDI ที่ไหลเข้าในกลุ่มประเทศอาเซียน ในปี 2551 มี FDI ไหลเข้า 47 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2555 มีมูลค่า 118พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในปัจจุบัน สัดส่วน FDI ที่ไหลเข้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนแต่ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่ลดลง

สิงคโปร์ เป็นประเทศที่ได้รับ FDI ไหลเข้ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีการทำข้อตกลงเชิงธุรกิจเกิดขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันมูลค่า FDI ที่ไหลเข้าของสิงคโปร์ และสร้างสถิติใหม่ที่ 64 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ(กราฟที่ 1) ใน อินโดนีเซีย มูลค่า FDI ไหลเข้ามีแนวโน้มคงที่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 19 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมาเลเซีย มีเงินไหลเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 คิดเป็น 12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในประเทศไทย มีเงินไหลเข้าในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น 13 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ในหลายโครงการต้องถูกระงับไว้เนื่องจากความไม่มั่นคงทางการเมือง สำหรับมูลค่า FDI ที่ไหลเข้าในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีรายได้ต่ำนั้น เมียนมาร์มี FDI ไหลเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 คิดเป็น 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม มีสัดส่วน FDI ที่ไหลเข้าค่อนค้างคงที่

ความท้าทายเดิมและโอกาสใหม่ที่เอเชียใต้เผชิญ ในปีที่ผ่านมา สัดส่วนของ FDI ที่ไหลเข้าสู่เอเชียใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 คิดเป็น 36 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในภูมิภาคนี้มีสัดส่วนของการควบรวมกิจการเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 ในขณะเดียวกันสัดส่วนของการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ (Greenfield investment) ลดลงร้อยละ 38 และเมื่อพิจารณามูลค่าเงินไหลออกจากภูมิภาคมีสัดส่วนลดลงร้อยละ 75 โดยประมาณ คิดเป็น 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากการขยายระยะเวลาการลดสัดส่วนเงินไหลออกจากอินเดีย

อินเดียมี FDI ไหลเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ในปี 2556 คิดเป็น 28 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (กราฟที่ 1) แต่อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจในระดับมหภาค ยังคงเป็นปัจจัยหลักต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน โดยเห็นได้จากการเข้ามาตั้งสาขาค้าปลีกของบริษัทชื่อดังต่างๆ ในปี 2555 ที่ยังไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีเท่าที่คาดการไว้

ในบังกลาเทศ การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของ FDI ที่ไหลเข้าในภาคการผลิต ก่อให้เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ได้รับประโยชน์จากการไหลเข้าของ FDI มากที่สุด แต่ปัญหาเรื่องมาตรฐานและการพัฒนาทักษะของแรงงานถือเป็นความท้าทายสำคัญเข่นกัน และในปากีสถานมี FDI ไหลเข้ามูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปสู่อุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม

          การรวมตัว การเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค และโอกาสต่อ FDI ในประเทศกำลังพัฒนาที่มีระดับรายได้ต่ำนั้น โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร ถือเป็นความท้าทายหลักในการดึงดูดเงินลงทุน FDI ตลอดจนการสนับสนุนการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม โดย ณ ปัจจุบัน การเพิ่มขึ้นของ FDI ภายในภูมิภาค ในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรม ถูกผลักดันจากความพยายามในการรวมตัว และการเสริมสร้างความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค ผ่านการสร้างระเบียงเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่อไป ในกลุ่ม 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และ 6 คู่ค้าในเขตการค้าเสรี ได้มีข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน (Regional Comprehensive Economic Partnership) โดยในปี 2556 การรวมตัวก่อให้เกิดการเจรจาใน 16 ประเทศสมาชิก ซึ่งมีมูลค่าการค้าประมาณ 343 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 24 ของมูลค่า FDI ทั้งหมด

            นอกจากนี้ ศักยภาพในการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจสู่บังกลาเทศ จีน อินเดีย และเมียนมาร์ (Bangladesh-China-India-MyanmarEconomic Corridor) และระเบียงเศรษฐกิจสู่จีน และปากีสถาน (China-PakistanEconomic Corridor) มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศที่เกี่ยวข้อง

            การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่งและมาตรการการเปิดเสรีใหม่ๆ อาทิ การทดลองเขตการค้าเสรี (Pilot Free Trade Zone) ของนครเซี่ยงไฮ้ ทำให้เอเชียตะวันออกมีแนวโน้มการเติบโตของ FDI ที่ไหลเข้าอย่างมากในอนาคต และการเติบโตในเอเชียใต้ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในด้านของภูมิศาสตร์การเมือง (Geopolitics) ในเอเชีย กลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อความไม่แน่นอน และกำหนดทิศทางการลงทุนในอนาคต