คณะทำงานด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (Competitive Workforce) เผยผลงานรูปธรรม จากความร่วมมือ 3 ปี รัฐ-เอกชน-ประชาสังคม เชื่อมั่นยกระดับการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา ที่เปี่ยมสมรรถนะ ตอบโจทย์ความต้องการ เพิ่มผู้เรียน เพิ่มคุณภาพ ป้อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (First S-Curve และ New S-Curve) ตอบนโยบายประเทศไทย 4.0
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะตัวแทนหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (Competitive Workforce) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานที่คืบหน้าไปมาก เนื่องจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมร่วมมือกันทำงานในเชิงรุก เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและการบริการ ในโลกแห่งอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งสร้างอาชีวะรุ่นใหม่เพื่อป้อนระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
“เราสามารถผลิตผู้จบอาชีวศึกษา ออกสู่ตลาดได้ในปี 2560 จำนวน 250,000 คน และคาดว่าในปี 2561 จะมีผู้จบอาชีวะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 268,484 คน และจากผลการศึกษา จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ยังยืนยันว่า ตลาดแรงงานไทยมีแนวโน้มปรับตัวสู่การใช้แรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น และยังขาดแคลนในบางสาขา กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มอบนโยบายกับอาชีวศึกษาจังหวัด วิทยาลัย สถาบัน ต่างๆ ไปพิจารณาปรับหลักสูตร ให้ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และเป็นหลักสูตรที่ได้มาตรฐานสากล เช่น หลักสูตร BTEC (The Business and Technology Education Council) ของ Pearson ประเทศอังกฤษ และหลักสูตรสากลที่สำคัญ จากประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีน พร้อมผลิตหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาระดับสากล ในวิทยาลัยนำร่อง ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น, โรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ), วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี เป็นต้น และล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้หารือกับภาคเอกชนเยอรมันในอุตสาหกรรมระบบรางและยานยนต์แห่งอนาคต พร้อมทั้งศึกษาดูงานสถาบันวิจัยประยุกต์เฟราน์โฮเฟอร์ ไอพีเค ด้านอุตสาหกรรม 4.0 ด้วย” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังยกตัวอย่างการทำงานเชิงรุกของภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกันผลิตนักศึกษา เพื่อเข้าทำงานใน EEC ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
“8 จังหวัดภาคตะวันออกมีวิทยาลัยอาชีวศึกษา 58 แห่ง ในจำนวนนี้มี 12 แห่งที่เข้าร่วมโครงการยกระดับอาชีวศึกษา ภายใต้สัตหีบโมเดล นอกจากนี้โครงการอาชีวะพรีเมี่ยมที่ใช้หลักสูตรสากล พร้อมกับการจัดการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ (WIL แบบเข้มข้น) โดยร่วมมือกับเอกชนตั้งแต่ขั้นตอนรับนักศึกษา จัดทำหลักสูตรร่วมกัน จนถึงขั้นฝึกอบรม ซึ่งบริษัทเอกชนจะจ่ายเงินให้นักศึกษาที่ไปฝึกงานตามค่าแรงขั้นต่ำ และการร่วมมือนี้นำไปสู่ความสำเร็จตามแนวทางการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ หลังจากนี้คณะทำงานก็จะเดินหน้าพัฒนาอาชีวศึกษาตามแนวทางนี้ต่อไป”
ด้าน นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐ ภาคเอกชนทั้ง 19 องค์กร รวมถึงภาคประชาสังคม ได้มุ่งมั่น ทุ่มเท และร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อสานพลังยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา โดยมีผลงานก้าวหน้าดังนี้
• คณะ Database of Demand and Supply: หลังจากที่พัฒนาฐานข้อมูล Demand Supply และส่งมอบให้กับภาครัฐแล้วในเฟสแรก ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความต้องการใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเตรียมผลิตกำลังพล โดยสำรวจข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และอีอีซี และมีแผนจับมือร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลถึงกันเป็น Big Data
• คณะ Standards & Certification: ได้กำหนดกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF : National Qualification Framework) 8 ระดับ เทียบเท่ากรอบของอาเซียน (AQRF : ASEAN Qualification Reference Framework) และจัดทำข้อเสนอการขับเคลื่อน NQF ผ่านองค์กรกลางเพื่อจัดทำหลักสูตรให้สอดคล้อง พร้อมประชาสัมพันธ์ไปยังสถาบันการศึกษา หน่วยผลิตกำลังคน องค์กร สภาวิชาชีพต่างๆ และกลุ่มผู้ใช้แรงงาน
• คณะ Excellent Model School: ปัจจุบันได้ขยายความร่วมมือไปยังสถานประกอบการ เพิ่มจาก 7 บริษัท เป็น 21 บริษัท และมีสถานศึกษาเข้าร่วม 68 แห่ง มีสาขางาน/ วิชา 37 สาขา และมีนักศึกษา 13,184 คน ส่วนในเชิงคุณภาพ คณะทำงานได้จัดทำเกณฑ์การประเมินสถานศึกษาเพื่อยกระดับการศึกษาระบบทวิภาคี ขึ้นเป็น Excellent Model School (DVE) และประกาศใช้แล้ว
• คณะ Rebranding: หลังจากประสบความสำเร็จในการสร้าง One Brand One Logo “อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ” ในปีที่ผ่านมา ในปีนี้เดินหน้าภารกิจสร้างทัศนคติและให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการเรียนอาชีวะ กับกลุ่มผู้ปกครอง และนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เรียน โดยเฉพาะประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม และส่งเสริมให้ผู้หญิงมาเรียนช่างมากขึ้น โดยได้จัดทำแคมเปญสื่อสารออนไลน์ อาทิ VDO Clip The Decision, Blogger, Quiz รวมถึง Direct Media ที่จะผลิตสื่อและคู่มือการใช้ส่งไปยังวิทยาลัยทั่วประเทศ ตั้งเป้าเพิ่มผู้เรียนอาชีวะอีก 5%
นอกจากนี้ในระยะยาว คณะทำงานด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (Competitive Workforce) ได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการความร่วมมือภาครัฐ และเอกชนเพื่ออาชีวศึกษาทวิภาคี มุ่งขับเคลื่อนอาชีวศึกษา อาทิ ภารกิจพัฒนาการเรียนการสอนแบบทวิภาคี ยกระดับครูอาชีวะและหลักสูตร เป็นต้น พร้อมกำหนดภารกิจหลักในการเป็นองค์กรกลางเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับอาชีวศึกษาทั้งระบบอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งในอนาคต ภาคเอกชน ทั้งด้านอุตสาหกรรม การบริการ และการท่องเที่ยวต่างก็พร้อมให้ความร่วมมือสานต่อแผนงาน เพื่อให้ภารกิจดังกล่าวสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
นายรุ่งโรจน์ กล่าวเสริมว่า “อย่างไรก็ตามการดำเนินงานยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษาจะเกิดผลยั่งยืนได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะนโยบายจากภาครัฐที่ต้องมีความต่อเนื่อง รวมทั้งมีการจัดสรรงบประมาณ บุคลากร และเครื่องมืออุปกรณ์ให้เพียงพอ พร้อมทั้งปรับข้อกฎหมายต่างๆ ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอาชีวะ ตลอดจนร่วมประสานพลัง (Collaboration) ระหว่างภาครัฐ อาทิ การเปิดเผยหรือเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน รวมถึงการแบ่งปันทรัพยากรหรือต่อยอด เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ขณะที่ภาคเอกชนก็พร้อมสนับสนุนนโยบายและส่งเสริมการดำเนินงานของภาครัฐอย่างเต็มที่ โดยเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งการ Re Skill – Up Skill – และ Multi skill ตามแนวทาง ผู้ใช้ร่วมคิด ผู้ผลิตร่วมสร้าง เมื่อทุกฝ่ายมุ่งเป้าหมายเดียวกันก็จะสามารถยกระดับวงการอาชีวศึกษาไทยในทุกมิติ”
อนึ่ง คณะทำงานด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (Competitive Workforce) ประกอบด้วย ภาครัฐ โดยมี นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหัวหน้าทีม พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สำนักงานสถิติแห่งชาติ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ภาคเอกชน ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี อินดัสตรี จำกัด, บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), บริษัท ยูเรกา ดีไซน์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ฤทธา จำกัด, บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด, บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด