รัฐบาลไทยจับมืออียู และวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ พัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งบนราง
มุ่งถ่ายทอดทักษะและความรู้ ผ่านหลักสูตรระบบขนส่งบนรางใหม่
หลักสูตรแรกในประเทศไทย ที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ
วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ร่วมกับรัฐบาลไทยและสหภาพยุโรป เปิดตัวหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาเทคโนโลยีระบบขนส่งบนรางขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย หลักสูตรใหม่ทั้งหมดอ้างอิงตามมาตรฐานเทคโนโลยีของยุโรป ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ สถาบันการศึกษาในยุโรป ผู้ประกอบการด้านระบบขนส่งบนราง และบริษัทเอกชนต่างๆ ที่ดำเนินงานด้านเทคโนโลยีระบบราง พัฒนาขึ้นเพื่อผลิตช่างเทคนิคด้านการขนส่งบนรางของประเทศไทย
งานแถลงข่าวเปิดตัวหลักสูตรในวันนี้ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ มร. เฆซุส มิเกล ซันส์ เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ฯพณฯ มร.เอนโน่ โดรเฟนิก เอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย นายวัชรินทร์ ศิริพานิช ที่ปรึกษาระดับสูงวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ตัวแทนจากสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (EABC) และการรถไฟสหพันธ์ออสเตรีย
ในปี 2558 รัฐบาลไทยได้มอบหมายให้วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนและการฝึกทักษะสำหรับช่างรถไฟ เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของระบบขนส่งบนรางของประเทศไทย ด้วยเศรษฐกิจของอาเซียนกำลังเจริญรุดหน้า จึงคาดว่าจะมีการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อขยายระบบขนส่งบนรางในประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรป มร. เฆซุส มิเกล ซันส์ ได้กล่าวย้ำว่า ภาคการขนส่งระบบรางของยุโรปมีความรู้ความชำนาญในหลายด้าน ทั้งด้านความปลอดภัย ประสิทธิภาพระดับสูง การบริหารต้นทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานสูงสุด “เรารู้สึกภูมิใจมากที่ได้แบ่งปันทักษะความเชี่ยวชาญด้านการขนส่ง อันเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเครื่องมือด้านการพัฒนา โครงการความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ สถาบันการศึกษาในยุโรป และรัฐบาลไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนภายใต้โปรแกรม Public Diplomacy and Outreach ของสหภาพยุโรป จะช่วยปูพื้นฐานอันแข็งแกร่งสำหรับความร่วมมือในอนาคตระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปต่อไป”
“หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพใหม่นี้เปิดตัวขึ้นในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นช่วงที่เราสามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตและการขับเคลื่อนในประเทศและภูมิภาค เราภูมิใจที่ได้แนะนำหลักสูตรใหม่นี้ ซึ่งจะช่วยผลิตช่างเทคนิคคุณภาพสูง เพื่อพัฒนาและซ่อมบำรุงระบบขนส่งบนรางให้มีประสิทธิภาพตามโมเดลของทางยุโรป” นายวัชรินทร์ ศิริพานิช ที่ปรึกษาระดับสูงวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ กล่าว
ยุโรปถือเป็นผู้นำโลกในด้านวิศวกรรมระบบรางและการฝึกอบรมด้านอาชีพ จากโครงการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดนี้ ได้แสดงให้เห็นว่าสหภาพยุโรปเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งบนรางในประเทศไทย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อศักยภาพของประเทศ นำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางด้านการศึกษา เศรษฐกิจ การตลาด และสังคมในไทย
วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์กับสถาบันการศึกษาต่างๆ ในยุโรป ผู้ประกอบการด้านระบบขนส่งบนราง และบริษัทต่างๆ ทางด้านเทคโนโลยีระบบขนส่งบนรางต่อไป
* * * * * * * * * *