ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปีสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 38 และการประชุมวิชาการระดับนานาชาติและระดับชาติ วิศวศึกษา ครั้งที่ 14 ( INCEE-14 ) ร่วมแสดงความยินดีแก่ รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็น ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ในสมัยที่ 39 ซึงปัจจุบันมีสมาชิกคณบดีวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัย 61 แห่งทั่วประเทศ ณ โรงแรม ดุสิตธานี พัทยา
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยคนใหม่ อายุ 45 ปี เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์กว้างไกล และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ตลอดจนความรู้ความสามารถในการบริหารงานสู่เป้าหมายความสำเร็จ จบการศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกด้านวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยโตไก ประเทศญี่ปุ่น นอกจากภารกิจในการเป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตรื สจล.แล้ว ยังอุทิศตนในการช่วยงานองค์กรเพื่อสังคมต่างๆ เช่น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) สภาวิศวกร สมาคมคอนกรีตไทย รวมทั้งเป็นผู้ผลักดัน Active Learning การเรียนการสอนแบบมุ่งผลลัพธ์ และกระตุ้นให้มีการดำเนินงานปฎิรูปการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ของไทยสู่ระดับสากลอย่างต่อเนื่อง และรณรงค์ในความอิสระทางวิชาการของสถาบันการศึกษาในการพัฒนาความก้าวหน้าของวิศวกรรมศาสตร์ที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยคนใหม่ กล่าวว่า ในการมารับตำแหน่งนี้ ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยคนใหม่ ได้กล่าวถึงนโยบายหลักของการดำเนินงาน มี 5 ประการ คือ 1.Internationalization การยกระดับมาตรฐานวิศวกรรมศาสตร์ของไทยสู่ระดับสากล 2. Education Reform ส่งเสริมการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนวิศวกรรมศาสตร์ในประเทศไทย ให้ก้าวไกล โดยเน้นการเรียนการสอน Active Learning การมีส่วนร่วมของผู้เรียน การเรียนการสอนที่มุ่งผลลัพธ์ ครูเป็นเพียงโค้ชคอยให้คำปรึกษาแนะนำ กระตุ้นให้เยาวชนมีคิดวิเคราะห์ต่อยอดองค์ความรู้และมีพฤติกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต 3.Master of Innovation ความเป็นเลิศในด้านนวัตกรรม ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา การนำเอาองค์ความรู้จากพหุศาสตร์หลายสาขา มาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม 4.Partnership การผนึกความร่วมมือกับภาคเอกชนธุรกิจอุตสาหกรรมและองค์กรต่างๆในสังคม เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าด้านวิชาการให้เกิดเป็นพลังสร้างสรรค์ที่ต่อเนื่องและแข็งแกร่ง และ 5. Happy Workplace ส่งเสริมบรรยากาศการเรียนการสอนและวิถีชีวิตในสถานศึกษาอย่างมีความสุข น่าศึกษาและน่าอยู่ กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจและการเรียนรู้ร่วมกัน
สำหรับการดำเนินงานของ สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวน 61 แห่งทั่วประเทศ โดยมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางในอนาคตเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของวิศวกรรมศาสตร์ไทยให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งในด้านการเรียนการสอน การประกันคุณภาพทางด้านการศึกษา การขับเคลื่อนนโยบายและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมและเศรษฐกิจ พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานวิศวกรรมศาสตร์ของไทยสู่ระดับสากล มีประวัติการก่อตั้งเริ่มแรกเมื่อ 38 ปีก่อน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 เกิดจากการรวมตัวของคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ 8 แห่งในประเทศไทย ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มุ่งเป็นองค์กรกลางในการประสานความร่วมมือกันระหว่างคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั้งในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน โดยทุกสถาบันสมัครเข้าเป็นสมาชิก ภายใต้ข้อตกลงที่จะทําหน้าที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น ประสบการณ์ทางวิชาการและการติดต่อประสานงานต่าง ๆ ทีเกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิชาการ การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม การทํานุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยไม่เป็นองค์กรทางการเมือง แต่มีเป้าหมายเพื่อที่จะยกระดับของคณะวิศวกรรมศาสตร์ให้มีมาตรฐานในระดับสากล โดยผ่านกระบวนการความร่วมมือและใช้ความเข้มแข็งที่มหาวิทยาลัยในแต่ละแห่งมีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อให้เกิดความก้าวหน้าต่อการผลิตและพัฒนาบัณฑิตของคณะวิศวกรรมศาสตร์ในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง
ขณะที่วิศวกรรมศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และพัฒนาการของธุรกิจ การผลิตและอุตสาหกรรม จํานวนสมาชิกสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยได้เพิ่มจํานวนขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 8 แห่ง เป็น 33 แห่งในปี 2542 และเพิ่มขึ้นเป็น 43 แห่ง ในปี 2547 จนถึงปัจจุบันปี 2559 มีจำนวน 61 แห่ง ร่วมสร้างสรรค์งานวิชาการและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทย 4.0 ตอบรับวิถีชีวิตและโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งขับเคลื่อนและแข่งขันด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม