สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวทีรวมพลังสื่อครั้งยิ่งใหญ่ประจำปี 2561 ในงานรวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย ครั้งที่ 2 “พลังสื่อภาคกลาง พลังสร้างสรรค์สังคม” ณ อาคาร 60 พรรษามหาราชินี 2 มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาลัยเขตบางแสน อ.เมืองชลุรี จ.ชลบุรี โดยมี นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี รศ.ดร.สมนึก ธีรกุลพิสุทธิ์ ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา ผศ.ดร.บุญรอด บุญเกิด คณบดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คุณวรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เข้าร่วมงานและให้เกียรติมอบรางวัลทั้ง 9 รางวัล โดยมีผู้ได้รับรางวัลต่างๆ ในแต่ละสาขาวิชาชีพสื่อฯ ดังนี้
1. รางวัลเด็กและเยาวชนสร้างสรรค์สื่อดีเด่น ได้แก่ หนังสือพิมพ์ลานมะพร้าว มหาวิทยาลัยบูรพา
2. รางวัลสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนดีเด่น ได้แก่ สื่อเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มใบไม้ จังหวัดนครนายก
3. รางวัลสื่อส่งเสริมครอบครัวและสังคมดีเด่น ได้แก่ สื่อส่งเสริมอัตลักษณ์และสิทธิชุมชน เครือข่ายคลิตี้ล่าง ดีจัง จังหวัดกาญจนบุรี
4. รางวัลสื่อสร้างแรงบันดาลใจดีเด่น ได้แก่ เพจบางปะกงสายน้ำแห่งชีวิต ภาคีบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
5. รางวัลนวัตกรรมสื่อดีเด่น ได้แก่ นวัตกรรมละครเพื่อการเรียนรู้ กลุ่มเรียนรู้บางเพลย์ จังหวัดชลบุรี
6. รางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ยอดนิยม ได้แก่ มหกรรมพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์ กลุ่มเพชรบุรีดีจัง จังหวัดเพชรบุรี
7. รางวัลสื่อส่งเสริมคุณธรรม ได้แก่ มรดกวัฒนธรรมชุมชน หนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี
8. รางวัลนักสื่อสารภูมิภาค ได้แก่ ผู้สื่อข่าวสิทธิมนุษยชน นายรังสี ลิมปิโชติกุล ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำจังหวัดราชบุรี
9. รางวัลเด็กและเยาวชนกับการเท่าทันสื่อสร้างสรรค์ ได้แก่ ทุ่งควายกินอวอร์ด กลุ่มรักษ์เขาชะเมา จังหวัดระยอง
โดย คุณวรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากปี พ.ศ. 2560 สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ดำเนินการจัดงาน “รวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย” ขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ซึ่งถือเป็นงานที่เปิดพื้นที่ให้เกิดการรวมพลังของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในการร่วมสร้างและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในสังคมไทย ทำให้เกิดการบูรณาการการขับเคลื่อน และการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยได้รับความร่วมมือ และความสนใจจากภาคีเครือข่าย ประชาชน และสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก ถือเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของผู้ทำงานในแวดวงสื่อในประเทศไทย โดยมีกิจกรรมสำคัญที่ตอบวัตถุประสงค์หลักของการจัดงาน ได้แก่ การมอบรางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่มุ่งหวังให้เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและการเข้าถึงสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และการประกาศเจตนารมณ์สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันขององค์กรภาคีที่จะมุ่งขับเคลื่อนงานพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ร่วมกันครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นการสานพลังภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์กองทุนฯ ที่สำคัญ
ทั้งนี้ จากความสำเร็จของงานรวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทยในปีที่แล้ว ประกอบกับความสำคัญของการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงมีการดำเนินการโครงการรวมพลังสื่อสร้างสรรค์และเชิดชูผู้ผลิตสื่อต่อเนื่องในปี 2561 อีก โดยในปีนี้จะมีกิจกรรมหลักในโครงการ 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมรวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย และกิจกรรมเชิดชูผู้ผลิตสื่อ โดยในกิจกรรมแรกเป็นการเปิดพื้นที่ใน 4 ภูมิภาคของประเทศ ให้ผู้ประกอบการด้านสื่อ องค์กรภาคีเครือข่าย และประชาชนทั่วไปได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรวมตัวกันเพื่อเป็นแนวร่วมในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่วนในกิจกรรมที่สอง จะเป็นการมอบรางวัลเชิดชูผลงาน/องค์กร/บุคคลผู้มีความโดดเด่นทางด้านการสร้าง/ส่งเสริม/พัฒนาสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้แก่สังคม วัตถุประสงค์หลักของทั้ง 2 กิจกรรมนี้คือเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และส่งเสริมให้มีการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
สำหรับภูมิภาคภาคกลางนั้น สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ในการจัดงานรวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย ประจำปี 2561 “พลังสื่อภาคกลาง พลังสร้างสรรค์สังคม” โดยมีการเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายที่ทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในพื้นที่ภาคกลางทั้ง 26 จังหวัดนั้น (ประกอบด้วย) อ่างทอง ชัยนาท,พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯ ลพบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว ตราด กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์) เข้ามามีส่วนร่วมในเวทีดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิต พัฒนา และเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และเชิดชูผลงาน/องค์กร/บุคคลที่เกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ซึ่งในการจัดงานในครั้งนี้ มีสื่อมวลชน และผู้ผลิตสื่อหน้าใหม่ รวมถึงผู้ที่สนใจและเกี่ยวข้องกับสื่อฯ ได้เข้าร่วมงานประมาณ 800 คน
คุณวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้กล่าวไว้ว่า “การจัดงานนี้ขึ้นมา สิ่งที่อยากเห็นก็คือ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่ได้เข้ามาเป็นเจ้าของและร่วมกันขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนร่วมกัน โดยกองทุนสื่อฯ วางบทบาทตนเองในแง่ที่จะไปเสริมพลังภาคีต่างๆ เป็นเหมือนคนประสาน คนที่จะคอยสนับสนุน คอยส่งเสริม เอื้อให้กับการทำงานของภาคีต่างๆ การที่ออกสู่ภูมิภาคครั้งนี้ เพราะเราต้องการเห็นภาคีในส่วนภูมิภาคที่มีการทำงานในเรื่องสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การทำงานในเรื่องการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่ออยู่บ้างแล้ว หรือทำอยู่แล้ว ได้มีโอกาสรวมพลังกันและขับเคลื่อนงานร่วมกัน ซึ่งอีกหนึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ คือการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และเชิดชูผู้ผลิตหรือพัฒนาสื่อที่อยู่ในส่วนภูมิภาค ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในภาคการศึกษา ภาควิชาการ หรือฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่มาร่วมเป็นคณะกรรมการ คณะทำงาน ก็สามารถที่จะคัดสรรและเลือกตัวอย่างสื่อดีๆ ในพื้นที่ ในท้องถิ่นได้ดี ผมคิดว่าจะเป็นกำลังใจสำหรับคนทำงาน ให้คนทำงานดีๆ คนสร้างสรรค์สื่อดีๆ ให้กับพื้นที่ ให้กับชุมชน ได้รับการพูดถึง ได้รับการยกย่องเชิดชู และเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้ทุกคนเข้ามาร่วมกันทำให้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น”
“ทุกวันนี้สื่อในบ้านเราเปลี่ยนแปลงไปมาก ประชาชนเข้าถึงสื่อได้มากขึ้น ทั่วถึงขึ้น ในขณะเดียวกันจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทุกคนสามารถเป็นสื่อเองได้ การกลั่นกรองอย่างที่สื่อหลักหรือสื่ออาชีพเคยทำ อย่างเช่น มีหัวหน้าข่าว มีบรรณาธิการ มีคนคอยกรอง คอยตรวจสอบข้อมูลก่อนเผยแพร่ มันก็อาจจะย่อหย่อนลงไปเพราะทุกคนสามารถที่จะโพสต์ข้อมูล สามารถที่จะส่งต่อข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง สิ่งสำคัญในวันนี้ ประชาชนเป็นทั้งผู้รับสาร และผู้ส่งสาร เพราะฉะนั้นควรที่จะมีความรู้เท่าทันสื่อ และมีความฉลาดในการใช้สื่อ เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง ต่อชุมชนมากขึ้น”
“สำหรับแผนในอนาคตของกองทุนสื่อที่จะผลักดันและขับเคลื่อนให้มีการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป ซึ่งเป็นภารกิจของกองทุนฯ ที่จะต้องทำเรื่องนี้ ซึ่งการทำงานของกองทุนสื่อฯ ส่วนใหญ่จะผ่านการให้ทุนสนับสนุนต่อผู้ผลิต ซึ่งจะเปิดให้ทุนปีละ 1-2 ครั้ง โดยคณะทำงานหรืออนุกรรมการที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ก็จะพิจารณาว่าโครงการ กิจกรรม หรือข้อเสนอใดที่น่าสนใจ ก่อให้เกิดประโยชน์ ตรงวัตถุประสงค์ ส่งผลกระทบต่อสังคมได้มากที่สุด ช่วยในการขับเคลื่อน ผลักดัน สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ ก็จะเข้าไปให้การสนับสนุน ในประเทศของเรามีคนที่ทำงานด้านนี้ รวมถึงผู้ที่สนใจอยากจะทำอยู่เป็นจำนวนมาก ปีนี้ก็มีผู้ผลิตสื่อร่วมขอทุนทั้งหมด 910 โครงการ คิดเป็นเงินประมาณ 5 พันล้านบาท แต่ในครั้งนี้เรามีวงเงินสนับสนุนอยู่ 240 ล้าน ซึ่งก็เกินมาประมาณ 20 เท่า”
“ท้ายนี้ผมขอถือโอกาสชื่นชม และแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่านด้วยครับ และสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ก็ไม่ต้องเสียใจนะครับ สิ่งที่พวกเราทุกคนช่วยกันทำอยู่นี้ก็คือสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อสังคมอยู่แล้ว สื่อมีความสำคัญในการที่จะช่วยส่งเสริมและจรรโลงสังคมให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น ก็ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ทุกๆ ท่าน และขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ และร่วมกันขับเคลื่อนสื่อให้ปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป”