รวมพลังคนรุ่นใหม่อ่านเปลี่ยนโลก เชื่อมสังคมพี่น้องหนอนหนังสือ
ช่วงที่โลกหมุนมาอยู่ ณ ยุคดิจิทัล สื่อทุกประเภทหันมาใช้ช่องทางของการสื่อสารผ่านสังคมไซเบอร์ หลายคนมักพกเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยมากขึ้น แต่สำหรับ “โยชิมิ โฮริอุจิ” หรือโยชิ สาวพิการทางสายตาชาวญี่ปุ่นวัย 32 ปี เธอยังศรัทธาการถือหนังสือที่เป็นอักษรนูน หรืออักษรเบรลล์เสมอ เพราะเธอยังศรัทธาในเสน่ห์ของการอ่านหนังสือมาโดยตลอดตั้งแต่ยังเด็ก
โยชิ เป็นที่รู้จักในประเทศไทย เพราะเธอคือผู้นำของโครงการคาราวานหนอนหนังสือ ซึ่งสามารถสื่อสารภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว และหลงรักประเทศไทยไม่ต่างจากบ้านเกิด โดยขณะนี้มีพื้นที่ทำงานหลักอยู่ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งดำเนินการมานานถึง 5 ปี เพื่อเดินหน้าทำกิจกรรมอาสาสมัครสอนเยาวชนให้รักการอ่านและการอ่านหนังสือเพื่อคนรุ่นหลัง คนด้อยโอกาส และยังมีกิจกรรมเสริมเรื่องการเขียนหนังสือเพื่อคนพิการด้วย โดยหนังสือของเธอมีตั้งแต่นิทานสอนใจทั่วไป นิทานบันเทิง และสาระอื่น ๆ อีกมากมาย
เธอย้อนประวัติสั้น ๆ ให้ฟังว่า เธอเกิดที่เกาะชิโกกุกะ ทางตอนใต้ประเทศญี่ปุ่น และสมัยเด็กเธอเป็นคนมีนิสัยช่างสังเกต และติดหนังสือ โดยมักจะขอร้องให้พ่อ แม่ ตา และยาย อ่านให้ฟังทุกวัน เพราะเธออ่านไม่ออก และเมื่อโตได้สักพักครอบครัวรู้สึกได้ถึงความผิดปกติทางสายตา จึงพาเธอไปโรงพยาบาล แพทย์ไม่ได้ชี้แจงอะไรมาก บอกแค่ว่าเธอมีความผิดปกติทางการมองเห็น และไม่มีทางรักษา เธอจึงกลายเป็นผู้พิการทางสายตามาจนถึงปัจจุบัน
หลักการใช้ชีวิตของสาวอาทิตย์อุทัยรายนี้ นอกจากจะไม่มองตัวเองแง่ลบแล้ว เธอยังมีความพยายามที่จะลดภาระของคนรอบข้าง และเลือกเดินตามความฝันเพื่อก้าวข้ามจุดด้อยของตัวเองด้วย ทั้งหมดต้องขอบคุณครอบครัวที่อบอุ่น และสอนให้เธอรู้จักมีน้ำใจ โดยชีวิตหลังผ่านวัยศึกษาในโรงเรียนคนพิการที่บ้านเกิดของตนเอง โยชิ เลือกที่จะเปิดโลกกว้างและสัมผัสอนาคตที่เธอเชื่อว่ายังมีแสงสว่างและปาฏิหาริย์รออยู่ในดวงตาอันมืดมิด เธอตั้งใจเรียนอักษรนูนแล้วเดินทางไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา ก่อนจะมาพักร้อนที่เมืองไทยแล้วได้พบกับดินสอสี ซึ่งทำกิจกรรมเพื่อสังคมอยู่แล้วในด้านการทำสื่อสร้างสรรค์ เธอจึงตัดสินใจทำโครงการระยะยาวที่ประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน และกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเป็นบางครั้งเพื่อทำกิจกรรมลักษณะเดียวกัน
วันนี้ โยชิ ปรากฏตัวอีกครั้งภายใต้ความร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อดำเนินโครงการ “Gen A พลังพลเมือง: อ่านเปลี่ยนเมือง ปีที่1” เพื่อสร้างอาสาสมัครคนรุ่นใหม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันวัฒนธรรมการอ่าน แบบรุ่นพี่สอนน้อง ซึ่งมีนักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครดังกล่าวนับร้อยราย โดยมีโยชิเป็นดังยุวทูตการอ่านร่วมกับคนสำคัญในวงการหนังสือ เช่น ทรงกลด บางยี่ขัน
ด้าน นัสรูลเลาะห์ อาแว หรือ นัส นักศึกษาหนุ่มจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า หลังได้รับฟังเรื่องราวของโยชิแล้ว ตนมีกำลังใจทำงานอาสามากขึ้น และรู้สึกทึ่งกับความสามารถของโยชิมาก หลังจากกลับจากค่ายอบรมของ สสส. ตั้งใจว่าจะจัดกิจกรรมเล็ก ๆ กับกลุ่มเพื่อน ๆ เพื่อสอนรุ่นน้องอ่านหนังสือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เพราะส่วนมากโรงเรียนประถมในปัตตานีจะมีภาษาท้องถิ่นเป็นยาวี ความเคยชินกับการใช้ภาษาเดิมอาจทำให้เด็กกลัวการเรียนภาษาไทยกลาง
ขณะที่เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยอย่าง แสงอรุณ นกแอนหมาน หรือ ลัยญ่า เพื่อนสาวในคณะเดียวกัน ระบุว่า เธอฝันอยากทำหนังสือสองภาษาและเป็นนักแปล ทั้งจากภาษายาวีเป็นภาษาไทย และไทยเป็นยาวี เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการใช้ภาษาสองแบบ และกระตุ้นการอ่านแก่น้อง ๆ เพื่อแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
คิดง่าย ๆ ว่าถ้าเราไม่อ่านหรือไม่สนใจจะฝึกอ่าน ฝึกเขียน เราก็จะเหมือนคนโดดเดี่ยว ไม่สมารถสื่อสารได้ แต่ยิ่งสังคมสมัยนี้ ใช้ออนไลน์กันมาก ภาษามีเพี้ยนบ้าง เราก็อยากจะเติมเต็มตรงนั้น เหมือนที่พี่โยชิเติมเต็มคุณค่าการอ่านให้คนอื่นโดยการผลิตสารอักษรเบรลล์แก่เด็กพิการทางสายตา และพี่โยชิก็กระตุ้นให้หน่วยงานอื่นผลิตหนังสือแบบเดียวกันเพื่อสนับสนุนนักอ่านที่บกพร่องทางสายตาด้วย เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก” ลัยญ่า แสดงเจตนารมณ์
ทั้งนี้สำหรับการเดินทางมาพบกันของเยาวชนอาสาสมัครในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ สสส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. กล่าวในพิธีลงนามความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ว่า โครงการดังกล่าว เป็นการจัดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ในกลุ่มเด็กระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น อายุ 6 – 14 ปี ในสังกัด สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะสามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ไม่น้อยกว่า 50,000 คน
“ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งสถาบันสถิติแห่งสหประชาชาติ (ยูไอเอส) ร่วมกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) สำรวจเมื่อปี 2014 พบว่า ทั่วโลกมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป ไม่รู้หนังสือสูงถึง 781 ล้านคน ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี กว่า 126 ล้านคน อ่านไม่ออกแม้แต่ประโยคสั้น ๆ ทั้งที่เกินครึ่งหนึ่งของเด็กเหล่านี้มีโอกาสได้เรียนหนังสือ สอดคล้องกับการศึกษาของ National Adult Literacy Survey ของสหรัฐอเมริกา พบว่า เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเลิกเรียนกลางคันสูงถึง 3 – 4 เท่าของเด็กทั่วไป ด้านข้อมูลจากระบบยุติธรรมของสหรัฐฯ พบว่า มากกว่า 60% ของคดีอาญาเกิดขึ้นจากผู้ที่ไม่รู้หนังสือ และคนที่ไม่รู้หนังสือมากกว่า 50% ยังมีโอกาสตกเป็นเหยื่อ หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ ที่บางกรณีก็นำไปสู่การทำให้ตนเองเป็นผู้ลงมือก่ออาชญากรรมเอง” ดร.สุปรีดา อธิบายความเป็นมา
ผู้จัดการ สสส. กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทยแม้จะมี พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 ที่ต้องเรียน 12 ปี แต่ สพฐ. ก็ยอมรับว่า ยังมีเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้กระจายอยู่ทั่วประเทศ สาเหตุมาจากครอบครัวยากจนทำให้เดินทางไปเรียนลำบาก เด็กไม่ได้พูดภาษาไทยกับที่บ้าน ปัญหาจากการเรียนรู้ในโรงเรียน และครูไม่ชำนาญในการสอน อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินโครงการศึกษาต้นแบบ ชุมชนอ่านสร้างสุข 2556 – 2558 พบว่า กลยุทธ์พี่สอนน้อง หรือเพื่อนสอนเพื่อนอ่านเขียน สามารถช่วยแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ปี 2558 รัฐบาลประกาศให้เป็นปีปลอดการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สสส. สกอ. และ สพฐ. จึงร่วมมือกันดำเนินโครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง เพื่อสนับสนุนพลังของนักศึกษาทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในลักษณะ พี่ชวนน้องอ่าน เขียน สร้างสุข ซึ่งจะเป็นการช่วยนักเรียนที่ประสบปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ให้มีพัฒนาการการอ่าน เขียนที่ดีขึ้น ตั้งเป้าดำเนินโครงการนี้ครอบคลุมทุกมหาวิทยาลัยใน 3 ปี