1

รมว.อนันตพร เปิดตัวรถบัส CBG ขส.มช. ยานยนต์พลังงานทางเลือก รับนโยบาย ก.พลังงาน

79964

รมว.อนันตพร เปิดตัวรถบัส CBG ขส.มช.
ยานยนต์พลังงานทางเลือก รับนโยบาย ก.พลังงาน
——————
(วันนี้ 18 ธันวาคม 2558) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดตัว อย่างเป็นทางการ “รถบัส CBG” จากมูลสัตว์ น้ำเสียอุตสาหกรรมอาหาร และขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นยานยนต์พลังงานทางเลือกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย มุ่งเน้นประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัย พัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในมหาวิทยาลัย ด้วยการใช้พลังงานสะอาด โดยมี คุณกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่า-ราชการจังหวัดเชียงใหม่ และศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยข้าราชการ คณะอาจารย์ และนักศึกษา ให้การต้อนรับ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแผนบูรณาการพลังงานระระยาว 21 ปี (Thailand Integrated Energy Blueprint) จำนวน 5 แผน เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการภาคพลังงานของประเทศให้มีความยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในแผนหลักก็คือแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP) ทั้งนี้ การเปิดให้บริการรถบัส CBG (ขส.มช.) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการศึกษาวิจัยโดยนำ มูลสัตว์ น้ำเสียอุตสาหกรรมอาหาร และขยะอินทรีย์ มาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนในรูปแบบก๊าซ CBG (Compressed Bio methane Gas) หรือ ก๊าซไบโอมีเทนอัด เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับภาคขนส่งมวลชน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการเดินทางโดยใช้บริการของขนส่งสาธารณะเป็นหลัก สามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศและลดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ
การบริหารจัดการขนส่งมวลชนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถือเป็นต้นแบบทางความคิด ในการสร้างแหล่งพลังปัญญาที่จะเป็นแนวคิดให้สังคมได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้เพื่อให้แนวทางในการบริหารพลังงานของประเทศได้อย่างยั่งยืนสอดรับกับแผน AEDP ของกระทรวงพลังงาน ที่ได้กำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพื่อการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ คิดเป็น 25% โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ที่สำคัญ อาทิ การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล และเอทานอล และส่งเสริมการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อลดต้นทุน ซึ่งในส่วนของเชื้อเพลิงชีวภาพนี้ได้มีเป้าหมายสนับสนุนการใช้ก๊าซไบโอมีเทนอัด หรือ ก๊าซ CBG ในยานพาหนะหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกลุ่มรถบรรทุก ที่ใช้งานในปริมาณ 4,800 ตันต่อวัน ให้ได้ภายในปี 2579

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความตระหนักถึงความสำคัญด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ด้วยหลักการบริหารจัดการที่ดีและพัฒนาสู่ความเป็นสากล ตามยุทธศาสตร์ Green and Clean; Sustainability University จึงเปิดให้บริการรถบัสต้นแบบจำนวน 2 คัน ที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด (Compressed Biomethane Gas หรือที่เรียกว่า CBG) ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ และคณะเกษตรศาสตร์ ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิง CBG สำหรับชุมชน จากของเสียประเภทต่างๆ เช่น มูลสัตว์ น้ำเสียอุตสาหกรรมอาหาร และขยะอินทรีย์ จึงเป็นการผลิตพลังงานสะอาด เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ช่วยในการแก้ไขปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ และการจราจรคับคั่งภายในมหาวิทยาลัย

การบริการรถบัสที่ใช้เชื้อเพลิง CBG จำนวน 2 คัน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 325 คนต่อวัน คิดเป็น 84,500 คนต่อปี โดยรถบัสสายที่ 1 วิ่งให้บริการเส้นทางจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ฝั่งสวนสักไปยังฝั่งสวนดอก ระยะทางไป-กลับ 10 กิโลเมตร และรถบัสสายที่ 2 วิ่งให้บริการเส้นทางจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ฝั่งสวนสักไปยังศูนย์เกษตรแม่เหียะ ระยะทางไป-กลับ 17.5 กิโลเมตร รวมระยะทาง 168 กิโลเมตรต่อวัน ในระยะเวลา 1 ปี จะมีนักศึกษาใช้บริการรถบัสแทนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมจำนวน 84,500 เที่ยวต่อปี ซึ่งจะช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้มากถึง 21,200 ลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าถึง 517,926 บาทต่อปี ซึ่งจะช่วยลดความต้องการการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยหันไปใช้พลังงานสะอาดทดแทน และที่สำคัญยังเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศในปริมาณ 216,751 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ( 216.8 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะทำให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ใช้พลังงานทดแทน พลังงานสีเขียว ที่สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทน จากงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้นแบบให้กับนักศึกษา บุคลากรในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และชุมชนท้องถิ่นในภูมิภาคนี้ ที่จะหันมาช่วยกันตระหนัก และให้ความสำคัญถึงประโยชน์ของการใช้พลังงานทดแทนในภาคขนส่งกันมากขึ้น เพื่อลดปัญหามลภาวะทางอากาศ และลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่นับวันจะหมดลงไปเรื่อย ๆ เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป.
—————————————————-