รมว.อนันตพร เปิดตัวรถบัส CBG ขส.มช. ยานยนต์พลังงานทางเลือก รับนโยบาย ก.พลังงาน

0
577
image_pdfimage_printPrint

79964

รมว.อนันตพร เปิดตัวรถบัส CBG ขส.มช.
ยานยนต์พลังงานทางเลือก รับนโยบาย ก.พลังงาน
——————
(วันนี้ 18 ธันวาคม 2558) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดตัว อย่างเป็นทางการ “รถบัส CBG” จากมูลสัตว์ น้ำเสียอุตสาหกรรมอาหาร และขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นยานยนต์พลังงานทางเลือกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย มุ่งเน้นประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัย พัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในมหาวิทยาลัย ด้วยการใช้พลังงานสะอาด โดยมี คุณกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่า-ราชการจังหวัดเชียงใหม่ และศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยข้าราชการ คณะอาจารย์ และนักศึกษา ให้การต้อนรับ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแผนบูรณาการพลังงานระระยาว 21 ปี (Thailand Integrated Energy Blueprint) จำนวน 5 แผน เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการภาคพลังงานของประเทศให้มีความยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในแผนหลักก็คือแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP) ทั้งนี้ การเปิดให้บริการรถบัส CBG (ขส.มช.) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการศึกษาวิจัยโดยนำ มูลสัตว์ น้ำเสียอุตสาหกรรมอาหาร และขยะอินทรีย์ มาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนในรูปแบบก๊าซ CBG (Compressed Bio methane Gas) หรือ ก๊าซไบโอมีเทนอัด เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับภาคขนส่งมวลชน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการเดินทางโดยใช้บริการของขนส่งสาธารณะเป็นหลัก สามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศและลดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ
การบริหารจัดการขนส่งมวลชนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถือเป็นต้นแบบทางความคิด ในการสร้างแหล่งพลังปัญญาที่จะเป็นแนวคิดให้สังคมได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้เพื่อให้แนวทางในการบริหารพลังงานของประเทศได้อย่างยั่งยืนสอดรับกับแผน AEDP ของกระทรวงพลังงาน ที่ได้กำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพื่อการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ คิดเป็น 25% โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ที่สำคัญ อาทิ การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล และเอทานอล และส่งเสริมการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อลดต้นทุน ซึ่งในส่วนของเชื้อเพลิงชีวภาพนี้ได้มีเป้าหมายสนับสนุนการใช้ก๊าซไบโอมีเทนอัด หรือ ก๊าซ CBG ในยานพาหนะหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกลุ่มรถบรรทุก ที่ใช้งานในปริมาณ 4,800 ตันต่อวัน ให้ได้ภายในปี 2579

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความตระหนักถึงความสำคัญด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ด้วยหลักการบริหารจัดการที่ดีและพัฒนาสู่ความเป็นสากล ตามยุทธศาสตร์ Green and Clean; Sustainability University จึงเปิดให้บริการรถบัสต้นแบบจำนวน 2 คัน ที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด (Compressed Biomethane Gas หรือที่เรียกว่า CBG) ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ และคณะเกษตรศาสตร์ ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิง CBG สำหรับชุมชน จากของเสียประเภทต่างๆ เช่น มูลสัตว์ น้ำเสียอุตสาหกรรมอาหาร และขยะอินทรีย์ จึงเป็นการผลิตพลังงานสะอาด เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ช่วยในการแก้ไขปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ และการจราจรคับคั่งภายในมหาวิทยาลัย

การบริการรถบัสที่ใช้เชื้อเพลิง CBG จำนวน 2 คัน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 325 คนต่อวัน คิดเป็น 84,500 คนต่อปี โดยรถบัสสายที่ 1 วิ่งให้บริการเส้นทางจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ฝั่งสวนสักไปยังฝั่งสวนดอก ระยะทางไป-กลับ 10 กิโลเมตร และรถบัสสายที่ 2 วิ่งให้บริการเส้นทางจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ฝั่งสวนสักไปยังศูนย์เกษตรแม่เหียะ ระยะทางไป-กลับ 17.5 กิโลเมตร รวมระยะทาง 168 กิโลเมตรต่อวัน ในระยะเวลา 1 ปี จะมีนักศึกษาใช้บริการรถบัสแทนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมจำนวน 84,500 เที่ยวต่อปี ซึ่งจะช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้มากถึง 21,200 ลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าถึง 517,926 บาทต่อปี ซึ่งจะช่วยลดความต้องการการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยหันไปใช้พลังงานสะอาดทดแทน และที่สำคัญยังเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศในปริมาณ 216,751 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ( 216.8 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะทำให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ใช้พลังงานทดแทน พลังงานสีเขียว ที่สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทน จากงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้นแบบให้กับนักศึกษา บุคลากรในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และชุมชนท้องถิ่นในภูมิภาคนี้ ที่จะหันมาช่วยกันตระหนัก และให้ความสำคัญถึงประโยชน์ของการใช้พลังงานทดแทนในภาคขนส่งกันมากขึ้น เพื่อลดปัญหามลภาวะทางอากาศ และลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่นับวันจะหมดลงไปเรื่อย ๆ เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป.
—————————————————-