รมว.ทส. นำทีม เก็บขยะชายหาด กระตุ้นจิตสำนึก ลดปัญหาขยะทะเล ชูหาดเจ้าสำราญ ตัวอย่างชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน

0
732
image_pdfimage_printPrint

วันนี้ (1 สิงหาคม 2562) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานเปิดงาน Good Day Say No Plastic Bag On The Beach “ดูแลโลกเพื่อให้โลก…ดูแลเราตลอดไป” ที่จัดขึ้นโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ณ หาดเจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนร่วมกันดูแลและรักษาชายหาดให้สะอาด ปราศจากขยะ ช่วยลดการสูญเสียสัตว์ทะเลหายาก ตลอดจน เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดใช้ถุงพลาสติกและโฟม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พกพาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมี นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายกเทศมนตรีตำบลหาดเจ้าสำราญ ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี ตลอดจนศิลปิน ดารานักแสดง นักท่องเที่ยว ร้านค้า และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ภายใต้แนวคิดหลัก “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” และด้วยความตระหนักถึงปัญหา “ขยะทะเล” ที่ส่งผลกระทบต่อมหาสมุทร ระบบนิเวศทางทะเล การประมง และการท่องเที่ยวของทั้งภูมิภาคอาเซียน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้นำผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล เข้าสู่ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่ผ่านมา และที่ประชุมได้มีมติรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะทะเลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นับเป็นหนึ่งในความคืบหน้าสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมว่าด้วยขยะพลาสติกในอาเซียน ทั้งนี้ ปัญหาขยะ ทะเลไทย เป็นหนึ่งในหลายปัญหาที่สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศเรายังขาดการจัดการขยะอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เมื่อประชาชนยังเห็นแก่ความสะดวกสบาย จึงสร้างขยะมากมายรอบตัว โดยเฉพาะการใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลาย ได้ยากและเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและเป็นขยะที่ถูกพบมากที่สุดในทะเลไทย กระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่งทะเล เกิดอันตรายต่อสัตว์ทะเลหายากที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการกินขยะพลาสติก ไม่ว่าจะเป็น เต่า พะยูน วาฬ โลมา ที่ต่างตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะวาฬบรูด้าที่มีอัตราการเกิดกับการตายเท่ากัน คือ อยู่ที่ ร้อยละ 4-5 ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยกว่าสัตว์ทะเลกลุ่มเสี่ยงชนิดอื่นๆ การปรากฏตัวของ วาฬบรูด้า ในน่านน้ำทะเลไทยนั้น จึงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศใต้ท้องทะเล
รมว.ทส. กล่าวต่อว่า หาดเจ้าสำราญ อยู่ในพื้นที่ตำบลหาดเจ้าสำราญ เป็นหาดทรายขาว มีระยะทางยาวประมาณ 7 กิโลเมตร บรรยากาศเงียบสงบ มีสัตว์ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งปูเสฉวน หอย แมงกะพรุน และโดยเฉพาะ อย่างยิ่งเป็นแหล่งอาศัยและหากินของวาฬบรูด้า ซึ่งมักพบเห็นในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม ของทุกปี ดังนั้น การที่เราทิ้งขยะสู่ท้องทะเลทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็เหมือนเรากำลังทำลายบ้านของวาฬบรูด้า รวมถึงสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ และจะส่งผลกระทบย้อนกลับมาสู่พวกเราทุกคน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหาดเจ้าสำราญจะมีการจัดการขยะอย่างเป็นระบบมีกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการรักษาชายหาดให้สะอาด ปราศจากขยะอยู่แล้ว พวกเราทุกคน ก็ยังคงต้องช่วยกันดูแลรักษาชายหาดแห่งนี้ต่อไป และกิจกรรมในวันนี้ เป็นกิจกรรมที่ทำให้พวกเราทุกคนได้แสดงถึงจุดยืนและศักยภาพในการช่วยเหลือโลกของเราได้เป็นอย่างดี
“เราทุกคนเป็นต้นเหตุทำให้เกิดขยะและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากขยะ การป้องกันและแก้ไขปัญหา จึงเป็นเรื่องของเราทุกคน ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการจัดการปัญหาขยะจากบนบก เพื่อป้องกันไม่ให้ลงสู่ทะเล เริ่มได้ตั้งแต่ครัวเรือน จัดการขยะที่ต้นทาง ใช้หลัก 3Rs คือ ใช้น้อย ลดปริมาณขยะให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด (Reduce) ใช้ซ้ำ หมุนเวียนใช้ใหม่ก่อนทิ้ง (Reuse) และ นำไปแปรรูป เพื่อมาใช้ใหม่ (Recycle) ที่สำคัญ ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง ซึ่งจะช่วยทำให้ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งมีความสมบูรณ์ขึ้น เมื่อปัญหาขยะทะเลลดลง ชายหาดปลอดขยะ ทรัพยากรทางทะเลอุดมสมบูรณ์ ย่อมส่งผลดีต่อพวกเรา ลูกหลานของเรา และโลกของเรา”
นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า ปัญหาขยะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ โดยในปี 2560 พบปริมาณขยะ มูลฝอยในจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด มากถึง 11.47 ล้านตัน กำจัดอย่างถูกต้อง 6.89 ล้านตัน นำไปใช้ประโยชน์ 3.02 ล้านตัน และกำจัดไม่ถูกต้อง 1.55 ล้านตัน ซึ่งบางส่วนไหลลงสู่ทะเล ประมาณ 50,000-60,000 ตันต่อปี ถุงพลาสติก เป็นขยะทะเลที่พบมากที่สุด ประเมินได้ว่า แต่ละปีจะมีปริมาณขยะพลาสติกในทะเลประมาณ 50,000 ตัน หรือ 750 ล้านชิ้น โดยภัยเงียบสำคัญจากถุงพลาสติกที่เป็นขยะในท้องทะเล คือ ไมโครพลาสติก หรือชิ้นส่วนพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ โดยพลาสติกจะแตกย่อยเป็นปิโตรเคมีและจะเล็กลงเรื่อยๆ จนมองไม่เห็น แต่ยังคงมีสารเคมีหลงเหลืออยู่ แพลงตอนจะกินไมโครพลาสติกเข้าไป ปลาเล็กกินแพลงตอน ปลาใหญ่จะกิน ปลาเล็ก แล้วมนุษย์ก็จะกินปลาใหญ่อีกที ท้ายที่สุด ไมโครพลาสติกจะเข้าไปสะสมในร่างกายของมนุษย์ ทำให้เกิดอันตราย
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า เทศบาลตำบล
หาดเจ้าสำราญ ถือเป็นตัวอย่างของชุมชนที่มีการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยได้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ การคัดแยกขยะ มูลฝอยที่แหล่งกำเนิด ทั้งการลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด (Reduce) การนำขยะกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) มีการกำหนดจุดคัดแยกขวดพลาสติก ขวดแก้ว และกระป๋องเครื่องดื่มบริเวณสวนภูมิทัศน์ ที่ชายหาด เกิดเป็นกิจกรรม “เปลี่ยนขยะ ให้เป็นบุญ” รับบริจาคขยะรีไซเคิลที่คัดแยกแล้ว มาจำหน่าย นำรายได้ ไปทำบุญกับวัดในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลหาดเจ้าสำราญ ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณขยะ จากเดิมที่ใช้รถบรรทุกจัดเก็บคันละ 2 รอบ เหลือเป็นคันละ 1 รอบต่อวัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ทางเทศบาลต้องรับภาระ จากปี 2560 เสียค่าใช้จ่าย 729,463 บาท มาในปี 2561 เสียค่าใช้จ่าย 704,611 บาท เป็นต้น
กิจกรรมการจัดเก็บขยะชายหาด Good Day Say No Plastic Bag On The Beach “ดูแลโลกเพื่อให้โลก…ดูแลเราตลอดไป” ในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเทศบาลตำบลหาดเจ้าสำราญ ตลอดจนศิลปิน ดารานักแสดง นักท่องเที่ยว ร้านค้า และประชาชนในพื้นที่ ที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน ร่วมกันเก็บขยะทะเล และการแปรอักษรเพื่อร่วมกันแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะช่วยกันดูแลรักษาชายหาดให้สะอาด ปราศจากขยะ ตลอดจนแสดงพลังความร่วมมือที่จะช่วยกันลดการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง เช่น ถุงพลาสติก แก้วน้ำพลาสติก เพื่อช่วยกันลดปัญหาขยะบกที่จะลงสู่ทะเลและกลายเป็นปัญหาขยะทะเลต่อไป อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าว