รมช พาณิชย์แถลงข่าวตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้าข้าวเสื่อมคุณภาพ พร้อมแจงมาตรการเข้มงวดการตรวจสอบคุณภาพข้าว
กระทรวงพาณิชย์ตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้าข้าวเสื่อมคุณภาพ พร้อมเดินหน้าเพิ่มการตรวจสอบข้าวอย่างเข้มงวดทันที เพื่อสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคข้าวทั้งในและต่างประเทศ
นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการค้าข้าวเสื่อมคุณภาพ (ศปขส.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบคุณภาพข้าว เข้าไปตรวจสอบคุณภาพข้าวสารยี่ห้อต่าง ๆ ก่อนออกจำหน่ายตลาดในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ โดยจะดำเนินการเป็นทีมเดียวกันทั้ง กรมการค้าภายใน, กรมการค้าข้าว, กรมวิชาการเกษตร, กรมวิยาศาสตร์บริการ, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อเรียกความมั่นใจผู้บริโภคข้าวกลับมา หลังจากมีกระแสข่าวเรื่องข้าวเสื่อมคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะเป็นผลดีต่อการระบายข้าวของรัฐบาล
ในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคในต่างประเทศ รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อราคาข้าวของรัฐบาล ซึ่งกำลังจะมีการเปิดประมูลข้าวเป็นการทั่วไป
รมช.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เริ่มดำเนินการตรวจสอบข้าวสารของผู้ผลิตข้าว โรงสี และโกดังข้าวทันที โดยในช่วงระยะนี้จะมีการตรวจสอบเข้มข้นทั้งการสุ่มตรวจ และการออกใบอนุญาต ซึ่งเบื้องต้นจะเน้นการไปสุ่มตรวจผู้ผลิตข้าวที่มียอดขายข้าวในปริมาณมากๆ เนื่องจากมีประชาชนบริโภคกันมาก รวมถึงผู้ประกอบการที่มีประวัติสุ่มเสี่ยงต่อการมีสารปนเปื้อน เป็นต้น
สำหรับแนวทางการปฏิบัติงานของ ศปขส. จะแบ่งการทำงานทั้งการป้องกัน และการปราบปราม โดยการป้องกัน ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบสินค้าก่อนวางขายในตลาด และเพิ่มความเข้มงวดในการออกใบอนุญาต รวมทั้งตรวจสอบในเชิงรุก โดยไม่ต้องรอให้มีการร้องเรียนเกิดขึ้นก่อน ซึ่งขณะนี้คณะทำงานกำลังจัดทำแผนในการออกตรวจแล้ว ส่วนการปราบปราม จะดำเนินการตามข้อร้องเรียนที่ส่งเข้ามายังศูนย์ และจะมีการจัดทำแผนเพื่อปฏิบัติงานร่วมกันเป็นทีมอีกด้วย
“การตรวจสอบนอกจากจะตรวจสอบสารเคมีตกค้าง และปนเปื้อนแล้ว จะตรวจสอบถึงสารอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นและเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค เช่น อะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเป็นสารพิษจากเชื้อราที่อาจเกิดขึ้นได้จากความอับชื้นในระหว่างเก็บข้าว โดยการตรวจสอบเป็นการทำงานเชิงรุก ไม่ต้องรอให้มีการร้องเรียนเกิดขึ้นก่อน แต่จะทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น โดยการเก็บตัวอย่างข้าวเพื่อตรวจสอบ ก็จะต้องเก็บตัวอย่างในปริมาณที่มากพอ ไม่ใช่เก็บตัวอย่างน้อยแล้วอ้างว่าตรวจสอบไม่เจอสารพิษตกค้าง หรือไม่ใช่จะอ้างว่าพบสารพิษตกค้าง เพราะตั้งใจพยายามตรวจจนกว่าจะหาให้เจอ ทุกขั้นตอนจะต้องทำตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้เท่านั้น” นายยรรยงกล่าว