“กรมการพัฒนาชุมชน” เดินหน้าขับเคลื่อน “ไทยนิยมยั่งยืน” พลิกโฉมนวัตกรรมโอทอป ยกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชน สร้างตลาดใหม่เชื่อมโยงท่องเที่ยวชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
วันที่ 12 ต.ค.61 นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดกิจกรรม รณรงค์การท่องเที่ยวชุมชน และ”สัมมนา Blogger พาทัวร์ท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนชุมชนท่องเที่ยว ภายใต้โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 60 คน ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน และสื่อมวลชนโดยมี นายอุทัย ทองเดช กล่าวรายงาน ณ ห้อง BB 501 ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ชั้น 2 โรงแรมเซนทารา ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ
นายนิสิต กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะวางแนวทางในการพัฒนา และดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้รัฐบาลใดก็ตาม เพื่อนำประเทศไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ประกอบไปด้วย 6 ด้าน โดยด้านที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม เป็นการสร้างความเสมอภาคลดความเหลื่อมล้ำทุกด้าน เป้าหมาย คือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม ตั้งอยู่บนหลักการและพื้นฐานสำคัญ การสร้างสังคมคุณภาพ สังคมในทุก ๆ ด้านไปพร้อมกัน โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง โดยการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมให้คนทุกกลุ่มในสังคม ในการแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน รัฐบาลได้มุ่งใช้หลัก “ประชารัฐ” โดยบูรณาการทุกภาคส่วน ทำงานร่วมกันภายใต้โครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 เพิ่มเติม เพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ดังนี้
1.จัดสรรผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ งบประมาณ 20,000,000,000 บาท (สองหมื่นล้านบาท)
2.จัดสรรผ่านกระทรวงการคลัง โครงการผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ งบประมาณ 21,078,000,000 บาท (สองหมื่นเจ็ดสิบแปดล้านบาท)
3.จัดสรรผ่านสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โครงการค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ งบประมาณ 20,000,000,000 บาท (สองหมื่นล้านบาท)
4.จัดสรรผ่านกรมการพัฒนาชุมชน โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 9,328,000,000 บาท (เก้าพันสามร้อยยี่สิบแปดล้านบาท)
โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จึงเป็นโครงการที่เป็นรูปธรรม ในการขับเคลื่อนภารกิจโครงการไทยนิยมยั่งยืนดังกล่าว โดยเป้าหมาย เป็นการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชน การสร้างตลาดใหม่ การเชื่อมโยง OTOP กับการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และคนมีความสุข “ผลสัมฤทธิ์ของโครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมีการกระจายรายได้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของกลุ่มเป้าหมายเกิดชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน”
โดยที่ โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เป็นการพลิกโฉม OTOP หลังจากดำเนินงานมา 16 ปี ถือเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านยุคการผลักดันสินค้า OTOP ออกจากชุมชน มาสู่การสร้างรายได้ตามความต้องการ (Demand Driven Local Economy) โดยการสร้างระบบให้เกิดการขายสินค้าอยู่ในชุมชน และเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในชุมชน ด้วยแนวคิดนี้ ชุมชนที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพจะสามารถสร้างรายได้ที่เกิดการกระจายตัว ทั่วถึงทั้งชุมชน มีรายได้ตลอดทั้งปี และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน และตั้งเป้าหมายความสำเร็จของโครงการไว้ว่า
1. ผลิตภัณฑ์ OTOP ในกลุ่ม D ได้รับการพัฒนาไม่น้อยกว่า 60,000 ผลิตภัณฑ์
2. รายได้เฉพาะการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10
3. ชุมชน/หมู่บ้านได้รับการพัฒนาด้านการจัดการท่องเที่ยวชุมชน จำนวน 3,273 ชุมชน/หมู่บ้าน กระจายใน 76 จังหวัด และผ่านการประเมินระดับ “มั่งมี ศรีสุข” ตามเกณฑ์และตัวชี้วัดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของกระทรวงมหาดไทย
ซึ่งในปี 2561 กรมการพัฒนาชุมชนได้วางการทำงานออกเป็น 3 ช่วงคือ
ช่วงที่ 1 : มิ.ย.61 จัดสัมมนาการขับเคลื่อนโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี, ประชาสัมพันธ์และตลาดออนไลน์เพื่อสร้างความรับรู้ใหม่ให้แก่ทุกภาคส่วน และจัดตั้งศูนย์การจัดการและประเมินผล OTOP นวัตวิถี
ช่วงที่ 2 : มิ.ย.-ส.ค.61 จัดสัมมนาย่อยเพื่อสร้างการรับรู้ใหม่ทุกภาคส่วน, ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP และปรับตัวสู่การพัฒนาในชุมชนท่องเที่ยว, ยกระดับมาตรฐาน OTOP รสไทยแท้, พัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP โดย “โรงเรียน OTOP”, ประกวดชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี, กระตุ้นกลุ่มเป้าหมายในการมาท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถี และติดตามการประเมินผล
ช่วงที่ 3 : ก.ย.61 ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้แก่ทุกภาคส่วน ทั้งความก้าวหน้าและความสำเร็จของโครงการ และจัดแสดงผลงานความสำเร็จและนำ Tourism Platform ซึ่งเป็น BIG Data เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
สำหรับการสัมมนาในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก อาจารย์ สักกฉัฐ ศิวะบวร มาเป็นผู้ถ่ายทอด แนวความคิดองค์ความรู้ และกระบวนการพัฒนาชุมชน ภายใต้โครงการขุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ให้กับ Blogger ด้านการท่องเที่ยว ชั้นนำของไทย กว่า 30 ท่าน พร้อมด้วยพี่น้องสื่อสารมวลชน ซึ่งพร้อมจะเป็น Ambassader ของชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ในการที่จะร่วมกัน กระตุ้น และรณรงค์ ให้เกิดการจัดการท่องเที่ยวในชุมชน ขนาดเล็ก ร่วมสนับสนุน ให้กำลังใจ ชุมชนท่องเที่ยวเกิดใหม่ กว่า 160 ชุมชน และที่สำคัญเพื่อให้พี่น้องประชาชน ทั่วทั้งประเทศได้เห็นความสำคัญ ของการท่องเที่ยวชุมชน นวัตวิถี เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ร่วมกัน ต่อไป