1

รณรงค์สร้างสังคมสวัสดิการ “วันคนไร้ที่พึ่ง” Homeless Day 2019

รณรงค์สร้างสังคมสวัสดิการ “วันคนไร้ที่พึ่ง” Homeless Day 2019
มูลนิธิอิสรชน ร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน จัดงานรณรงค์สร้างสังคมสวัสดิการ “วันคนไร้ที่พึ่ง” (Homeless Day 2019) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นวันเดียวกับงาน World Homeless Day ในต่างประเทศ ณ ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ พร้อมเปิดตัวหนังสั้น ภายใต้แนวคิด “มีที่พึ่ง พึ่งตนเอง” ลดการไร้ที่พึ่ง สังคมมีส่วนร่วม และมอบรถซาเล้ง อุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่คนไร้ที่พึ่งต้นแบบ เพื่อนำร่องสู่โครงการส่งเสริมอาชีพเก็บขยะหมุนเวียนแด่คนไร้ที่พึ่ง
มูลนิธิอิสรชน ทำงานเกี่ยวกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือคนไร้ที่พึ่ง มานานกว่า 20 ปี โดยทำงานร่วมกับภาครัฐ ในการลงพื้นที่ ให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมอาชีพ และส่งกลับผู้ใช้ชีวิตสาธารณะคืนสู่ครอบครัว ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานมูลนิธิอิสรชนให้ข้อมูล เกี่ยวกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือคนไร้ที่พึ่ง ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันพบว่า มีจำนวน 4,392 คน (ถึงเดือนกันยายน 2562) เพิ่มขึ้น 363 คน หรือ เพิ่มขึ้นราว 10 % จากปี 2561
“การแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนทำได้ยาก เพราะที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับงบประมาณเพียงประมาณ 10,000 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดราว 2.7 ล้านล้านบาท หรือ 0.37% เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลควรจัดเก็บภาษีมากกว่านี้ โดยเฉพาะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็ควรแบ่งเงินมาพัฒนาสังคมมากกว่านี้” ดร.โสภณกล่าว
การจัดระเบียบเมืองตามนโยบายของรัฐ แทนที่จะให้ความช่วยเหลือ กลับทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ หรือ ออกมาถนนให้เห็นชัดเจนขึ้น จากตัวเลข เขตพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดคือ หัวลำโพง จากการจัดระเบียบเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้บางส่วนเคลื่อนย้ายพื้นที่ไปอยู่ที่หัวลำโพง สถานีรถไฟบางซื่อ หรือกระจายตามซอกมุมต่างๆ เช่น ตามรถไฟฟ้าบีทีเอส ตามสวนสาธารณะกระจายมากขึ้น หรือไปตามต่างจังหวัดในปริมณฑล สมุทรสาคร อยุธยา ปทุมธานี เป็นต้น
นอกจากนี้ ตามชุมชน ท้องถิ่นในชนบท หรือแม้แต่เมือง จะเป็นผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งเพิ่มมากขึ้น อันมาจากหลากหลายสาเหตุ สังคมกลายเป็นสังคมเดี่ยว เป็นสังคมของผู้สูงวัย แต่นโยบายการดูแล หรือการเข้าถึงสวัสดิการ ยังอยู่ในรูปแบบของการสงเคราะห์เฉพาะหน้ามากกว่าการส่งเสริมให้สังคมมีส่วนร่วม จึงกลายเป็นสังคมตัวใครตัวมันเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ที่มีการนำเสนอข่าวแทบรายวัน เกี่ยวกับผู้คนถูกทอดทิ้ง หรือออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะมากขึ้น
คำถามที่ถามว่า เมื่อมีสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง เพียงพอหรือไม่ คำตอบคือ เพียงพอ ถ้าความชัดเจนของการทำงาน และคนทำงานเข้าใจงานในฝ่ายปฏิบัติงานเข้าใจ และทำตามหน้าที่ ปัญหาที่พบในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คือ ณ วันนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แบ่งชัดเจนตามกรมต่างๆ เช่น กรมผู้สูงอายุ กรมผู้พิการ เป็นต้น ประชาชนควรได้รับสวัสดิการที่สูงที่สุด แต่สุดท้ายปัญหาการประสานงาน การส่งต่อภายในยังไม่ชัดเจน บางฝ่ายอ้างว่า ไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง จึงเกิดปัญหาการส่งต่อ หรือการที่คนไร้ที่พึ่งไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่ตนเองควรได้รับ และอีกด้านคือ ปัญหาการไม่มีบัตรยืนยันสิทธิของตนเอง เช่น กรณีผู้ป่วยทางจิต โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ หรือล้น การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ปัญหาต่างๆล้วนแล้วแต่เป็นวัฎจักรที่เป็นวงจรชีวิต สุดท้ายก็ต้องออกมาเร่ร่อนข้างถนน
ส่วนผู้ป่วยข้างถนน ยังคงเป็นปัญหาเดิมที่พูดกันทุกปี จึงต้องขยายการดูแลเพิ่มมากขึ้น ทั้งในระบบของสาธารณะสุข และกระบวนการส่งต่อมายัง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือปัญหาที่ ณ วันนี้ก็ยังล้นอยู่ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ที่น่าจะเป็นสถานที่ดูแลเฉพาะคนไร้ที่พึ่งที่ไม่เจ็บป่วยทางจิต หรือป่วยเรื้อรัง แต่กลับมีคนป่วยทางจิตเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน อีกปัญหาที่มองว่า มีตัวเลขเพิ่มและไม่มีที่ท่าว่าจะลดลงคือ พนักงานขายบริการอิสระ สภาพเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้โรงงานลดจำนวนพนักงาน จึงมี พนักงานโรงงานบางคน หันมาขายบริการอิสระมากขึ้น เพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว รวมถึงสถานการณ์ผู้สูงวัยออกมาขายบริการทางเพศก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
จากการประเมินสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ พบว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือ มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปี ขึ้นไป) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในปี พ.ศ. 2561 โดยมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก และคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้จากการจัดอันดับของประเทศในเอเชีย ที่มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ ดังนั้น การมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ ที่กำลังจะมาถึง เพราะผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคต่างๆ
ข้อมูลภาคสนามของมูลนิธิอิสรชน (องค์กรสาธารณประโยชน์)
มูลนิธิอิสรชน ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ตั้งแต่ ปี 2548 มาจนถึงปัจจุบันการเก็บข้อมูลในนาม มูลนิธิอิสรชน พบว่า ร้อยละ 60 ของครอบครัวเร่ร่อนไร้บ้านยังไม่ได้รับการรับรองสถานภาพความเป็นพลเมืองจากรัฐ และเขาเหล่านี้ ก็จะไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐไปพร้อมกันด้วย ในขณะที่ร้อยละ 90 ของคนเร่ร่อนจะเป็นคนไร้การศึกษา หรือมีการศึกษาต่ำ ในขณะที่ร้อยละ 80 ของคนเร่ร่อนมีความต้องการเปลี่ยนตัวเองและพัฒนาอาชีพ สุดท้ายคือการยอมรับความเป็นตัวตน คืนสู่ครอบครัวและสังคม
หนังสั้น Homeless Day 2019 : https://www.youtube.com/watch?v=UEKwyX9GDSM&feature=youtu.be