ยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ เผยตลาดหุ่นยนต์ทำงานร่วมกับมนุษย์โตไม่หยุด เชื่อครองแชมป์ตลาดโลก
สิงคโปร์ (5 ตุลาคม 2559) : สมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ หรือ ไอเอฟอาร์ (International Federation of Robotics (IFR) เผยแพร่รายงานสถานการณ์ตลาดผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์โลกประจำปี 2559 โดยคาดการณ์ว่า หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ (collaborative robots หรือ cobots) ซึ่งมีขนาดเล็กกะทัดรัดและใช้งานง่าย จะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญในตลาดออโตเมชั่น รายงานระบุว่า ยอดขายหุ่นยนต์เพื่องานอุตสาหกรรมทั่วโลกต่อปี จะเติบโตอย่างน้อยเฉลี่ย 13 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2562 โดยหุ่นยนต์ประเภทที่ทำงานร่วมกับมนุษย์จะเป็นดาวเด่นเพราะสามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย ราบรื่น ปราศจากข้อจำกัดและยังช่วยเพิ่มกำลังการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์อีกด้วย
นายแดเนียล ฟริส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ของยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ ยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อมูลในรายงานดังกล่าว เนื่องจากบริษัทมีเป้าหมายที่จะพัฒนาหุ่นยนต์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการขจัดความยุ่งยากซับซ้อนในอดีตเมื่อต้องใช้งานหุ่นยนต์หรือการพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีราคาถูกลง”
“ปัจจุบัน หุ่นยนต์ทำงานร่วมกับมนุษย์ ของยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ ถูกนำไปใช้งานทั่วโลกแล้วกว่า 10,000 ตัว ซึ่งแสดงให้เห็นศักยภาพการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของหุ่นยนต์ประเภทนี้ที่กำลังเข้ามาพลิกโฉมเทคโนโลยีด้านออโตเมชั่น เราช่วยให้องค์กรขนาดเล็กและกลางเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันระดับโลกได้เนื่องจากหุ่นยนต์ของเรามีระยะเวลาการคืนทุนเร็วที่สุดในอุตสาหกรรม”
“สมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (ไอเอฟอาร์) คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมที่จะนำหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์มาใช้งานเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ซึ่งล้วนเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของภูมิภาคเอชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญของยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์”
นายฟริส กล่าวว่า “ปัจจุบัน หุ่นยนต์ของเราถูกนำไปใช้งานในสายการผลิตยานยนต์เพิ่มมากขึ้น โดยทำงานควบคู่กับพนักงานในโรงงาน และช่วยผ่อนแรงในสายงานหยิบจับสิ่งของซ้ำๆ ที่ก่อให้เกิดความเมื่อยล้าและก่อปัญหากับสรีระ เรามีตัวอย่างกรณีศึกษาว่าหุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์สามารถเพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการฉีดขึ้นรูปถึง 4 เท่า ได้อย่างไร และหุ่นยนต์แขนกลตั้งโต๊ะรุ่น UR3 สามารถใช้ในการประกอบชิ้นส่วนเล็กๆ ที่มีน้ำหนักเบา อาทิ การหยิบจับแผงวงจร ได้อย่างไร”
สมาพันธ์ ไอเอฟอาร์ ยังคาดการณ์ว่า ตลาดหุ่นยนต์จะเติบโตต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย โดยรายงานล่าสุดระบุว่า ปริมาณซัพพลายของหุ่นยนต์เติบโตขึ้นถึง 18 เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้ ในขณะที่ มีการคาดการณ์ว่า การติดตั้งหุ่นยนต์จะเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ โดยประเทศจีนจะเป็นตลาดหลักที่ผลักดันให้ตลาดหุ่นยนต์ของโลกเติบโต และคาดว่า จะมีปริมาณการติดตั้งหุ่นยนต์เพื่อใช้งานในประเทศจีนเป็นสัดส่วนถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2562
“เอเชียเป็นตลาดสำคัญของเรา เราเปิดบริษัทสาขาที่เซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2556 และแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายในภูมิภาคต่างๆ ที่ลูกค้าใช้งานหุ่นยนต์ของเราอยู่ เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์และทดแทนการใช้แรงงานคนในการทำงานที่ต้องทำซ้ำๆ ซึ่งเป็นปัญหาด้านแรงงานประเภทหนึ่งที่หลายๆโรงงานประสบอยู่”
นายฟริส ยังกล่าวว่า ความต้องการสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคทั่วโลกผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมและมีคุณภาพสูงให้ได้อย่างรวดเร็ว สม่ำเสมอและยั่งยืน
“เมื่อไม่นานมานี้ ยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ ได้เปิดตัวโชว์รูมออนไลน์เพื่อนำเสนออุปกรณ์ที่ใช้ต่อเข้ากับข้อมือหุ่นยนต์สำหรับงานประเภทต่างๆ รวมทั้ง ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์ต่อพ่วงและอุปกรณ์เสริมจากกลุ่มนักพัฒนาจากภายนอกซึ่งพัฒนาอุปกรณ์ให้เข้ากับระบบนิเวศของยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ และทำงานเข้ากันได้อย่างดีเยี่ยมกับหุ่นยนต์ของเรา เพื่อตอบสนองดีมานด์ที่สูงขึ้นในโซลูชั่นหุ่นยนต์ทำงานร่วมกับมนุษย์ โชว์รูมออนไลน์นี้ช่วยให้ นักวางระบบ ผู้แทนจำหน่ายและลูกค้าของบริษัทมีความเข้าใจในการทำงานของหุ่นยนต์เป็นอย่างดีและมีความพร้อมในการใช้งานหุ่นยนต์ได้ทันทีที่ติดตั้งหุ่นยนต์ตัวต่อไปแล้วเสร็จ”นายฟริส กล่าว
นอกจากนี้ ศูนย์การเรียนรู้ของยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ (UR Academy) แห่งใหม่ ยังช่วยส่งเสริมตลาดของ ยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ โดยศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวเปิดสอนผ่านระบบอี-เลิร์นนิ่งเกี่ยวกับโปรแกรมพื้นฐานของหุ่นยนต์ ได้แก่ การต่ออุปกรณ์เข้ากับข้อมือหุ่นยนต์ การเชื่อมต่อระบบ I/Os เพื่อสื่อสารกับอุปกรณ์ภายนอกและการติดตั้งโซนเพื่อความปลอดภัย ซึ่งบริษัทฯ คาดหวังว่าการริเริ่มศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนยุค อินดัสตรี 4.0
นายฟริส กล่าวว่า “โมดูลการสอนที่ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริงและเป็นการเรียนแบบอินเตอร์แอคทีฟ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีไลเซนส์เพื่อสมัครเรียนนั้น นับเป็นประวัติการณ์ใหม่ ศูนย์การเรียนรู้ของเราเป็นเครื่องมือที่สำคัญซึ่งช่วยให้เราส่งผ่านความรู้เพื่อให้ตลาดได้รับรู้ว่าเทคโนโลยีสามารถรองรับความท้าทายทางธุรกิจได้อย่างไร ในขณะที่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้กำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตของโลก ดังนั้นการให้ความรู้กับผู้ใช้งานหุ่นยนต์และโปรแกรมเมอร์เสียแต่ตอนนี้จะช่วยเชื่อมโยงช่องว่างต่างๆ และถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง”
###
เกี่ยวกับยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์
ยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ ก่อตั้งขึ้นจากการค้นคว้าและวิจัยยาวนานหลายปี ณ ศูนย์การออกแบบหุ่นยนต์เมืองโอเดนเซ ประเทศเดนมาร์ก บริษัทฯ ก่อตั้งในปี 2548 โดยนาย เอสเบ้น ออสเตอการ์ด ซึ่งต้องการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้สามารถเข้าถึงได้ทุกระดับ ด้วยการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ใช้งานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีขนาดเล็ก ใช้งานง่าย ราคาสมเหตุสมผล มีความยืดหยุ่น ปลอดภัยและทำงานเข้ากับกระบวนการผลิตของโรงงาน
ผลิตภัณฑ์ของยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ ประกอบด้วย แขนกลหุ่นยนต์ทำงานร่วมกับมนุษย์รุ่น UR3, UR5 และ UR10 ซึ่ง ตั้งชื่อตามกำลังการยกวัตถุซึ่งมีหน่วยเป็นกิโล นับตั้งแต่หุ่นยนต์แขนกล UR เปิดตัวครั้งแรกในปี 2551 บริษัทฯ เติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยยอดจำหน่ายหุ่นยนต์กว่า 50 ประเทศ ทั่วโลก โดยระยะเวลาที่หุ่นยนต์ช่วยให้ลูกค้าคืนทุนเฉลี่ย (ภายใน 12 เดือน) นับว่ารวดเร็วที่สุดในอุตสาหกรรม บริษัทฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท เทราดีน จำกัด ในบอสตัน มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองโอเดนเซและ มีบริษัทในเครือและสำนักงานสาขาในสหรัฐอเมริกา สเปน เยอรมนี สิงคโปร์ สาธารณรัฐเชค อินเดีย และจีน ยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ มีพนักงานกว่า 300 คน ทั่วโลก
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม เยี่ยมชมได้ที่ www.universal-robots.com และบล็อกของบริษัท https://www.universal-robots.com/blog/ ส่วนรายงานสถานการณ์ตลาดหุ่นยนต์โลกฉบับเต็ม สามารถเข้าดูได้ที่เว็บไซต์ www.ifr.org