ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านสิ่งแวดล้อมทำเพื่อประชาชนจริงแล้วหรือ!!!

0
453
image_pdfimage_printPrint

23 พ.ค. 2560 / ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ คณะทำงานปราบการทำทุจริต พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมว่าทำเพื่อประชาชนได้จริงหรือไม่

ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ดังนี้
(1) การจัดระบบอนุรักษ์ ฟื้นฟูและป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาตินั้นควรมีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัดและใช้กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้มีอำนาจสามารถใช้ ม.44 ก็ควรใช้กับสิ่งที่ควรทำ เช่น การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษด้านอากาศ มลพิษจากฝุ่นควัน มลพิษทางน้ำ อย่างจริงจัง ทั้งเรื่องการกำหนดมาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

(2) การวางระบบบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพทั้ง 25 ลุ่มน้ำ เน้นการปรับระบบการบริหารจัดการอุทกภัยอย่างบูรณาการ หากทางรัฐบาลชุดนี้มีความจริงใจ ก็ควรเริ่มโครงการดีๆ ในสมัยรัฐบาลยุคนี้ เพราะนอกเหนือจากการขยายลุ่มน้ำแล้วเรายังต้องมีการขุดลอกคูคลอง ทำแก้มลิง เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและสำรองน้ำใช้เวลาขาดแคลนน้ำ และควรให้มืออาชีพเป็นผู้ทำ ประชาชนถึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งในกรณีการว่าจ้างองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ขุดลอกคูคลองเกือบทั้งประเทศของรัฐบาลชุดนี้ ทำสัญญาจำนวน 424 สัญญา ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตถึงศักยภาพของหน่วยงานดังกล่าวว่ามีเครื่องมือ บุคลากร และความเชียวชาญจริงหรือไม่

(3) การพัฒนาและใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รัฐบาลชุดนี้ควรสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดทดแทน เช่น พลังงานเแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานความร้อนใต้พิภพ และเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อเป็นการนำร่องสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติตามที่ได้กำหนด มากกว่าการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งเป็นพลังงานที่สกปรกที่สุด มีต้นทุนที่สูงมากจนไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน ซึ่งขัดแย้งกับเหตุผลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่บอกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำ เพราะถ้าจะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดนั้น ต้นทุนจะสูงขึ้นมาก จนราคาจะไม่ถูกอีกต่อไป

(4) การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รัฐบาลควรให้การสนับสนุนโรงงานที่ไม่ปล่อยสารพิษ หรือโรงงานที่ส่งเสริมเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น การลดหย่อนภาษี จัดหาดอกเบี้ยเงินกู้ราคาถูกให้กับโรงงานที่ต้องการซื้อวัสดุ อุปกรณ์ เพื่อการช่วยลดมลพิษ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบสารพิษในอุตสาหกรรมตามมาตรฐานสากลขององค์การสหประชาชาติ และควรเริ่มการบังคับใช้กฎหมายกับโรงงานที่กระทำความผิดอย่างจริงจัง และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดให้ถึงที่สุด

(5) การร่วมลดปัญหาโลกร้อนและปรับตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐควรใช้นโยบาย 3 R: Reduce, Reuse และRecycleอย่างจริงจัง โดยภาครัฐควรสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชน เช่นการลดภาษีให้กับร้านค้าที่ร่วมโครงการ และร้านค้าสามารถลดราคาสินค้าให้กับผู้บริโภคที่นำถุงผ้ามาใช้แทนถุงพลาสติก

(6) การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และนโยบายการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม กฟผ. ประกาศยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ในรัฐบาลชุดนี้อาจขัดกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แทนที่ภาครัฐจะสนับสนุนให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าจากพลังทดแทนเพื่อลดมลภาวะ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในยุคเศรษฐกิจไม่คล่องตัวนั้น แต่กับตัดสินใจทำการตรงกันข้าม

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ฯ เชื่อว่าหากรัฐบาลมีความจริงใจกับประชาชน โดยการเริ่มโครงการที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน โดยมีบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม เราก็สามารถช่วยกันพัฒนายุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนถึงจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง